กูรูหวั่นความช่วยเหลือเยียวยาด้านสุขภาพจิตเด็กวัยเรียนไม่เพียงพอ
โดย : Naomi Martin
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กูรูหวั่นความช่วยเหลือเยียวยาด้านสุขภาพจิตเด็กวัยเรียนไม่เพียงพอ

แม้เป็นเรื่องน่ายินดีที่โรงเรียนทุกแห่งในสหรัฐฯ ต่างออกมาตรการเตรียมความพร้อมสถานศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ครอบคลุมในทุกด้านเพื่อต้อนรับการกลับมาเรียนที่โรงเรียนอีกครั้งของเด็กนักเรียนในช่วงเปิดเทอมภาคฤดูใบไม้ร่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมมาตรการและทีมที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนด้านสุขภาพจิตใจของนักเรียนโดยเฉพาะ กระนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่กลับหวั่นเกรงว่าสิ่งที่เตรียมมานี้จะไม่เพียงพอ

ทีมผู้สื่อข่าวเซ็คชั่น The Great Divide ของหนังสือพิมพ์ Boston Globe ซึ่งเน้นข่าวประเด็นด้านการศึกษาและความเสมอภาคเท่าเทียม ได้รวบรวมความคิดเห็นของนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงดังกล่าว พบว่า ทั้งหมดระบุตรงกันว่า สภาพจิตใจของเด็กนักเรียนในห้วงเวลานี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะต่างต้องเผชิญกับสภาวะเครียดและกดดันที่ไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ตามปกติ วิตกกับระดับความรู้ที่ล้าหลัง ถดถอยไม่ทันเพื่อน หวาดกลัวกับสถานการณ์การระบาด และโศกเศร้าจากการสูญเสียที่คาดไม่ถึง

ทั้งนี้ สถิติข้อมูลเบื้องต้นจากโรงพยาบาลเด็กในบอสตันของสหรัฐฯ พบว่า มีเด็กนักเรียนมาโรงพยาบาลเพราะความเจ็บปวดและสภาวะจิตใจที่ทนทุกข์จากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 มากขึ้น ทำให้เกิดภาวะจิตผิดปกติ ทั้งซึมเศร้า เครียด และพฤติกรรมผิดเพี้ยน เช่น กินมากเกินไป กินน้อยเกินไป หรือไม่ยอมกินอะไรเลย

รายงานระบุว่า เฉพาะช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนในบอสตันพยายามฆ่าตัวตายหรือมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึง 40%

ดังนั้น การเตรียมความช่วยเหลือเพื่อเยียวยารับมือกับปัญหาสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง กระนั้น การดูแลจิตใจของเด็กนักเรียนตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดก็ไม่ได้รับความสำคัญอยู่แล้ว ทำให้จำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และที่ปรึกษา มีจำนวนที่ค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจึงเกรงว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นกะทันหันจะไม่ได้รับการตอบสนอง

แอชลีย์ นิกกึล-อาเกียร์ (Ashley Niggl-Aguiar) ประธานสมาคมนักจิตวิทยาแห่งแมสซาชูเชตส์ กล่าวว่า ความชำนาญการด้านจิตวิทยาต้องใช้เวลาเรียนรู้ สั่งสม และขัดเกลาพอสมควร ดังนั้นเมื่อสังคมต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกะทันหัน จึงเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลว่าผู้เชี่ยวชาญจะไม่เพียงพอ

ในส่วนของกลุ่มเด็กนักเรียนที่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ เด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส รวมถึงเด็กที่ทางบ้านมีปัญหาจนมักใช้โรงเรียนเป็นสถานที่หลบภัย ตลอดจนเด็กพิการและเด็กผิวสี ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าเด็กที่ประสบปัญหายากลำบากทางเศรษฐกิจและสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากทีมนักวิจัยพบว่า เด็กสหรัฐฯ เกือบ 104,900 คน ต้องสูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครองจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 ของเด็กจากครอบครัวผิวสีและลาตินอเมริกาประสบปัญหาทางการเงิน ความหิวโหย ตกงาน และปราศจากที่อยู่อาศัย มากกว่าเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นชาวเอเชีย หรือคนผิวขาวถึง 2 เท่า

