สิงคโปร์เล็งบรรจุหลักสูตรสุขภาพจิตให้เด็กประถม
โดย : Ang Hwee Min - Channel News Asia
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

สิงคโปร์เล็งบรรจุหลักสูตรสุขภาพจิตให้เด็กประถม

กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์เผย มีนโยบายบรรจุหลักสูตรวิชาสุขภาพจิตให้กับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับวิทยาลัยในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐานในการรับมือกับปัญหา รวมถึงเสริมความเข้มแข็งทางด้านจิตใจเพื่อให้เผชิญกับความท้าทายต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

ชาน ชุน ซิง (Chan Chun Sing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์เปิดเผยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ทางกระทรวงมีแผนการที่จะบรรจุหลักสูตรวิชาเกี่ยวกับสุขภาพจิตและจิตวิทยาให้กับนักเรียนระดับประถม มัธยมศึกษา และวิทยาลัย ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาสำหรับพลเรือนสิงคโปร์ในแต่ละปี โดยก่อนหน้านี้มีการบรรจุหลักสูตรสุขภาพจิตให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยและนักเรียนอาชีวะเรียบร้อยในช่วงกลางปีที่ผ่านมา รวมถึงทดลองให้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมต้นทั่วประเทศได้ลองเรียนมาสักระยะหนึ่งแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์กล่าวว่า กระทรวงมีความตั้งใจที่จะติดอาวุธให้นักเรียนด้วยความรู้และทักษะที่สามารถบ่มเพาะ หล่อหลอมให้นักเรียนมีสุขภาพจิตที่แข็งแกร่ง สามารถเผชิญหน้ากับอุปสรรคและความท้าทายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการเปิดเผยครั้งนี้มีขึ้นในระหว่างที่รัฐมนตรีเข้าร่วมงานเปิดตัวหนังสืออีบุ๊กที่รวมเรื่องราวความหลากหลายของเยาวชนจากหลากภูมิหลัง

“เยาวชนของเราทุกวันนี้ต้องเผชิญกับความกดดันมากมาย พวกเขาต้องรับมือและจัดการกับทักษะชีวิตทางสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องจัดสมดุลในด้านการเรียนและการไล่ตามความฝันด้านวิชาชีพของตนเอง พวกเขาต้องจัดการกับความคาดหวังที่ทั้งบังคับตนเอง และถูกสังคมและครอบครัวบังคับ ต้องเรียนรู้ที่จะนำทางและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง และมาตรฐานสูง”

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ยังย้ำว่า เหนือสิ่งอื่นใด เยาวชนของสิงคโปร์ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน เนื่องจากเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมีส่วนในการกระตุ้นความรู้สึกวิตกกังวลและเพิ่มแรงกดดันทางสังคมในหมู่เยาวชน

ยิ่งไปกว่านั้น นอกเหนือจากบทเรียนด้านสุขภาพจิตแล้ว โรงเรียนทุกแห่งต้องจัดสรรเวลาและพื้นที่ในช่วงเปิดเทอมเพื่อให้ครูสามารถตรวจสอบสถานะสุขภาพจิตของนักเรียนตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไปอีกทางหนึ่งด้วย โดยทางกระทรวงจะจัดสรรเครื่องมือและคู่มือเพื่อให้ครูสามารถเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบ และสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่และจิตใจของนักเรียนได้อย่างเต็มที่

“ตัวกิจกรรมและบทเรียนได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้ครูเริ่มบทสนทนาเปิดใจกับนักเรียนเพื่อแบ่งปันและหารือเกี่ยวกับปัญหาความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมุ่งมั่นในชั้นเรียนที่จะดูแลซึ่งกันและกัน เพราะการดูแลแบบนี้เป็นหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญของสิ่งที่โรงเรียนจำเป็นต้องมี”

ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงยังวางแนวทางให้โรงเรียนมีโครงสร้างสนับสนุนเพื่อนร่วมชั้นเรียน (Peer Structure) ที่จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มเสี่ยงหรือเด็กในพื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึง ตลอดจนดึงศักยภาพความสามารถของเด็กออกมาโดยผ่านเพื่อนร่วมชั้นเรียน

ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้กลุ่มผู้ปกครองเพิ่มเติมบทบาทในการให้ความช่วยเหลือพ่อแม่หรือครอบครัวที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ โดยพบว่า จนถึงขณะนี้มีกลุ่มผู้ปกครองกว่า 25 กลุ่มทั่วประเทศ มีโครงการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

“บางคนช่วยด้วยการแบ่งปันข้าวของ หรือให้พ่อแม่ที่เดือดร้อนเข้าถึงความช่วยเหลือของทางการ หลายส่วนมีการจัดกิจกรรมแบ่งบันเคล็ดลับและคำแนะนำในการจับสัญญาณความเครียด ความกังวล ตลอดจนหนทางในการขอความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์ต่อไป”

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังกระทรวงสาธารณสุขได้ก่อตั้งคณะทำงานเพื่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี และโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการก็มีบทบาทอย่างมากในการช่วยสนับสนุนเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งการจัดตั้งคณะทำงานดังกล่าวเพื่อดูแลจิตใจและร่างกายจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในการทำงานจากทุกภาคส่วนของรัฐบาล

นอกจากนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการยังได้รับร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัวในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัว เด็ก และเยาวชนในการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ขณะที่ความร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็เพื่อช่วยให้เยาวชนและพ่อแม่ได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตต่างๆ รวมถึงให้คำแนะนำพ่อแม่ในการดูแลเสริมสร้างให้ลูกหลานเติบโตขึ้นมามีจิตใจที่แข็งแกร่งต่อไปได้ ตลอดจนควบคุมศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย พร้อมๆ กับจัดการกับผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจิตของเยาวชนสิงคโปร์

ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ยังย้ำว่า ประเด็นที่ส่งผลต่อความผาสุกทางจิตนั้นมีหลายแง่มุม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความหลากหลาย เพื่อให้เกิดความผาสุกทางจิตใจของเยาวชนอย่างรอบด้าน

“เราต้องร่วมมือกันหาวิธีทำให้โลกดิจิทัลปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับเยาวชนของเรา เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์กล่าวปิดท้าย

ที่มา : Mental health lessons to be progressively rolled out to primary, secondary and pre-university students over next 2 years