การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education) แก้จุดเจ็บ เย็บจุดขาด
“อยากให้การศึกษาเป็นแบบไหน ให้ชุมชนเป็นผู้ออกแบบ”

การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education) แก้จุดเจ็บ เย็บจุดขาด

การศึกษาเชิงพื้นที่เป็นกลไกกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดมีอำนาจในการออกแบบวิธีการจัดการศึกษาให้เหมาะกับโจทย์เฉพาะของพื้นที่นั้น ๆ  เพื่อซ่อมจุดแย่ แก้จุดบอด รวมถึงต่อยอดจุดเด่นระดับพื้นที่ให้ทันเวลา ทันต่อสถานการณ์

ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวว่า หากมองเรื่องโจทย์ความสำเร็จของการทำงานเชิงพื้นที่ของแต่ละจังหวัดจุดเน้นสำคัญคือ ต้องหาจุดเริ่มต้นให้ตรงเป้า  เพราะ ‘จุด (Dot)’ จะเป็นตัวเชื่อมให้แต่ละส่วนเกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันภายในจังหวัด

‘จุด (Dot)’ ในที่นี้คือ ‘โจทย์’ ของแต่ละจังหวัดซึ่งมีทุกข์และทุนแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น การทำโครงการเรื่อง Learning City เรื่องแรงงานนอกระบบ เรื่องการพัฒนาครู พัฒนาโรงเรียน ฯลฯ ซึ่งแต่ละโครงการจะมีโจทย์การทำงานที่แตกต่างกันทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมาย กลไกการทำงาน หรือเครื่องมือในการทำงาน

คำถามสำคัญคือ การกระจายอำนาจทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่นั้นควรมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันในแต่ละบริบทอย่างไร จ.ขอนแก่น ทำอย่างไรในการเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่พบเจอกับปัญหาความยากจนและที่อยู่อาศัยไม่ปลอดภัย จ.พะเยา มีแนวทางอย่างไรในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปี

ชวนทุกคนไปดูกรณีศึกษาและแนวทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ก่อนนำกลไกไปประยุกต์ใช้ในจังหวัดของตนเอง

ที่มา : การตั้งโจทย์ ค้นหา ‘จุด (Dot)’ เชื่อมต่อ หลอมรวม เชื่อมร้อย…หนึ่งในปัจจัยการทำงานบูรณาการเชิงพื้นที่ EP.1
รับชมเสวนาย้อนหลัง : คลิก

การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education ABE) คืออะไร

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวว่า การทำงาน Area-Based Education หรือ ABE นั้นคณะทำงานต้องเห็นภาพใหญ่ของระบบ และสามารถประเมินความต้องการกำลังคนในอนาคต กลไกที่นำไปถึงความสำเร็จได้คือการหาวิธีให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพทั้งการศึกษากระแสหลัก และการศึกษาทางเลือก มองความสำเร็จว่าผู้ที่ผ่านกระบวนการต้องยืนหยัดด้วยตนเองได้ในระยะยาว

“การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จะเอื้อให้เกิดการทำงานที่หลากหลาย เป็นระบบจากล่างขึ้นบน มีเส้นทางใหม่ ๆ ของการเรียนรู้ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ มีการสื่อสารทำงานกับผู้ปกครอง ซึ่งท้องถิ่นคือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ครู กศน. จะมีความใกล้ชิดและเป็นสะพานเชื่อมไปถึงคนกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ให้เห็นความสำคัญและลงมือช่วยกัน”

การศึกษาเชิงพื้นที่นั้นจะเป็นโมเดลการทำงานที่จะทำให้หลุดพ้นจากการทำงานแบบเดิม ซึ่งท้องถิ่นต้องพึ่งพิงนโยบายจากส่วนกลาง หรือบนลงล่าง มาสู่การส่งต่องานกันในระนาบล่างสู่ล่าง เป็นต้นทางของนวัตกรรมด้านการศึกษาใหม่ ๆ ที่เน้นการดูแลการศึกษาและพัฒนาตนเองตามช่วงชีวิต

ที่มา : ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ ท่ามกลางการกระจายอำนาจที่มีแต่ข้ออ้างและการยื้อแย่ง
รับชมเสวนาย้อนหลัง : คลิก

ทำไมต้อง ABE ?

เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ ผู้คน ครอบครัว คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ที่มีความแตกต่างย่อมส่งผลถึงปัญหา อุปสรรคไม่เหมือนกัน ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ จึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยสูตรสำเร็จเดียว

กลไกของการศึกษาเชิงพื้นที่จึงเข้ามามีบทบาทในการกระจายอำนาจให้กับผู้คนในพื้นที่ในการออกแบบการจัดการศึกษาภายในท้องถิ่นของตนเอง เนื่องจากบุคลากรทางการศึกษาและคนในชุมชนนั้น ๆ จะเข้าใจถึงสภาพปัญหามากกว่าผู้คนที่ทำงานอยู่ในส่วนกลาง และยังช่วยสร้างความเป็น ‘เจ้าของเรื่อง’ และ ‘เจ้าของปัญหา’ ที่กระตุ้นให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ผู้มีส่วนในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่นั้นครอบคลุมไปถึง ภาคปกครองท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ที่เข้ามาบูรณาการองค์ความรู้และร่วมมือกันช่วยเหลือปัญหาทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคม

รับชมเสวนาย้อนหลัง : คลิก

7 Game Changers ที่นำไปสู่ ‘ความเสมอภาคทางการศึกษา’

สำหรับความหมายของพื้นที่นั้นไม่มีรูปแบบตายตัว คำว่าพื้นที่อาจจะเป็นตำบล อำเภอ จังหวัดก็ได้ หรือถ้ามองลึกลงไปจริง ๆ คำว่าพื้นที่อาจจะไม่ใช่ตำบลหรือจังหวัด แต่เป็นพื้นที่ที่มีความเหมือนกันเป็นตัวตั้ง

