เพาะเมล็ดพันธุ์ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’มุ่งมั่นเข้มอุดมการณ์ ปั้นห้องเรียนเสมอภาค พัฒนาการศึกษาทั่วประเทศ

เพาะเมล็ดพันธุ์ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’มุ่งมั่นเข้มอุดมการณ์ ปั้นห้องเรียนเสมอภาค พัฒนาการศึกษาทั่วประเทศ

หลังจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามความร่วมมือกับสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์) ถิ่น รุ่น 1 จำนวน 11 สถาบัน เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นใหม่ 328 อัตรา ในปีการศึกษา 2563 และจะมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล จำนวน 282 แห่ง ที่อยู่ในรัศมีพื้นที่การบรรจุอัตราครูรัก(ษ์) ถิ่นรุ่นที่ 1 ของทั้ง 11 สถาบัน ทางกสศ.จึงได้ระดมความคิดอาจารย์ทั้ง 11 สถาบัน ร่วมวางแนวทางสร้างครูรัก(ษ์)ถิ่นให้เกิดเป็นผลผลิตที่เปี่ยมล้นด้วยคุณภาพ

ถือเป็นก้าวสำคัญของการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ที่มีจิตวิญญาณของครูนักพัฒนาและมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่สำคัญยังช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนและโยกย้ายครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนของสถาบันผลิตครูฯ ซึ่งวางแบบแผนการพัฒนาโครงการออกเป็น 5 แนวทาง ได้แก่ 1.การค้นหาคัดกรองและคัดเลือกนักศึกษาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม 2.การจัดการศึกษาหลักสูตรประถมวัยและประถมศึกษาสำหรับนักศึกษาทุน 3.ระบบดูแลนักศึกษาและหอพักที่มีคุณภาพ 4.การจัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพนักศึกษาทุน และ5.การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูสำหรับนักศึกษาทุน

โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการได้แบ่งคณะอาจารย์ออกเป็น 5 กลุ่มตามแนวทางที่กำหนด จากนั้นได้ใช้เวลาแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ ค้นหาแนวทางที่เหมาะสมในการทำงานแต่ละพื้นที่ รวมถึงหาวิถีทางแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ จนได้ผลสรุปเบื้องต้นร่วมกัน และพร้อมดำเนินโครงการต่อไปเป็นลำดับ

สำหรับขั้นตอนแรกซึ่งถือว่าเป็นฐานรากของโครงการ คือการคัดกรองเด็ก ที่เน้นให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการค้นหาเด็กที่มีคุณสมบัติ เพื่อค้นหานักเรียนที่มีใจรักในวิชาชีพและมีความต้องการเป็นครูอย่างแท้จริง โดย กสศ. และสถาบันที่รับผิดชอบดูแลในภูมิภาคต่าง ๆ จะร่วมลงพื้นที่เฟ้นหาเด็กอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส นำมาพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ ปลูกฝังทัศนคติ ตลอดจนดูแลช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างและส่งมอบครูรัก(ษ์)ถิ่น คืนสู่ชุมชนเมื่อจบการศึกษา

ในด้านอื่นๆ นั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการยังได้มุ่งถ่ายทอดความสำคัญและความจำเป็นรอบด้าน สำหรับการสร้างนักศึกษาทุนให้พัฒนาไปเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น อย่างมีคุณภาพ ให้กับคณะครูอาจารย์จากทั้ง 11 สถาบัน ตั้งแต่การจัดการศึกษาหลักสูตรประถมวัยและประถมศึกษา ที่ต้องย้ำให้เห็นภาพสังคมโลกในอนาคตซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง นักศึกษาครูและเด็กนักเรียนรุ่นถัดๆไปจึงต้องมีความยืดหยุ่นรู้เท่าทัน สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ และสร้างสมดุลชีวิตได้ ครูจึงต้องปลูกฝังทักษะการคิดวิเคราะห์และการสังเคราะห์ เพื่อให้เด็กสามารถรับข้อมูลและนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้คนต่างวัฒนธรรมได้

ในส่วนระบบการดูแลนักศึกษาและหอพักให้มีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องสร้างหอพักที่สร้างเสริมทั้งในด้านชีวิตและวิชาการ ช่วยบ่มเพาะลักษณะนิสัยและกระตุ้นให้เกิดความต้องการเรียนรู้ ขณะที่การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มุ่งเน้นพัฒนาสื่อการสอนที่ทันสมัย สร้างทัศนคติด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ชาติพันธุ์ ตลอดจนเรียนรู้และอนุรักษ์ภาษาถิ่น สามารถเข้าใจบริบทแวดล้อมในท้องถิ่นของตนและเชื่อมโยงกับสังคมอื่นได้ ส่วนแนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพ การสร้างครูในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมด้าน Enrichment Program หมายถึงการพัฒนาความคิดในระดับสูง เช่น ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดเชิงเหตุผล รวมถึงเน้นการสร้างประสบการณ์ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษา กสศ. ได้กล่าวสรุปถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการระยะยาว โดยวางเป้าหมายสร้างนักศึกษาวิชาชีพครู 5 รุ่น ในช่วงเวลา 15 ปี ดังนั้นการทำงานจึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างฐานข้อมูลที่คณะทำงานทุกระดับสามารถเข้าถึง และส่งต่อได้ง่ายเพื่อความต่อเนื่องในการทำงาน

สำหรับครูรุ่นใหม่ นอกจากมีจิตวิญญาณความเป็นครูแล้ว ยังต้องทำงานร่วมกับชุมชนและสร้างผลกระทบทางบวกต่อชุมชนได้ นอกจากนี้ความสำเร็จของการศึกษาต้องเริ่มจากที่บ้าน ครูจึงต้องเข้าถึงผู้ปกครอง และมีความเข้าใจปัจจัยแวดล้อมของเด็กทั้งหมดทั้งที่บ้าน ในชุมชน จนถึงชีวิตในโรงเรียน

ขณะที่ ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษา กสศ. ระบุว่า เป้าหมายของโครงการ ครูรักษ์ถิ่น นอกจากค้นหานักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่ที่มีใจรักในความเป็นครูแล้ว นักศึกษาทุนยังต้องมีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการเป็นครูในพื้นที่ห่างไกล ในส่วนนี้ กสศ. และสถาบันเครือข่ายจะเป็นผู้เจียระไนนักศึกษาผู้มีใจรักในความเป็นครู ให้เป็นครูรักษ์ถิ่นที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้

“สิ่งที่จะทำให้ครูอาจารย์รุ่นใหม่อยู่รอดในท้องถิ่นห่างไกลได้ คือต้องเรียนรู้จากชุมชน จากลูกศิษย์ และนำมาปรับใช้และถ่ายทอดให้เกิดการพัฒนาต่อยอดได้ ณ ปัจจุบัน เรื่องของความรู้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เราไม่สามารถรอศึกษาจากบทเรียนของชาติอื่นที่มีความเจริญมากกว่าให้เขาสังเคราะห์ความรู้แล้วนำมาลอกแบบหรือนำมาใช้ได้อีกต่อไป แต่การสร้างหลักสูตรหรือบทเรียนจะต้องสังเคราะห์ขึ้นจากสถานการณ์จริง บริบทจริง ของพื้นที่นั้นๆ” ที่ปรึกษา กสศ. ระบุ

ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ กล่าวย้ำว่า ดังนั้นเราจึงต้องการครูที่เข้าใจการเรียนครบทุกด้าน มีความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ร่วมกับชุมชน และสามารถสร้างห้องเรียนเสมอภาคที่ช่วยพัฒนาเด็กเก่งไปพร้อม ๆ กับช่วยเหลือลูกศิษย์ที่ขาดแคลนทักษะความสามารถบางด้านให้ประสบความสำเร็จได้