นายกรัฐมนตรีใช้ “iSEE App” เรียกดู Big Data เด็กยากจนทั้งประเทศ

นายกรัฐมนตรีใช้ “iSEE App” เรียกดู Big Data เด็กยากจนทั้งประเทศ

นายกรัฐมนตรีใช้ “iSEE App” เรียกดู Big Data เด็กยากจนทั้งประเทศ ช่วยติดตามแก้ไขเหลื่อมล้ำทางการศึกษารายคน ด้านกสศ.โอนเงินช่วยนร.ยากจนพิเศษรอบแรก 4 แสนคน 26 ธค.นี้ พร้อมขยายเวลารร.ยืนยันรายชื่อเพิ่ม 7–11 มค. 62 ป้องกันตกหล่น

วันนี้ (25ธันวาคม) เวลา 09.00น. ที่ทำเนียบรัฐบาล  ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี  พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เยี่ยมชมนิทรรศการ
“เปิดประตูสู่โอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” และดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ “iSEE App” ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)  ลงในไอแพดของนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้เรียกดูข้อมูลรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษได้ทุกสถานที่และทุกเวลา ทั้งในรูปแบบกราฟฟิก ตารางสรุปข้อมูลสถิติ ข้อมูลภูมิสารสนเทศของสถานศึกษาทั้ง 30,000 แห่ง รวมถึงผลการเบิกจ่ายงบประมาณของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทั้งในระดับภาพรวมของประเทศ จังหวัด สถานศึกษา ไปจนถึงระดับผู้เรียนมากกว่า 500,000 คน

ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)  กล่าวว่า กสศ.วิจัยพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(Information System for Equitable Education) หรือ iSEE ระบบนี้ถือเป็นเครื่องมือช่วยให้รัฐบาล“มองเห็น”และ “ติดตาม”ข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างชัดเจนทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยเพื่อมอบนโยบายบูรณาการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้แก่หน่วยงานต่างๆ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ไม่ให้มีเด็กเยาวชนคนใดถูกทอดทิ้งจากความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป   โดยช่วงแรกระบบiSEE จะทำหน้าที่รายงานข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ภายใต้โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไขที่ กสศ. และสพฐ. เริ่มดำเนินงานในปีการศึกษา 2561

ดร.ประสาร  กล่าวว่า จากบทเรียนการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เช่น ประเทศบราซิลและเม็กซิโก พบว่าการใช้ระบบสารสนเทศสนับสนุนการจัดสรรเงินอุดหนุนผู้ยากจน และการกำหนด“เงื่อนไข”(Conditions) ในการรับเงินต่อเนื่องจะช่วยให้มาตรการลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาลมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงในการรั่วไหลของงบประมาณ  ซึ่งโครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer) หรือโครงการ CCT ของกสศ.ได้นำแนวทางดังกล่าวมาใช้เพื่อวางแผนดำเนินงานอย่างรัดกุมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดสรรเงินอุดหนุนของกสศ.สามารถป้องกันนักเรียนยากจนพิเศษไม่ให้หลุดออกจากการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการจัดสรรงบประมาณตรงตามข้อมูลความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง (Demand-side Financing) มิใช่การจ่ายแบบรายหัวทุกคนเท่ากันดังเช่นการถัวเฉลี่ยจ่ายหรือการกำหนดโควตาจัดสรรแบบในอดีตที่ผ่านมา

ประธานกองทุน กสศ. กล่าวอีกว่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองความยากจนของนักเรียนและครอบครัวให้มีความเที่ยงตรง กสศ. สพฐ. และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น CCT สนับสนุนการคัดกรองรายได้ทางอ้อม (Proxy MeansTest: PMT) ช่วยให้ครูสังกัด สพฐ.
มากกว่า 30,000 คนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลนักเรียนโดยประหยัดเวลาและทรัพยากรในการบันทึก