เช่น การทำประมงที่มีลักษณะเหมือน ๆ กันของชุมชนประมง ความหมายกว้าง ๆ ของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จึงให้คนอยู่หน้างานตัดสินใจว่าจะจัดอย่างไรให้เหมาะกับความต้องการของพื้นที่

โดยมีองค์ประกอบทั้งหมด 7 ข้อดังนี้

  1. การพัฒนากลไกความร่วมมือระดับพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
  2. จัดทำระบข้อมูลที่แม่นยำและสามารถเข้าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนได้
  3. การร่วมมือกันของเอกชนและภาครัฐในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลและทรัพยากร
  4. ใช้นวัตกรรมทางการเงินและการคลังในการบริหารงบประมาณในการลดความเหลื่อมล้ำ
  5. การจัดการศึกษาตามบริบทพื้นที่เพื่อกระจายอำนาจและสร้างความเป็นเจ้าของร่วม
  6. มีระบบการคุ้มครองทางสังคม
  7. มีความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) ทางการศึกษา

‘ปฏิรูประบบกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังระดับพื้นที่’ จึงมีความสำคัญต่อ ‘การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืน’

รับชมเสวนาย้อนหลัง : คลิก

กลไก 3 ขาที่นำไปสู่การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่

หน่วยงานสนับสนุนภายนอกพื้นที่

สนับสนุนทุน วิธีการทำงาน ความรู้ และกระบวนการในการทำงาน ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงรูปธรรม

ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สสส. หรือ NIA

หน่วยงานภาครัฐ

สนับสนุนโดยการปรับมาตรการในการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ และสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้เกิดแผนงานที่เอื้อต่อการทำงานของบุคลากรที่อยู่หน้างานของตนเอง

ได้แก่ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)

กลไกประชาสังคม

เป็นกลไกภายในของผู้ที่สนใจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ลุกขึ้นมาเป็นคณะทำงานหลักที่สรา้งความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ เพื่อกระจายทรัพยากรการทำงานทั้งจากหน่วยงานภายนอก และหน่วยงานภาครัฐไปสู่การทำงานที่ตอบโจทย์ปัญหาของคนนพื้นที่ และผลักดันให้เกิดการทำงานที่มีความต่อเนื่องในระยะยาว 

ได้แก่ คนและคณะบุคคลที่ขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่

รับชมเสวนาย้อนหลัง : คลิก

จ.ขอนแก่น กับนโยบาย ‘เมืองไม่ทิ้งเด็ก’

บูรณาการ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ ศึกษาธิการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะท้อนเบื้องหลังความสำเร็จในการแก้ปัญหาจากต้นทุนภายในและการทำงานที่ชัดเจน 

มีการติดตามปัญหาของเด็กเป็นรายคน และมีชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีกลุ่มจิตอาสาทำงานประสานส่งต่อกลุ่มเป้าหมายข้ามหน่วยงานตั้งแต่พื้นที่จนถึงจังหวัด เน้นความยืดหยุ่น รวดเร็ว และไม่เป็นทางการ มีเป้าหมายคือแก้ปัญหาให้เด็กเร็วที่สุด

รับชมเสวนาย้อนหลัง : คลิก

จ.พะเยา กับนโยบาย Leaning City เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับทุกคน

โดยมุ่งสานต่อภารกิจ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)’ โดยองค์การยูเนสโก พัฒนาการเรียนรู้ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม โดยมุ่งลดการเข้าไม่ถึงการเรียนรู้ สวัสดิการ และการบริการสุขภาพ ผ่านการแลกเปลี่ยนทุนทรัพยากรและการทำงานระหว่างหน่วยงาน อาทิ อบจ. กศน. ศูนย์การศึกษาพิเศษ ร่วมสร้างแหล่งเรียนรู้ 26 แห่งในอำเภอต่าง ๆ

ซึ่งผู้เรียนสามารถเก็บหน่วยกิต รับประกาศนียบัตร และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพะเยาได้ นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมเพื่อสังคม นำภาคเอกชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มาร่วมคัดกรองเด็กจากศูนย์การศึกษาพิเศษ นำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ฝึกทักษะอาชีพ และรับเข้าทำงานเป็นลำดับ

รับชมเสวนาย้อนหลัง : คลิก

‘กระจายอำนาจ’ เชื่อมโยงคนทั้งจังหวัดร่วมสร้างความเสมอภาค

ในปี 2565  ประเทศไทยมีเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) ที่ได้รับการสนับสนุนและเป็นภาคีความร่วมมือกับ กสศ.  ทั้งหมด 12 แห่ง ได้แก่ พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น สุรินทร์ สมุทรสงคราม ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา และปัตตานี

ความพยายามที่จะขับเคลื่อนงานไปสู่ความสำเร็จในการเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดการความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้นแบบ จะทำให้สังคมได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงร่วมกันอีกประการว่า คนตัวเล็ก ๆ ทุกคนในสังคม ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเด็กฟื้นคืนกลับมาได้ โดยนอกจาก ‘ผู้ดูแลรายกรณี’ แต่ละจังหวัดยังแสดงให้เห็นถึงวิธีออกแบบการ ‘กระจายอำนาจ’ อันเป็นการดึงเอาจุดเด่นทางบริบทสังคมของแต่ละพื้นที่ มาใช้แก้ปัญหา และเป็นวัตถุดิบในการวางแผนทำงานด้านการศึกษาในระยะยาว

รับชมเสวนาย้อนหลัง : คลิก