‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ ท่ามกลางการกระจายอำนาจที่มีแต่ข้ออ้างและการยื้อแย่ง EP.1
สัมภาษณ์พิเศษ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ.

‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ ท่ามกลางการกระจายอำนาจที่มีแต่ข้ออ้างและการยื้อแย่ง EP.1

แม้ประเทศไทยจะมีการปกครองแบบกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นมานานกว่า 10 ปี แต่ท้องถิ่นเองกลับยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาของคนในท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ มีหลายแง่มุมที่จะต้องมองให้เห็นทั้งศักยภาพต้นทุนของจังหวัด รวมถึงกลไกต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกัน สำหรับด้านการศึกษาแล้ว การจัดการศึกษายังเป็นข้อท้าทายให้ท้องถิ่นคิดบริหารจัดการการศึกษาควบคู่กับคุณภาพ

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ไว้ว่า การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการกระจายอำนาจ ประเทศที่พัฒนาการศึกษาได้สำเร็จล้วนกระจายอำนาจลงไปในพื้นที่ทั้งสิ้น โดยหลักการนำการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ไปใช้แต่ละจังหวัดจะมีวิธีต่างกันแล้วแต่โจทย์เฉพาะของพื้นที่ เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการการศึกษาที่ตอบโจทย์ระดับพื้นที่ที่ทันเวลา ทันต่อสถานการณ์ คนที่ตัดสินใจต้องอยู่ที่หน้างานมากกว่าอยู่ที่ศูนย์กลาง

การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่ กสศ. ดำเนินการอยู่ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เมื่อลงไปในพื้นที่เราจะเห็นโจทย์ที่ชัดเจนขึ้น เช่น ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ใช้ภาษาถิ่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นโจทย์ของเขาอาจจะเน้นไปที่คนที่ไม่รู้ภาษาราชการ ฉะนั้นการจัดการศึกษาที่เหมาะต้องมองว่า เขาต้องรู้ทั้งภาษาถิ่น ภาษาแม่ และภาษาราชการ หรือชุมชนบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นชุมชนประมง เพราฉะนั้นการที่จะทำให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ นั่นหมายความว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา การเตรียมคนให้พร้อมเข้าสู่อาชีพประมงหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการประมง หรือชุมชนนี้อยู่ได้ด้วยหัตถกรรมการจัดการศึกษาก็ต้องตอบโจทย์อาชีพหัตถกรรมด้วยเช่นกัน และนี่คือโจทย์ที่ว่าทำไมเราทำเรื่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่

สำหรับความหมายของพื้นที่นั้นไม่มีรูปแบบตายตัว คำว่าพื้นที่อาจจะเป็นตำบล อำเภอ จังหวัดก็ได้ หรือถ้ามองลึกลงไปจริง ๆ คำว่าพื้นที่อาจจะไม่ใช่ตำบลหรือจังหวัด แต่เป็นพื้นที่ที่มีความเหมือนกันเป็นตัวตั้ง เช่นการทำประมงที่มีลักษณะเหมือน ๆ กันของชุมชนประมง ความหมายกว้าง ๆ ของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จึงให้คนอยู่หน้างานตัดสินใจว่าจะจัดอย่างไรให้เหมาะกับความต้องการของพื้นที่

เมื่อถามถึงระดับของการกระจายอำนาจของประเทศไทยทุกวันนี้เพียงพอหรือไม่ ดร.กฤษณพงศ์ ให้ความเห็นว่า สำหรับประเทศไทยแล้วควรจะกระจายอำนาจลงไปได้มากกว่านี้ ในอดีตรัฐพยายามให้เหตุผลว่าเพราะคุณภาพของผู้นำท้องถิ่นไม่สูงพอ ซึ่งเป็นข้ออ้างว่าหากกระจายลงไปแล้วท้องถิ่นจะไม่สามารถดูแลจัดการได้  แต่เท่าที่สังเกตตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ล้วนเป็นคนในพื้นที่ที่ได้รับการศึกษาสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะเห็นตัวอย่างเทศบาลเมืองหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีการบริหารจัดการดี ๆ หลายแห่ง

“ผมว่าเรามีความพร้อมมากขึ้นในเรื่องการปกครอง  เหตุผลที่การกระจายอำนาจในประเทศไทยไปไม่ได้ไกล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเกิดขั้วทางการเมือง คนที่เป็นผู้นำ หรือศูนย์กลางอำนาจก็จะกลัวเรื่องการเกิดขั้ว เกิดสี ส่งผลให้การกระจายอำนาจไม่สามารถทำได้เต็มที่ ตัวอย่างเช่น เรื่องการศึกษาที่สมัยหนึ่งครูอ้างว่า ‘เขากลัวว่าถ้าได้ อบจ.หรือ อบต. ที่ไม่ฉลาด จะปกครองครูได้ยังไง’ แต่ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้น่าจะดีขึ้น ผมมองว่า เดี๋ยวนี้ อบจ. และเทศบาลเก่งขึ้นมา จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไปดึงไว้ไม่ให้เทศบาลหรือ อบจ.เขามาจัดการเรื่องศึกษา และเมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเพิ่มศักยภาพความสามารถด้านการจัดการศึกษาได้แล้ว ในอนาคตรัฐส่วนกลาง เช่น สพฐ. ก็จะเริ่มลดความสำคัญลง ซึ่งท้ายที่สุดการกระจายอำนาจทางการศึกษาจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง”

ดร.กฤษณพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การกระจายอำนาจไปสู่จังหวัดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้คนในจังหวัดจะต้องปรับ Mindset ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะครอบครัวและคนชุมชน  ยิ่งคนคิดได้เองเท่าไร ลุกขึ้นจัดการตัวเองได้เท่าไร สังคมยิ่งเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเรารอแต่ให้รัฐจัดการเพียงอย่างเดียว ผมว่ามันช้าเกินไป และที่สำคัญคือไม่สอดคล้องกับความพื้นที่

(อ่านต่อ EP. 2)