จัดส่งข้อมูลประเภทต่างๆ ได้แก่ ข้อมูลรายได้ สถานะครัวเรือนและภูมิสารสนเทศของนักเรียนและครอบครัว รวมถึงครูใช้ในการติดตามและบันทึกผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับเงินอุดหนุนของนักเรียนยากจนพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพได้แก่ เงื่อนไขการรักษาอัตราการมาเรียนให้เกินกว่าร้อยละ 80 ตลอดปีการศึกษา2561 และเงื่อนไขน้ำหนักส่วนสูงนักเรียนยากจนพิเศษให้มีพัฒนาการที่สมวัยตามเกณฑ์มาตรฐาน  ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ครูสามารถดำเนินการโดยไม่ใช้กระดาษแม้แต่แผ่นเดียว (Paperless) โดยครูและสถานศึกษาจะสามารถติดตามผลการจัดสรรเงินอุดหนุนของ กสศ. และ สพฐ. ของนักเรียนมากกว่า 500,000 คนได้เป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน15 ปี ช่วยให้รัฐบาลและประชาชนผู้เสียภาษีทราบได้ว่าการลงทุนของรัฐผ่าน กสศ. สามารถสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับนักเรียนยากจนพิเศษได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
อย่างแท้จริง

“ล่าสุดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยและกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้ประสานงานมาที่ กสศ. เพื่อขอจัดทำความร่วมมือเพื่อนำระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)และแอพพลิเคชั่นดังกล่าว รวมทั้งนวัตกรรมการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนอย่างมีเงื่อนไขนี้ไปสนับสนุนมาตรการดูแลนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดของตนอีกราว 2,000 แห่งในปีการศึกษา 2563 ต่อไป” ดร.ประสาร กล่าว

ด้านนายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ผลการบันทึกข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561  พบว่ามีจำนวนนักเรียนที่จะได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไขในรอบแรกจำนวน 397,493 คน ขณะที่อีก 75,363 คน จาก 416 โรงเรียนยังยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น ขาดภาพการประชุมรับรองรายชื่อรวมถึงเลขที่บัญชีธนาคาร ซึ่งกลุ่มนี้คุณครูกรุณารวบรวมเอกสารยื่นเพิ่มเติม  และอีกประมาณ 6,655 โรงเรียน ยังไม่มีการบันทึกข้อมูลเข้ามา โดยทางกสศ.ได้ขยายเวลาให้โรงเรียนกลุ่มหลังนี้บันทึกผลการรับรองข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษ (นร.05) ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสถานศึกษาแล้ว ผ่านระบบ CCT นร.05  ได้อีกครั้งระหว่างวันที่  7 – 11 มกราคม 2562

“ทุกกระบวนการกสศ.ใช้เทคโนโลยีช่วยพิสูจน์ยืนยัน ตั้งแต่การค้นหา ตรวจสอบการโอนเงิน
การติดตามผลตามเงื่อนไข และยังผ่านการรับรองอย่างมีส่วนร่วมจากคณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชนท้องถิ่นและผู้ปกครองรวมแล้วกว่า 150,000 คน เพื่อให้สังคมเชื่อมั่นในความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการทำงานล่าสุด กสศ.ได้ประสานไปยังสพฐ.เพื่อส่งรายชื่อของโรงเรียนที่ยังไม่ได้บันทึกข้อมูลใดใดเลยทั้ง 6,655 แห่งข้อมูลดังกล่าวจะชี้เป้าให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประสานติดตามไม่ให้มีเด็กนักเรียนคนไหนเสียโอกาสใน การได้รับเงินอุดหนุนครั้งนี้  สำหรับรายชื่อที่นักเรียนที่ผ่านการรับรองแล้วทั้ง 397,493 คน กสศ.จะเริ่มโอนเงินอุดหนุนให้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2561
โดยจะแล้วเสร็จภายใน 7 วันทั้งนี้จะดำเนินการให้กับจังหวัดที่มีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดก่อน  สำหรับรายชื่อ 10 จังหวัดแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน  ตาก นราธิวาส ยะลา น่าน สตูล เชียงใหม่ ปัตตานี  นครราชสีมา มหาสารคาม” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว