ถอดประสบการณ์ 40 ปี สว. ปรีชา ในวงการศึกษา เสนอสร้างครูข้ามวัฒนธรรม ต่อยอดโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

ถอดประสบการณ์ 40 ปี สว. ปรีชา ในวงการศึกษา เสนอสร้างครูข้ามวัฒนธรรม ต่อยอดโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

ปรีชา บัววิรัตน์เลิศ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประธานอนุกรรมาธิการเด็กและเยาวชน วุฒิสภา

อดีตครูประชาบาลที่เริ่มการทำงานด้านการศึกษาในต่างจังหวัด จนมีตำแหน่งเป็นศึกษานิเทศก์สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบัน ปรีชา บัววิรัตน์เลิศ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประธานอนุกรรมาธิการเด็กและเยาวชน วุฒิสภา คร่ำหวอดอยู่ในวงการศึกษามายาวนาน 40 กว่าปี  ตลอดชีวิตที่รับราชการครู สว.ปรีชา มีประสบการณ์จัดการศึกษา รวมถึงประเด็นด้านความเสมอภาคทางการศึกษาของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดาร เด็กด้อยโอกาสหรือพื้นที่สูง ในจ.เชียงใหม่และภาคเหนือ ซึ่งเมื่อกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ริเริ่มโครงการครู(รักษ์)ถิ่น ก็ทำให้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่ง

ผมเคยเข้าไปดูในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เห็นเด็กจากกลุ่มชาติพันธุ์มาเรียนจริง ซึ่งถือเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์มาก เป็นสิ่งที่ดีที่สร้างความเสมอภาคให้คนไทยได้เข้าถึงโอกาส

จากประสบการณ์ทั้งในฐานะครูผู้สอนอยู่ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นศึกษานิเทศก์ทำให้พบว่าปัญหาสำคัญคือ ยิ่งระบบการศึกษานานเท่าไรคนที่อยู่ในระบบการศึกษาก็จะว่างงานมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่โอกาสคนชาติพันธุ์จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพก็ต้องไม่แตกต่างจากคนในเมืองเช่นกัน ในฐานะที่เคยเป็นผู้บริหารโรงเรียนมาก่อนคิดว่า การเข้าถึงทุนสำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญ 2560 จึงบัญญัติมาตรา 54 และ 258 (2) เรื่องกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ดีมาก และส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา

“จังหวัดก็มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าจะมีภาคส่วนต่างๆ ด้านการศึกษามานั่งคุยกัน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ก็ตั้งเป้ากันว่าเราต้องการให้หน้าตาของเชียงใหม่ออกมาเป็นอย่างไร สถานศึกษาจะสามารถผลิตคนให้ออกมารองรับได้รึเปล่า นี่คือสิ่งที่จังหวัดควรจะวางแผน แล้วกองทุนต่างๆ จะมาสนับสนุนอย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำให้เป้าหมายการเรียนของคนชัดเจน”

ประธานอนุกรรมาธิการเด็กและเยาวชน วุฒิสภา มองว่า โครงการต่างๆ ที่กสศ.ดำเนินการอยู่นับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ สร้างการเปลี่ยนแปลงและจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่ที่สำคัญจะต้องขยายความร่วมมือกับองค์กรในชุมชน ให้เครือข่ายในชุมชนได้มีโอกาสเสนอโครงการที่จะพัฒนาการศึกษาในด้านต่างๆ มาเพื่อต่อยอดจากสิ่งต่างๆ ที่กสศ.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยปรับให้เข้ากับความต้องการของชุมชน ซึ่งจะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะต่อยอดการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

การส่งเสริมกิจกรรมเพื่อต่อยอดโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้น สว.ปรีชา อธิบายว่า การให้โอกาสทางการศึกษาจะต้องระมัดระวังว่าจะไม่เป็นการพรากคนออกจากสังคม

“ในพื้นที่ของเขาก็มีโรงเรียนอยู่แล้วทำไมต้องย้ายมาเรียนในเมือง ไปเรียนกรุงเทพฯ หรือเรียนต่างประเทศ เพราะเขาไม่เชื่อมั่นว่าการศึกษาที่อยู่รอบข้างจะทำให้เขามีงานทำ มีการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ ผมขออนุญาตใช้คำว่าลี้ภัยทางการศึกษาเพื่อไปหาโอกาสทางการศึกษาที่ดี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าดีจริงหรือไม่”

สิ่งที่ประธานคณะอนุกรรมาธิการเด็กและเยาวชน วุฒิสภาหวังว่าจะเกิดขึ้นต่อไปคือ การให้ผู้ที่ได้รับทุน หรือได้รับความช่วยเหลือจากโครงการต่างๆ ของกสศ.ได้กลับไปร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม พัฒนาชุมชนของตัวเอง เช่น ช่วงปิดภาคการศึกษา ก็อาจทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกับชุมชน

สว.ปรีชามองว่า การต่อยอดโครงการของกสศ.กับกิจกรรมของชุมชน เป็นสิ่งสำคัญที่จะตอบสนองในสิ่งที่ชุมชนต้องการอย่างแท้จริง อาทิเช่น ครูที่รู้ภาษาถิ่นและสามารถใช้ภาษาถิ่นในการเรียนการสอนได้

“มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ที่ศึกษาเกี่ยวกับทวิภาษา ด้วยการนำเจ้าของภาษามาปูพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างภาษาท้องถิ่นกับภาษากลาง พบว่าหากมีครูที่รู้ภาษาถิ่นจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วกว่าแบบก้าวกระโดด เมื่อเชื่อมภาษาแม่หรือภาษาถิ่นให้เข้ากับภาษากลาง ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้บุคลากรครูและนักเรียนชาติพันธุ์เกิดการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม”

เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารเดินหน้าไปสู่สัมฤทธิผล สว.ปรีชา เห็นว่า ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ประสานงานฝ่ายต่างๆ ในลักษณะพหุภาคี เพื่อทดลองสร้างรูปแบบการจัดการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น การวางระบบสร้างครูในอนาคตสำหรับชุมชน ซึ่งอาจจะเป็นการร่วมต่อยอดจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น  ซึ่งกสศ.ดำเนินการอยู่แล้ว มองหา คัดเลือกเยาวชนที่ฉายแววความเป็นครูของชุมชน ปูพื้นฐานอาชีพครูตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย เพื่อคัดเลือกผู้เหมาะสมที่จะมาเป็นครูของชุมชน และทำงานเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง เพราะนี่คือความหวังที่พัฒนาคุณภาพการศึกษาของชุมชนห่างไกล อันเป็นแนวทางสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำในอนาคต 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค