พัฒนาหลักสูตรครูตามความต้องการชุมชน

พัฒนาหลักสูตรครูตามความต้องการชุมชน

ราชภัฎสุราษฎร์ ​ รุกลงพื้นที่
เก็บข้อมูลชุมนต่อยอดพัฒนมาครูตอบโจทย์พื้นที่

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นับเป็นอีกโครงการสำหรับที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล (Protected School หรือ Standalone) และเพิ่มโอกาสให้นักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจน

ด้วยการติดตามค้นหานักเรียนจากกลุ่มที่ยากจนที่สุด 20 %  ของประเทศ ที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี และมีจิตวิญญาณความเป็นครูได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพ ปีละประมาณ 300 คน จำนวน 5 รุ่น ศึกษาจนจบตามหลักสูตรและได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลระดับตำบลประมาณ 2,000 แห่ง  ภายในระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้ให้มีครูเพียงพอต่อความต้องการ

 

หยิบยื่นโอกาสถึงกลุ่มนักเรียน​ที่พลาดข่าวสาร

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าโครงการ หลายภาคีเครือข่ายได้ทำงานเชิงรุกลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ พร้อมหยิบยื่นโอกาสให้ถึงกลุ่มนักเรียน ที่อาจไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากส่วนกลาง

​วารวิชนี หวั่นหนู อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย  คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  เล่าให้ฟังว่า จากโจทย์ที่ได้รับจาก กสศ.  ทางทีมงานได้วางแผนการดำเนินการเริ่มตั้งแต่การรับเด็กซึ่งจะต้องลงไปถึงชุมชนท้องถิ่นของผู้เรียนโดยตรง

จากพื้นที่เป้าหมายในส่วนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีรับผิดชอบ คือ  ​จังหวัด กระบี่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี  เราได้ตั้งทีมงานเพื่อทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ เริ่มตั้งแต่การประสานหาข้อมูลจากสำนักพื้นที่ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ปลายทาง  ก่อนเริ่มลงมือทำสื่อประชาสัมพันธ์

“การประชาสัมพันธ์เราจะลงพื้นที่ไปทุกภาคส่วนเริ่มตั้งแต่การทำโปสเตอร์ แผ่นพับ แจกไปยังโรงเรียนในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย และโรงเรียนใกล้เคียงกับโรงเรียนปลายทางที่นักเรียนของเราเรียนจบและจะกลับมาบรรจุเป็นครู รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ทั้งหน้าเว็บไซต์มหาวิทยาลัย ติดเป็นแบนเนอร์รวมถึงเว็บไซต์โรงเรียน  เฟสบุ้ค กลุ่มไลน์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการรับสมัคร”

 

ดูสถานที่จริงลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชน

วารวิชนี อธิบายว่า หลังจากเผยแพร่ข้อมูลออกไปแล้วก็จะประสานไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ซึ่งจะเป็นคนที่ทราบข้อมูลในพื้นที่เป็นอย่างดีว่าใครยากจน เพื่อจะได้ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องอีกทางหนึ่งและเริ่มลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านเด็กเพื่อคัดกรองเบื้องต้นไปพร้อมกัน  ซึ่งเด็กบางคนยากจนจริง แต่ไม่ได้อยากเป็นครู เราก็ต้องลงไปเพื่อหาคนที่มีจิตใจเนื้อแท้อยากเป็นครูให้โครงการนี้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย

 “การลงพื้นที่เราจะได้เห็นสภาพบ้าน เห็นบริบทคนที่ผ่านเกณฑ์ ได้ถ่ายรูปบ้าน ได้คุยกับผู้ปกครองชี้แจงข้อมูลให้เขารับรู้เกี่ยวกับโครงการนี้  รวมทั้งยังได้เก็บข้อมูลบริบทชุมชน เช่นพื้นที่เกาะลันตาทำอาชีพประมงมีการปิดอ่าว มีช่วงว่างงาน6เดือน ​หรือพื้นที่พะโต๊ะ เขามีอาชีพ ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้านตรงไหน และถือโอกาสไปพูดคุยกับผอ.โรงเรียนที่เด็กเรียนจบแล้วจะกลับมาบรรจุเป็นครูเพื่อได้ประสานทำงานร่วมกันต่อไป”

 

พัฒนาหลักสูตรครูของท้องถิ่น

ที่สำคัญการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อจะได้เห็นสภาพพื้นที่และนำไปสู่การออกแบบการเรียนการสอนในอนาคต จากที่ได้วางแผนไว้ว่าแต่ละชั้นปีเด็กจะได้เรียนอะไร และมีกิจกรรมอะไร การรับฟังเสียงสะท้อนจากในพื้นที่ว่าเขาต้องการให้แก้ไขปัญหาอะไรในพื้นที่เช่นเด็กรวมตัวเล่นเกมมืดค่ำ หรือต้องการครูรูปแบบไหน ต่อไปก็จะได้ออกแบบได้ตรงตามความต้องการ ซึ่งช่วงปิดเทอมเด็กจะได้กลับไปเยี่ยมบ้าน ​เพื่อดูปัญหา และออกแบบว่าจะทำโครงการพัฒนาตรงไหนอย่างไร  

“การลงพื้นที่ครั้งนี้จึงถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์มากมาย ลงไปพื้นที่เห็นสภาพบ้านบางคนจนระดับไหน ลำบากยังไง ทำให้เราต้องมีความละเอียดขึ้น  ทั้งการเก็บ การวิเคราะห์ข้อมูล คำนวณ รายได้ รายรับ รายจ่าย รวมทั้งได้ชี้แจงถึงโครงการว่าคนที่เข้าโครการนี้ไม่ใช่แค่ฐานะยากจนซึ่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นทั้ง ทัศนคติ เจตคติ ความเป็นครูด้วย”​ วารวิชนี กล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค