โอเคเบตง ถอดประสบการณ์ตรงครูจากผู้ใช้ Q-Info

โอเคเบตง ถอดประสบการณ์ตรงครูจากผู้ใช้ Q-Info

“เวลาแค่ 1 เดือน Q-Info เข้ามาเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบได้อย่างไร ?

“…ให้ลองคิดภาพว่าแต่ก่อนครูคนหนึ่งต้องจัดการข้อมูลนักเรียนมากมายแค่ไหน เด็กคนเดียวมีใบ ปพ.1 ถึง ปพ.9 ชั้นหนึ่งมีเด็กกี่คนก็คูณเข้าไป จะหยิบมาใช้แต่ละที เอกสารจิปาถะเหล่านี้ก็กองกระจัดกระจายเต็มโต๊ะ แต่พอข้อมูลเหล่านี้เปลี่ยนเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม จากกระดาษย้ายไปอยู่บนหน้าจอ เราเข้าถึงข้อมูลได้เร็วมาก ดูผ่านสมาร์ทโฟนบนฝ่ามือได้เลย ทีนี้จะหาข้อมูลก็ง่าย ประหยัดทรัพยากร หรือวางแผนจัดการทุกอย่างในโรงเรียนก็ทำได้สะดวกขึ้น ที่สำคัญเลยคือลดภาระงานครู ครูก็มีเวลาติดตามแก้ปัญหาให้เด็กใกล้ชิดเป็นรายคนจริง ๆ โอกาสเสี่ยงหลุดมันก็ลดลง จากประสบการณ์ของโรงเรียนเราที่นำมาใช้ ต้องบอกว่ากลไกทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น”

เสียงยืนยันจาก ผู้อำนวยการนิษฐเนตร เทพเกื้อ โรงเรียนบ้านตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา 1 ในโรงเรียนต้นแบบจากโรงเรียนกว่า 1,500 แห่ง ทุกสังกัดทั่วประเทศ ที่นำระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ‘Q-Info’ (Quality Learning Information System) ซึ่งวิจัยและพัฒนาโดย กสศ. และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาใช้จัดการโรงเรียน และเห็นผลความเปลี่ยนแปลงในเวลาอันสั้น

Q-Info เป็นเครื่องมือติดตามดูแลนักเรียนรายบุคคลในมิติแวดล้อมทุกด้าน(Student Profile) ซึ่งจะบันทึกและแสดงผลการเรียน การเข้าเรียน สุขภาพกาย สุขภาพจิต สถานะเศรษฐกิจ และสถานภาพครอบครัว ออกแบบให้สอดคล้องกับการดำเนินงานภายในโรงเรียน ช่วยครูจัดงานสอนหรืองานทะเบียนวัดผล และเป็นตัวช่วยผู้บริหารสถานศึกษาในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เมื่อเปลี่ยนเอกสารกองมหึมาเป็นฐานข้อมูลบนฝ่ามือได้ เวลาของครูก็คืนกลับมา

ครูรีซูวัน ดอเลาะ โรงเรียนบ้านตาเนาะแมเราะ เล่าถึงช่วงเวลาเริ่มต้นใช้งาน Q-Info ที่โรงเรียนว่า “เป็นธรรมดาที่พอมีสิ่งใหม่เข้ามา การรับรู้ของบุคลากรก็แตกเป็นสองฝ่าย มีทั้งคนที่ยังไม่เปิดใจ กังวลว่าจะใช้เป็นไหม หรือเครียดว่าต้องทำยังไง กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ชำนาญเรื่องเทคโนโลยีมากกว่า พวกนี้จะมองเห็นระบบ เข้าใจขั้นตอน ไปจนถึงตระหนักว่าการนำนวัตกรรมมาใช้ จะส่งผลดีในวันข้างหน้าอย่างไร

“ถ้าจะทำให้ทุกคนเห็นภาพไปทางเดียวกัน มันต้องทำงานเป็นทีม วิธีของโรงเรียนเราคือให้ครูทุกคนได้ทดลองล็อกอิน กรอกข้อมูล จัดลำดับขั้นตอนใช้งาน จากนั้นเราจะแยกคนที่ทำได้กับยังไม่เข้าใจออกจากกัน แล้วให้จับคู่ทำไปพร้อมกัน โดยมีครูแกนนำอีกคนหนึ่งพาทำบนจอใหญ่ ค่อยทำความรู้จักไปทีละเมนู ทีละคุณลักษณะ(Feature) ทีละคุณสมบัติ(Function) พอเริ่มเข้าใจมากขึ้นก็ลองทำซ้ำ ๆ ทีละคน ไม่นานทุกคนก็สามารถทำได้