ทั้งนี้ ในเมืองบอสตันพบว่ามีเด็กวัยรุ่นหลายร้อยชีวิตเข้ามาติดต่อขอความช่วยเหลืออย่างสิ้นหวังจากทางองค์กร Bridge Over Troubled Waters หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและที่อยู่อาศัยแก่ประชากรอายุระหว่าง 14-24 ปี ซึ่งเอลิซาเบธ แจ็กสัน (Elisabeth Jackson) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์กร NGO แห่งนี้ กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดมีวัยรุ่นมาขอความช่วยเหลือแล้วราว 1,500 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 30%

แจ็กสันกล่าวว่า การปิดโรงเรียนไม่เพียงแต่ตัดขาดการติดต่อของเด็กจากสังคม โรงเรียน และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังทำให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ที่พึ่งพิง สภาพจิตใจตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคง กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ฝังลึกมากกว่าเดิม จากปกติที่มีสภาวะจิตใจเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีไม่เพียงพอ แต่การที่โรงเรียนเตรียมความพร้อมและวางแผนเชิงรุกในการเข้าหานักเรียนก่อน ก็พอที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้ระดับหนึ่ง โดยเริ่มต้นจากการสำรวจสภาพอารมณ์และจิตใจของเด็กอย่างครบถ้วนรอบด้าน จะช่วยให้เด็กมีช่องทางในการเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ของตนเองได้เป็นอย่างดี

นิกกึล-อาเกียร์เปิดเผยว่า ปีนี้การสำรวจนักเรียนเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กทำให้โรงเรียนสามารถจัดสรรทรัพยากรได้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนได้ และการสำรวจทำให้สถานศึกษาหลายแห่งในเขต Narragansett Regional เมืองบอสตัน สามารถทำให้ช่วยชีวิตเด็กนักเรียนที่คิดฆ่าตัวตายได้เป็นจำนวนมาก

“แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เขตการศึกษาอื่นอาจไม่ได้มีแผนรับมือที่พร้อมเหมือนเขตของเรา ถ้าเป็นคนทั่วไป เมื่อรู้ว่ารู้สึกมีปัญหา คุณก็แค่ต้องหาทางจัดการ แต่คนที่เราพูดถึงว่ามีปัญหาก็คือเด็ก และประเด็นที่เด็กคนนั้นเผชิญไม่ใช่โจทย์เลขหรือแบบฝึกหัดการอ่าน แต่เป็นเรื่องความคิดฆ่าตัวตาย”

ทั้งนี้ ตามปกติแล้วโรงเรียนรัฐทุกแห่งจะทำการสำรวจนักเรียน 2 ครั้งต่อปีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา การสำรวจดังกล่าวไม่อาจเพียงพอที่จะช่วยระบุตัวเยาวชนทุกคนที่กำลังตกอยู่ในวิกฤตได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของซีเรนนิตี้ ฟิเกอรัว (Serennity Figueroa) นักเรียนมัธยมปลายแห่งโรงเรียน Charlestown High School วัย 17 ปีที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าเพราะปัญหาปากท้องของครอบครัว แต่อายเกินกว่าที่จะบอกครู จึงตัดสินใจหันหน้าหนีด้วยการพึ่งพากัญชาเพื่อผ่อนคลายความเครียด แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับรู้สึกสิ้นหวังและโดดเดี่ยวกว่าเดิม จนกระทั่งอาการของฟิเกอรัวทวีความรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเอง และปิดท้ายที่การเข้ารับการรักษาอย่างฉับพลันที่โรงพยาบาลเด็กบอสตัน (Boston Children’s Hospital)

การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทำให้ฟิเกอรัวได้พบนักบำบัดและทีมแพทย์ซึ่งสอนให้เธอมีทักษะในการรับมือกับสภาพอารมณ์และจิตใจของตนเอง รวมถึงกระตุ้นให้เธอมีความกล้าที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ฟิเกอรัวยังได้ใช้เวลากับโครงการ “Turn It Around” อันเป็นโครงการเสริมสร้างเยาวชนที่มีโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital คอยดูแลและช่วยดำเนินการ โดยโครงการนี้ช่วยปลูกฝังนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การหายใจอย่างมีสติ การออกกำลังกาย และการใช้เวลากับเพื่อนฝูงและกิจกรรมกลางแจ้ง อย่างการเดินป่า ปีนเขา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้รับการเยียวยาด้านสุขภาพจิตได้

ด้านเบรนดา แคสเซลเลียส (Brenda Cassellius) ผู้กำกับการเมืองบอสตัน กล่าวว่า ปีนี้เมืองบอสตันได้กำหนดให้ประเด็นสุขภาพจิตถือเป็นนโยบายหลัก ดังนั้นจึงถือเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนในบอสตันทุกแห่งจะต้องมีนักสังคมสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่สวัสดิการครอบครัวประจำโรงเรียน โดยทีมนักสังคมสงเคราะห์ต้องเข้าพบครอบครัวของนักเรียนทุกคนในเขตพื้นที่ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่หนึ่งคนจะรับผิดชอบตรวจสอบนักเรียนจำนวน 250 คน

ขณะที่ลูซินดา มิลล์ (Lucinda Mills) หนึ่งในทีมนักสังคมสงเคราะห์ของบอสตันระบุว่า แม้เจ้าหน้าที่จะเตรียมพร้อม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์เพียงพอให้บริการ เพราะปัญหาที่ครอบครัวต่างๆ ต้องเผชิญนั้นหนักหนา ครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นวิกฤตทางอารมณ์ ภาวะการไร้บ้าน ความไม่มั่นคงด้านอาหาร เป็นต้น ดังนั้น นอกจากออกมาแนะนำแล้ว ทางการยังต้องเพิ่มทุนและทรัพยากรด้วย

ในกรณีของบอสตัน โชคดีที่มีบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและการบำบัดอยู่ในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้สามารถช่วยโรงเรียนได้อีกทาง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทอย่าง Gosnold ซึ่งให้บริการบำบัดแบบตัวต่อตัว ได้ร่วมมือกับโรงเรียนและให้บริการแก่นักเรียนกว่า 800 คนจาก 75 โรงเรียนในเขตต่างๆ ของเมืองบอสตัน เช่น เขต Stoughton, Braintree, Falmouth และ Plymouth โดยบริษัท Gosnold จะเรียกเก็บค่าบริการจากบริษัทประกันสุขภาพของครอบครัวและจากโรงเรียนแต่ละแห่งประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อปี โดยเป็นค่าตอบแทนนักบำบัดที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งบริการนี้ได้รับเสียงตอบรับทางบวกอย่างล้นหลามจากพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย เนื่องจากลูกๆ ของตนได้รับความช่วยเหลือฟื้นฟูจากนักบำบัดและผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ลูกๆ กลับมาเป็นปกติ และมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่โรงเรียนทุกแห่งในบอสตันที่จะมีงบประมาณเพียงพอ ทำให้หลายโรงเรียนลังเลที่จะติดต่อกับผู้ให้บริการอย่างบริษัท Gosnold กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนในกลุ่มนี้จะมีไม่มีการเตรียมความพร้อมใดๆ เลย อย่างน้อยโรงเรียนแต่ละแห่งก็พยายามสอดแทรกหลักสูตรที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้เท่าทันอาการ รวมถึงรับมือกับสภาวะอารมณ์และจิตใจของตนเองได้ อาทิ การจัดให้มีชั่วโมง “สุขภาพ” ฟรีแก่นักเรียนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับชมรมต่างๆ, พบกับที่ปรึกษา, หรือกระตุ้นให้เข้าโรงยิมหรือไปห้องสมุด เพื่อให้เด็กมีสุขภาพจิตใจที่แจ่มใส เป็นต้น

ที่มา : Schools are increasing mental health support this year, but experts fear it’s still not enough