ประสบการณ์นอกตำราจาก “เด็กทุน” สู่ “เด็กทุน”

ประสบการณ์นอกตำราจาก “เด็กทุน” สู่ “เด็กทุน”

ไม่เพียงแค่การทำหน้าที่สอนหนังสือแต่บทบาทที่สำคัญของ “ครู”  คือการดูแลเอาใจใส่ “ลูกศิษย์”    ห้คำปรึกษา แนะนำการใช้ชีวิตถ่ายทอดบทเรียนที่มากกว่าในตำราให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตในวัยเรียนได้อย่างราบรื่น มีความสุข และจบออกมีงานทำมีอนาคตที่ดี

คล้ายกับชีวิต ของ ดร.คมสรรค์  ภูทอง หัวหน้าแผนกเทคโนโลยีธุรกิจดิจิตอล วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี  ที่ไม่แช่แค่ทุ่มเทสอนหนังสือ แต่ยังเอาใจใส่คอยให้คำปรึกษา ช่วยวางแผนการใช้ชีวิต ทั้งด้านสุขภาพ การเงิน การฝึกงาน ไปจนถึงถึงการใช้เวลาว่างให้กับนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยอาศัยประสบการณ์ตรงในฐานะที่ตัวเองก็เคยเป็นนักเรียนทุนคนหนึ่ง ทำให้รู้ว่าเส้นทางชีวิตจากนี้ต่อไปจะต้องเจอะเจอกับอะไรบ้าง

“มันเหมือนเป็นความผูกพันเพราะเราเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการไปค้นหาเด็ก เราไปชวนเขามาเรียน เด็กบางคนเกือบไม่มีโอกาสได้เรียนเพราะฐานะไม่ดี เราก็ไปชวนเข้าให้มาเรียนบอกว่ามีทุนจาก กสศ. นะ ทำให้เรารู้จักเด็ก รู้จักบ้าน รู้จักความเป็นอยู่ของเขา ช่วงแรกตอนเปิดเทอมที่ กสศ.ยังไม่โอนเงินมาเราก็ต้องไปคุยกับทางวิทยาลัยให้ผ่อนผันการชำระรอให้เด็กได้รับทุนก่อนค่อยไปจ่ายเงิน  หรือบางคนลำบากเดือดร้อนมายืมเงินเราก็ช่วยพอได้ทุนเขาก็โอนมาคืนเราก็ทำเท่าที่ช่วยได้”

 

ความผูกพัน ที่ช่วยมาตั้งแต่ต้นทาง
บางคนเกือบไม่ได้เรียนต่อ

ทั้งนี้  เด็กที่ได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. จะต้องมีผลการเรียนดี และมีฐานะยากลำบาก ดร.คมสรรค์ เล่าให้ฟังว่า  ตอนนั้นต้องลงไปตามโรงเรียนไปพูดคุยกับเด็ก คุยกับครูแนะแนวบางคนที่บ้านไม่มีสตางค์กำลังจะไม่ได้เรียนต่อเพราะฐานะทางบ้านไม่ดีเราก็โทรไปชักชวนให้มาเรียน อย่างด้าน โลจิสติกส์ ที่เด็กหลายคนยังไม่รู้จักว่าคืออะไรเรียนไปแล้วจะไปใช้ทำอะไรก็ต้องให้คำอธิบาย จนเขาได้มาเรียนแล้วเราก็พาเขาไปดูงานที่โรงงานโออิชิ จ.อยุธยา เลยว่าโลจิสติกมันสำคัญยังไง  พอเห็นภาพเขาก็เข้าใจและตั้งใจเรียนมากขึ้นหลายคนพอเทอมสองเกรดก็ดีขึ้น

สิ่งสำคัญคือตอนค้นหาเราต้องไปเยี่ยมบ้านเด็ก ซึ่งมี ทั้งที่อยู่ในจ.ชลบุรี ระยอง บางส่วนก็ไปถึงสุโขทัย นครราชสีมา  บางบ้านที่ไปเห็นเขาไม่มีทั้งไฟฟ้า ต้องใช้โซลาร์เซลล์ หรือไม่มีน้ำประปาต้องใช้น้ำบาดาล ตรงนี้ทำให้เรารู้สึกว่าต้องช่วยดูแลเขาเป็นพิเศษพอเขามาอยู่หอในวิทยาลัย เราก็คอยไปสอบถามอาจารย์ที่ดูแลหอว่าเด็กคนนี้ๆ เป็นยังไงบ้าง อาจารย์ก็บอกเป็นเด็กดีขยันคอยช่วยเหลืองานเราก็สบายใจ

 

 เสริมสร้างวินัยการเงิน ออมเดือนละ 500 บาท

“เรื่องการใช้เงินก็เป็นสิ่งสำคัญ ผมจะบังคับให้เด็กเขาออมเงินเดือนละ 500 บาท ให้เขาสมัครแอปพลิเคชั่นธนาคารเลย พอเงินออกเราก็ให้เขาเปิดดูเลยว่าออมจริงหรือเปล่า มีคนหนึ่งเขาไม่มีเงินเก็บเพราะต้องส่งเงินไปช่วยดูพ่อแม่ที่แก่เฒ่า เราก็ต้องคอยดูว่าเขากินอยู่ยังไง ที่ให้ความสำคัญกับการออมเงินเเพราะเราก็เคยเป็นนักเรียนทุนของกรมอาชีวะฯ ช่วงที่เรียนจบไม่ได้ทุน แล้วยังไม่มีงานต้องซื้อนั่นที่จำเป็นตอนนั้นจะลำบากมากเราจึงอยากให้เด็กได้เตรียมพร้อมไว้ และถือว่าเป็นการฝึกวินัยการใช้เงินด้วย”  

หลายครั้งที่ต้องแอบไปติดตามตรวจสอบการเข้าเรียนของเด็กแต่ละคน เมื่อพบว่าเด็กคนไหนขาดเรียนบ่อย ก็จะไลน์ หรือ โทรศัพท์ไปพูดคุยเพื่อสอบถามสาเหตุ ส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะเด็กจะเรียนระบบทวิภาคีคือ เรียนด้วยฝึกงานด้วยวันที่ฝึกงานเสร็จเลิกดึกมาเรียนวันรุ่งขึ้นมีเรียนเช้าก็ตื่นไม่ไหว ตรงนี้ก็ต้องคุยกันว่าเขาจะแก้ไขปัญหาอย่างไรส่วนใหญ่พอขึ้นเทอมสองก็รู้จักปรับตัวมาเรียนกันเยอะขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น  

 

ปลูกฝังเรื่องจิตอาสาจากผู้รับสู่การตอบแทนสังคม

แม้แต่เรื่องชีวิตส่วนตัว ดร.คมสรรค์ ก็ต้องคอยเข้าไปสอบถามให้คำปรึกษา เช่น เด็กบางคนมีพ่อแม่กดดันเราก็ต้องคุยกับเขาให้เขาสบายใจ บางคนทะเลาะกับญาติที่บ้าน เราก็เข้าไปดูเรื่องไหนแนะนำได้ก็ให้คำแนะนำ บางรายแต่บางกรณีถ้าคุยแล้วดูยากเกินความสามารถก็จะโทรเรียกนักจิตวิทยาซึ่งในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจะมีประจำอยู่มหาวิทยาลัยละ 1 คน ซึ่งในส่วนของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ โรงพยาบาลอยู่ฝั่งตรงข้ามจึงสะดวกมีปัญหาเขาก็ขี่มอเตอร์ไซค์ข้ามฝากเข้ามาคุยกับเด็กที่วิทยาลัยได้เลย   

ในฐานะที่เป็นเด็กทุนที่ได้รับโอกาส อ.คมสรรค์ พยายามปลูกฝังความคิดเรื่องจิตอาสา ตอบแทนคืนสังคม หากวันไหนว่างก็พอไปซื้อของแจกคนที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ซึ่งในช่วงแรกมีงบมาก้อนหนึ่ง หลังจากนั้นเราบอกเขาว่าถ้ามีโอกาสก็ให้ช่วยเหลือคนอื่นเดี๋ยวนี้เด็กเขาทำเองไปแล่นดนตรีเปิดหมวกมีเงินมาซื้อของทำอาหารแจกคนในพื้นที่ช่วงที่ COVID-19 ระบาด เราก็ภูมิใจว่าสิ่งที่เราปลูกฝังเขาไปมันเห็นผลเขาเป็นคนดี คิดดี ทำดี  เขาไปทำกันเองโดยไม่บอกเราด้วย เราไปเห็นในเฟซบุ๊กเขาเราก็เข้าไปชื่นชม   

“ทั้งหมดที่ทำก็เพราะเราทำแล้วมีความสุข ได้คุยกับเด็กทำในสิ่งที่เราทำได้ ให้ชีวิตได้เขาได้เจอสิ่งที่ดี มีอนาคตที่ดี เราให้โอกาสเขา เขาก็น่าจะไปได้ไกลมีอนาคตที่ดีขึ้น  เด็กกลุ่มนี้เราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเขาก็จะจบไปมีงานทำ หลายคนที่เราเห็นเปลี่ยนไปเยอะจากตอนที่เข้ามาใหม่ๆ บางคนยังไม่กล้าพูด พอมาเรียนสักพักก็เริ่มกล้าพูด เริ่มเสนอความเห็น เสนอความคิด ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราภูมิใจและมีกำลังใจที่จะทำตรงนี้ต่อไป”  ดร.คมสรรค์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค