บุคลากรการแพทย์คลื่นลูกใหม่พื้นที่ EEC ‘แสดงความยินดี’ ผู้ช่วยพยาบาลรุ่นแรก กสศ.

บุคลากรการแพทย์คลื่นลูกใหม่พื้นที่ EEC ‘แสดงความยินดี’ ผู้ช่วยพยาบาลรุ่นแรก กสศ.

ในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ภารกิจหลักคือนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง มีเป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ความพยายามที่จะยกระดับวิทยาการในการดูแลสุขภาพพลานามัยของประชาชน โดยไม่เพียงมุ่งส่งเสริมให้คนเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่ดีและสะดวกยิ่งขึ้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลร่างกาย จิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์ ห่างไกลจากความเจ็บป่วย อันจะเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเดินไปได้โดยไม่สะดุด 

ในกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ บุคลากรด้านสาธารณสุขถือว่าเป็นทรัพยากรคนสำคัญ กับบทบาทการเป็นฟันเฟืองที่จะผลักเคลื่อนระบบให้มีอัตราเร่งคงที่ อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนคนทำงานระดับชำนาญการยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งแผนพัฒนาเอาไว้ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่ ‘ผลิต’ ทรัพยากรบุคคลอย่าง ‘มหาวิทยาลัยบูรพา’ จึงมองถึงการสร้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคลื่นลูกใหม่ โดยเล็งเห็นถึงการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจในสายอาชีพนี้ได้เข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (1 ปี) เพื่อพัฒนาโครงสร้างการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแบบองค์รวมของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้การดูแลของคณะพยาบาลศาสตร์ พร้อมเข้าร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่มอบทุนการศึกษาและดูแลหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพรอบด้าน สำหรับเยาวชนที่จบการศึกษาชั้น ม.6 และขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้มีโอกาสเรียนในวิชาชีพที่สนใจ เพื่อนำไปต่อยอดการศึกษาหรือเริ่มต้นประกอบอาชีพ ด้วย ‘ศักดิ์’ และ ‘สิทธิ์’ อันเต็มความภาคภูมิในฐานะบุคลากรทางการแพทย์คนหนึ่ง 

วันนี้นิสิตรุ่นแรกจำนวน 32 คน พร้อมแล้วกับบทบาท ‘ผู้ช่วยพยาบาล’ ที่จะออกไปทำงานแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์รุ่นพี่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมยังคงต้องต่อสู้กับโควิด-19 ไปอีกยาวนาน

หลากคำอวยพรจากผู้ร่วม ‘สร้าง’ 

นพ.สุภกร บัวสาย รักษาการ
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กล่าวว่า 

“เป็นวันที่ต้องแสดงความยินดีที่ทุกคนเสร็จสิ้นภารกิจหนึ่งและได้เริ่มต้นอีกหนึ่งบทบาทต่อไปของชีวิตแล้ว ถือว่าเป็นความสำเร็จแรก จากสามสิ่งที่ กสศ. คาดหวัง นั่นคือ น้องๆ ได้โอกาสเรียนและได้รับการขัดเกลาจนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ ส่วนก้าวต่อไปจากนี้คือทำงานสั่งสมประสบการณ์ บรรเทาปัดเป่าความทุกข์ร้อนให้ผู้คน และก้าวที่สามคือ ความสำเร็จที่รออยู่ในวันข้างหน้า ทั้งในรูปของเกียรติ ชื่อเสียง การได้รับยกย่องยอมรับว่าผู้ช่วยพยาบาลรุ่นแรกของ กสศ. และ ม.บูรพา เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งจะส่งอานิสงส์ไปยังรุ่นน้องที่จะจบการศึกษาตามมาในปีถัดๆ ไป”

ผศ. ดร.ปานเพชร ชินินทร
อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ
กล่าวในฐานะคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงว่า 

“ย้อนกลับไปในวันที่เริ่มค้นหาเด็กๆ กลุ่มนี้ เราพบว่าหลายคนเข้าไม่ถึงข้อมูล ไม่เคยได้รับโอกาส แต่เมื่อเขาได้มาพบอาจารย์ พบเพื่อนๆ ได้รับการเจียระไน ความไม่พร้อมขาดพร่องที่เคยมีก็ค่อยๆ เลือนจางลง กลายมาเป็นบุคลากรคุณภาพที่พร้อมปฏิบัติงานในวันนี้ ขณะที่หลังจากนี้หากมีใครต้องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น กสศ. มี ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ ที่จะสนับสนุนให้ผู้มีความสามารถและตั้งเป้าว่าจะเรียนให้สูงที่สุด ได้รับการต่อยอดไปถึงระดับที่ตั้งใจไว้”

รศ. ดร.วัชรินทร์ กาสลัก
อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา
กล่าวว่า 

“หนึ่งปีเศษที่ผ่านมา เยาวชนสามสิบสองคนได้เปลี่ยนแปลงตนเองจากความไม่เดียงสา จากเส้นทางข้างหน้าที่มองไม่เห็นทางไป จนกลายเป็นหนุ่มสาวสามสิบสองคนที่แววตาเปี่ยมด้วยความมั่นใจ มีความภาคภูมิใจในตนเอง และตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ คือการดูแลชีวิตเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นงานที่เลือกเวลาและสถานที่ไม่ได้ จากนี้มหาวิทยาลัยจะรอคอยดูความสำเร็จ ดูเส้นทางที่แต่ละคนจะเติบโตต่อไปทั้งในสายงานและในชีวิต สำคัญคือ ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในทุกๆ วัน ก้าวตามให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และขอให้ทุกคนเป็นบุคลากรการแพทย์รุ่นใหม่ที่มีเกียรติ เสียสละ ไม่ย่อท้อแม้ว่าจะเจออุปสรรคใดก็ตาม”

ความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของวงการสาธารณสุข

ผศ. ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล
ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
กล่าวว่า 

“ในพื้นที่ EEC นอกจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคอุตสาหกรรม เรายังมุ่งเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพและการกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดที่จะส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายปี เรามีความท้าทายในการสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ การที่ กสศ. เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้ ทำให้ฐานการผลิตผู้ช่วยพยาบาลกว้างขวางยิ่งขึ้น เรามีโอกาสได้รับน้องๆ ที่มีใจรัก อยากเรียน ให้เขาเข้าถึงการศึกษา ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่าน้องๆ กลุ่มนี้จะเติบโตขึ้น เพิ่มพูนทักษะประสบการณ์ของตนเองยิ่งขึ้น และจะกระจายตัวออกไปใช้ความรู้ความสามารถของตนทำประโยชน์ให้กับแวดวงสาธารณสุขของประเทศได้เป็นอย่างดี

“การเปิดหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลทำให้เราเห็นว่า แม้สาขาวิชานี้จะมีเปิดสอนอยู่ตลอด แต่คนที่เข้าไม่ถึงช่องทางรับข่าวสาร เขาก็ไม่รู้ว่าจะนำพาตนเองเข้ามาได้อย่างไร การประชาสัมพันธ์และการลงพื้นที่คัดเลือกร่วมกับ กสศ. มันเหมือนกับเรานำโอกาสลงไปส่งถึงมือเด็ก ไปสัมภาษณ์คัดเลือกเขาถึงบ้าน แล้วด้วยหลักสูตรระยะสั้นก็จะทำให้เขามีวุฒิการศึกษาเพื่อนำไปดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น อย่างสามสิบสองคนที่จบการศึกษารับใบประกาศนียบัตรในวันนี้ ทุกคนได้งานทำทันทีจากโรงพยาบาลภาคีในพื้นที่ เรามองว่านี่คือการมอบความเสมอภาคทางการศึกษาให้ไปถึงคนที่ขาดแคลน ให้เขาได้มีโอกาสใช้ศักยภาพในตัวไปสร้างชีวิต ผ่านวิชาชีพที่ร่ำเรียน” 

เติมเต็มความต้องการของสังคม
เปลี่ยนแปลงเส้นทางอนาคตผู้เรียน

ผศ. ดร.พรชัย จูลเมตต์
คณะบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
กล่าวว่า 

“หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลที่ ม.บูรพาร่วมกับ กสศ. เปิดรับเยาวชนที่จบ ม.6 แล้วไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระบบ เนื่องจากติดขัดด้วยความไม่พร้อมต่างๆ แต่น้องๆ กลุ่มนี้เขามีใจอยากเรียน อยากพัฒนาตนเอง มีความรักความสนใจในวิชาชีพด้านสาธารณสุขเป็นทุนเดิม ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่ว่า ในพื้นที่ของเรายังมีเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ไม่เพียงพอ มันจึงเป็นทั้งการทำให้เยาวชนเหล่านี้มองเห็นอนาคตไปพร้อมๆ กับการแบ่งเบาความขาดแคลนของสังคม

“วันนี้เด็กที่เมื่อปีก่อนเขายังหาทางไปให้กับชีวิตไม่ได้ กำลังยืนอยู่ตรงหน้าเราอย่างสง่างามในเครื่องแบบวิชาชีพ มันทำให้ความเหน็ดเหนื่อยของคณะ ของอาจารย์ทุกท่านที่มองเห็นเป้าหมายร่วมกันมาตลอดหายเป็นปลิดทิ้ง สิ่งที่เราได้รับคือความสุขความภูมิใจ ว่าบุคคลที่เอาใจใส่ฟูมฟัก เขาได้เปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งในภาพรวมแล้วก็นับว่าคณะของเราได้ทำหน้าที่สำคัญในการสร้างโอกาสทั้งต่อคนคนหนึ่งและครอบครัวของเขา รวมถึงเป็นโอกาสของประเทศชาติที่จะได้รับประโยชน์จากบุคลากรสายอาชีพกลุ่มนี้ด้วย”

ยินดีต้อนรับน้องๆ ทุกคนเข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกัน

รัชดาพร สุวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา
หรือ ‘พี่ตุ้ย’ ของน้องๆ ซึ่งเป็นตัวแทนจากแหล่งฝึกประสบการณ์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา และโรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี ซึ่งรับน้องๆ เข้าเสริมทักษะวิชาชีพกล่าวว่า 

“ขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องกับโครงการทุกคน ที่ได้มอบโอกาสให้ดูแลน้องๆ กลุ่มนี้ เพราะด้วยความสามารถ ความตั้งใจของน้องๆ ทำให้ตนเองในฐานะรุ่นพี่รู้สึกดีใจ ที่จะมีบุคลากรคุณภาพเข้ามาช่วยขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขให้มีคุณภาพมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้นต่อไป หลังจากนี้ ‘พวกเรา’ จะช่วยกันทำงานสร้างประโยชน์ให้กับผู้รับบริการ ร่วมส่งต่อความรู้ประสบการณ์ให้กับน้องรุ่นต่อไป จากนี้ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นพัฒนาตนเองไม่หยุดยั้ง และยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่วิชาชีพและระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ”