การตั้งโจทย์ ค้นหา ‘จุด (Dot)’ เชื่อมต่อ หลอมรวม เชื่อมร้อย…หนึ่งในปัจจัยการทำงานบูรณาการเชิงพื้นที่ EP.1
บทความพิเศษจากมุมมองต่อการขับเคลื่อนงานจาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ.

การตั้งโจทย์ ค้นหา ‘จุด (Dot)’ เชื่อมต่อ หลอมรวม เชื่อมร้อย…หนึ่งในปัจจัยการทำงานบูรณาการเชิงพื้นที่ EP.1

หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการนำไปสู่ ‘สัมฤทธิ์ผล’ ในการทำงานระดับพื้นที่ คือการ ‘พัฒนาคนในพื้นที่ให้สามารถพึ่งพาตนเองและสามารถขับเคลื่อนงานจากต้นทุนที่มีในระดับพื้นที่ได้’ ขณะเดียวกันการดำเนินงานระดับพื้นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ ในหลายมิติ ทั้งมิติการศึกษา มิติเศรษฐกิจ ฯลฯ ทำให้เกิดโจทย์การทำงานที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีมุมมองจุดเน้นแตกต่างกันออกไป คำถามคือ ทำอย่างไรเราจึงจะเชื่อมโยงแต่ละจุดเน้นให้เชื่อมต่อหรือเกิดการบูรณาการทำงานร่วมในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่

ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวว่า หากมองเรื่องโจทย์ความสำเร็จของการทำงานเชิงพื้นที่ของแต่ละจังหวัดจุดเน้นสำคัญคือ ต้องหาจุดเริ่มต้นให้ตรงเป้า  เพราะ ‘จุด (Dot)’ จะเป็นตัวเชื่อมให้แต่ละส่วนเกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันภายในจังหวัด

‘จุด (Dot)’ ในที่นี้คือ ‘โจทย์’ ของแต่ละจังหวัดซึ่งมีทุกข์และทุนแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น การทำโครงการเรื่อง Learning City เรื่องแรงงานนอกระบบ เรื่องการพัฒนาครู พัฒนาโรงเรียน ฯลฯ ซึ่งแต่ละโครงการจะมีโจทย์การทำงานที่แตกต่างกันทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมาย กลไกการทำงาน หรือเครื่องมือในการทำงาน

นอกจากนี้ กระบวนการทำงานแต่ละจุด หรือแต่ละหน่วยของการทำงาน จะต้องดำเนินการใน 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. ต้องมีการชี้แจงเป้าประสงค์ (Clarify Dot) ของการทำงานภายในจังหวัดให้ชัดเจน 2. ต้องวินิจฉัยแยกแยะ (Identify Dot) รวมถึงสามารถชี้ชัดในเรื่องการนำกลไกหรือเครื่องมือมาใช้งานได้อย่างถูกจังหวะและโอกาส 3. ต้องหาวิธีการเชื่อมร้อย (Connect Dot) กลยุทธ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ผ่านปัจจัยสำคัญ เช่น กลุ่มเป้าหมายของการทำงาน นักขับเคลื่อน และแผนยุทธศาสตร์จังหวัดที่ต้องได้รับการหนุนเสริม  โดยองค์ประกอบเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างการรับรู้และการจัดการภาพรวมของการทำโครงการในปีถัดไปได้อย่างถูกวิธี ซึ่งปัจจัยสำคัญในการหนุนเสริมการทำงานคือ การที่นักขับเคลื่อนในแต่ละจังหวัดต้องมองภาพรวมของงานให้ได้ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีมิติอะไรบ้าง และควรสนับสนุนข้อมูลอะไรแก่หน่วยงานในสังกัด เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ ของการทำงานในแต่ละหน่วยให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์วุฒิสาร ยังระบุอีกว่า เมื่อแต่ละจังหวัดมีแนวทางหรือกลไกการทำงานด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันแล้ว จะเกิดการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ทำให้เกิดความเข้มแข็งจากภายใน โดยกระบวนการเหล่านี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ของคนในชุมชนหรือผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการสร้างโค้ช สร้างทีม หรือหน่วยจัดการองค์ความรู้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

(อ่านต่อ EP. 2)