“แน่นอนว่าช่วงแรกคือตอนเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง เราจะเจอความทุลักทุเลอยู่บ้าง มีคนท้อ มีคนไปช้ากว่าคนอื่น แต่เพราะเรามีบัดดี้ที่คอยดูแลไม่ทิ้งกันอยู่ สักพักอุปสรรคก็ค่อย ๆ หมดไป จนเข้าเทอมสอง ผลดีมันค่อย ๆ ปรากฏ ครูเริ่มสบาย คราวนี้เขาเริ่มเห็นแล้วว่าไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ ๆ เหมือนเดิม จบปีเก่าผ่านไปถึงปีการศึกษาใหม่ ข้อมูลก็ยังอยู่ จะดึงเอามาใช้ก็ก็อปปี้วางได้เลย สะดวกรวดเร็วมาก ๆ แล้วที่ทุกคนชอบใจคือไม่ต้องหอบแฟ้มเอกสารเล่มหนา ๆ ติดตัวอีกแล้ว แค่พกสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวเปิดทำตรงไหนก็ได้ มีข้อมูลอัพเดทเรียลไทม์ เรียกดูและติดตามผลได้ตลอด คือแค่เราเสียเวลายุ่งยากเทอมเดียว แต่จากนั้นโรงเรียนจะมีฐานข้อมูลที่ไม่สูญหาย ไม่ว่าจะผ่านไปอีกสิบหรือยี่สิบปีก็ยังอยู่ตรงนั้น”                   

ครูรีซูวันกล่าวว่า สำหรับครูแล้ว งานเอกสารที่ลดลงเท่ากับการได้ ‘เวลา’ เพิ่มขึ้น ใน 1 วันที่มี 24 ชั่วโมงเท่าเดิม ซึ่งอีกด้านหนึ่งหมายถึงครูมีชั่วโมงสำหรับการจัดเตรียมการสอนมากขึ้น การติดตามเอาใจใส่นักเรียนทีละคนก็ทำได้เต็มที่

“พองานเอกสารลดลง เวลาที่เพิ่มขึ้นมาเราสามารถเอาไปใช้พัฒนาทั้งคุณภาพการเรียนการสอน และปรับปรุงระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ดีขึ้น พอสองสิ่งนี้มีประสิทธิภาพ จำนวนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบก็น้อยลง”

ระบบตรวจจับความเสี่ยง เตือนทันทีก่อนสายเกินแก้

นอกจากลดภาระงานครู Q-Info ยังมีระบบแจ้งเตือนที่ทำให้มองเห็นความผิดปกติของเด็กได้อย่างรวดเร็ว จากการประเมินผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ โดยเมื่อทำการกรอกข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนแล้ว ระบบจะแจ้งเตือนผลตัวชี้วัดของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งครูสามารถนำมาออกแบบแผนการดูแลเด็กเป็นรายคน หรือเป็นรายวิชา

ส่วนเรื่องการติดตามนักเรียน ครูประจำชั้นจะได้รับการประมวลผลข้อมูลจากบันทึกการเข้าเรียนของเด็กในแต่ละวัน ผลที่แสดงจะเป็นข้อมูลเรียลไทม์ซึ่งทั้งครูและผู้บริหารเรียกดูได้ทันที ว่าวันนั้น ๆ นักเรียนขาดกี่คน ใครลาป่วย ลากิจ ใครหยุดเรียนหายไปเฉย ๆ หรือคนไหนที่ขาดเรียนบ่อย ๆ หยุดเกิน 2-3 วันติดต่อกัน ระบบจะแจ้งเตือนทันที เพื่อให้มีการติดตามหรือลงพื้นที่เยี่ยมบ้านรับทราบปัญหา ก่อนจะสายเกินไป

ครูรีซูวันระบุว่า Q-Info คือนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของครู และเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบในระยะยาวได้โดยตรง ด้วยการบันทึกข้อมูลเชิงลึกที่ละเอียด ครบรอบด้าน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำรายงานในแต่ละภาคการศึกษา ก่อนการประชุมทบทวนข้อบกพร่อง และหาแนวทางพัฒนาหลักสูตรที่โรงเรียนใช้ในแต่ละเทอม

“ระบบแสดงให้เราเห็นได้หมด ว่าแต่ละภาคแต่ละเทอม เด็กชั้นหนึ่งห้องหนึ่งมีเกรดเฉลี่ยสูงต่ำอย่างไร ค่าตัวเลขพวกนี้เองที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเราต้องปรับปรุงหลักสูตรหรือการเรียนการสอนตรงไหน เพิ่มหรือลดอะไร อะไรคือจุดแข็งจุดอ่อน แล้วบทสรุปที่ได้จากข้อมูลนี้ จะนำมาใช้แก้ปัญหาของโรงเรียนหรือของนักเรียนได้ในทันที รวมถึงยังเป็นข้อมูลอ้างอิงในการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียนในภาคเรียนถัดไปได้อีกด้วย”

ผู้อำนวยการนิษฐเนตร กล่าวสรุปว่าการใช้ระบบ Q-Info ในระยะยาว จะกลายเป็นกลไกที่เชื่อมต่อสถานศึกษาทั้งประเทศไว้ด้วยกัน ทำให้การส่งรับข้อมูลหรือส่งต่อเด็กนักเรียนง่ายขึ้น นอกจากนี้ผลดีที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนและนักเรียน ยังทำให้ครูได้เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าที่แท้จริงของข้อมูล และช่วยตอบคำถามไปในตัวว่า ‘เราเก็บข้อมูลของเด็ก ๆ กันไปทำไม’ เพราะสิ่งที่ครูทุกท่านลงใจลงแรงไปนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ข้อมูลเหล่านี้เองที่จะกลับมาพัฒนาตัวนักเรียนได้จริง ๆ”