กลับไปเป็น “ครู” ที่บ้านเกิด สร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนมุมมองต่อ “การศึกษา” เพื่ออนาคตที่ดีของเยาวชนบนเกาะสมุย

กลับไปเป็น “ครู” ที่บ้านเกิด สร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนมุมมองต่อ “การศึกษา” เพื่ออนาคตที่ดีของเยาวชนบนเกาะสมุย

จากประสบการณ์ตรงที่เคยเห็นเพื่อน ๆ ร่วมชั้นเรียนออกจากโรงเรียนตั้งแต่เด็กเพื่อไปรับจ้างทำประมง แต่สุดท้ายไม่เป็นอย่างที่คิด หลายคนเริ่มตระหนักว่าการศึกษาเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะทำให้อนาคตดีขึ้น จนต้องขวนขวายกลับมาเรียน กศน. ​

เรื่องนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้​ ปอนด์ – กรวิชญ์​ จันทร์ทอง มุ่งมั่นอยากจะเป็นครู  เพื่อเปลี่ยนความคิดเด็ก ๆ ในชุมชนให้ได้เห็นความสำคัญของการศึกษา

ความมุ่งมั่นสู่เส้นทางฝัน

ปอนด์ – กรวิชญ์​ จันทร์ทอง นักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2

ความมุ่งมั่นนี้ใกล้จะเป็นจริง​ ปัจจุบัน​​​ปอนด์กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในฐานะนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

อีก 4 ปีหลังเรียนจบเขาจะกลับไปบรรจุเป็นครูที่บ้านเกิด โรงเรียนวัดนาราเจริญสุข ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  โรงเรียนขนาดเล็กที่เขาเคยเรียนเมื่อยังเป็นเด็ก

“เพื่อนผมจบ ป.6 ​แล้วก็เลือกออกไปรับจ้างทำประมง ไม่เรียนต่อ เพราะไม่รู้จะเรียนไปทำไม แต่สุดท้ายทุ​กอย่างไม่ได้เหมือนอย่างที่เขาคิด จน ม.2 เขาเริ่มทำไม่ไหวและกลับมาเรียน กศน. อีกครั้ง เพราะงานไม่แน่นอน บางช่วงน้ำไม่ดี ออกหาปลาไม่ได้ บางช่วงปลาน้อย ไม่มีรายได้ ​​จึงอยากไปหางานอื่นทำ แต่พอไม่มีการศึกษาก็หางานยาก​ทำให้เขากลับมาเรียนต่อ ​ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อนผมคนเดียวที่ตกอยู่ในสภาพแบบนี้ ตอนนั้นผมเลยตั้งใจว่าจะเป็นครูเพื่อมาเปลี่ยนความคิดของเด็ก ๆ ให้เห็นว่าการศึกษาจะทำให้เขามีอนาคตที่ดีขึ้น”

จุดประกายค้นพบตัวเอง ผ่านกิจกรรมเข้าค่ายครูรัก(ษ์)ถิ่น

เส้นทางการเป็นครูของ “ปอนด์” เองก็ไม่ได้ราบเรียบนัก เนื่องจากฐานะทางบ้านค่อยไม่ดี เขาต้องทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ หาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่เรียนมัธยมและเกือบจะไม่ได้เรียนต่อ จนกระทั่งผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา​ให้กับเด็กในพื้นที่ห่างไกล

สิ่งที่ทำให้ปอนด์มั่นใจว่าการตัดสินใจเลือกเป็น “ครู” นั้นมาถูกทางคือ หลังจากได้เข้าค่ายในช่วงการคัดเลือกเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีพาลงพื้นที่ดูการเรียนการสอน พร้อมทำกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อม หลายคนที่พบว่าตัวเองไม่เหมาะสมก็ถอนตัวไป แต่สำหรับปอนด์แล้ว กิจกรรมต่าง ๆ ยิ่งเป็นการจุดประกายให้ค้นพบตัวเองว่าเขาอยากเป็นครู

ครูจากชุมชน : รู้จักบริบทพื้นที่ เข้าถึงเด็กๆ และผู้ปกครองได้ดีกว่า

หนึ่งใน​จุดเด่นของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นคือ การที่ได้คนในชุมชนมาเป็นครูในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งกรวิชญ์มองว่า​ ข้อดีคือความคุ้นเคยกับเด็กและผู้ปกครอง ตลอดจนบริบทชุมชน จะทำให้การสอนเป็นไปได้ดีขึ้น สามารถออกแบบการสอนเข้าถึงเด็ก ๆ และผู้ปกครองได้ง่ายกว่าครูที่มาจากต่างพื้นที่ ​

“เป้าหมายผมชัดเจนแต่แรกว่าอยากเป็นครู เพราะผมเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่เด็ก ที่หลายคนออกจากการศึกษาแล้วขาดโอกาสในชีวิต ผมจะปลูกฝังให้เด็ก ๆ เห็นความสำคัญของการศึกษา ยิ่งเรียนสูงขึ้น เขาจะยิ่งมีทางเลือก มีอนาคตที่ดีขึ้น”​

กรวิชญ์​ตั้งเป้าว่าจะเสริมสร้างการเรียนของเด็ก ๆ ให้เข้าใจวิถีชุมชนมากขึ้น เพราะเด็กปัจจุบันเริ่มสนใจแต่เทคโนโลยี  เขาตั้งใจว่าจะปลูกฝังให้เด็ก ๆ หันมาสนใจสิ่งรอบตัวที่มีอยู่ในชุมชน  เช่น เกาะสมุยมีจุดเด่นเรื่องมะพร้าวและกาละแม   

ระหว่างนี้เขาจะพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับกลับไปเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิด​

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นอีกกลไกสำคัญ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล