เทคโนโลยีทางการศึกษา ช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ

เทคโนโลยีทางการศึกษา ช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ

หมุนแผนที่ไปใจกลางเมืองมุมไบ อินเดีย เมืองที่เป็นศูนย์กลางของประเทศ เเละเป็นพื้นที่ของสถาบันทางการเงินในอินเดียเช่นกัน เราจะได้เห็นภาพพนักงานที่จบการศึกษาระดับสูงเดินไปมาเตรียมพร้อมเข้าประชุมธุรกิจ โดยแน่นอนว่าในมือ หรือกระเป๋าใกล้ตัวจะมีทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต จนถึงเเล็ปท็อป

เพียงไม่กี่กิโลเมตรออกไปจากมุมไบ เราได้เห็นครอบครัวนับพันครัวเรือนที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชุมชนแออัด ไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้าเเละน้ำสะอาด

ภาพนี้เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นชัดในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างความรวย และความจน การได้รับการศึกษา และไม่ได้ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีปัญหานี้เช่นกัน ในส่วนของภาคการศึกษาเองก็ได้มีสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยีทางการศึกษา (edtech) ที่จะเป็นตัวช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้

เจย์ เทอวิลลิเจอร์ (Jay Terwilliger) นักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญ และผู้ริเริ่มขับเคลื่อนเทคโนโลยีทางการศึกษาในอินเดีย เจย์กล่าวกับ Study International ว่า edtech นั้นจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับภูมิภาคต่างๆ ในอินเดียได้

Edtech นั้นเป็นสิ่งที่สร้างความเท่าเทียมได้ดี ถ้าหากเรากำลังพูดถึงโครงสร้างทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย แหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่หนึ่งเดียวที่ดีที่สุดก็คือ อินเทอร์เน็ต และการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันนั้นก็เป็นสิ่งที่มีต้นทุนราคาถูกอย่างมาก

ซึ่งทางรัฐบาลอินเดียเองกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อเอาชนะความไม่เท่าเทียมเหล่านี้

“ความไม่เท่าเทียมทางดิจิทัลนั้นสามารถจัดการได้ง่ายกว่า และถูกกว่าปัจจัยอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น การจัดการห้องเรียนที่มีขนาดใหญ่ การขาดการเข้าถึงการเรียนตามระบบ ครูผู้สอนที่เตรียมการสอนไม่ดีพอ โภชนาการอาหารที่ไม่ดี และการใช้แรงงานเด็ก เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่า ใช้เวลาในการแก้ไขนานกว่า และต้นทุนทางงบประมาณที่มากกว่า – เจย์ เทอวิลลิเจอร์”

สอดคล้องกับสิ่งที่ เนล จาร์เรตต์ (Niel Jarrett) ครูผู้สอนในโรงเรียนอินเตอร์ที่เซี่ยงไฮ้ จีน เเละเป็นนักเขียนด้าน edtech ได้อธิบายไว้

ที่มาภาพ : Edtech 4 Beginners

edtech ไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มความรู้สำหรับนักเรียนเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสให้คุณครูได้ปรับวิธีการสอนให้มีความหลากหลายมากขึ้นอีกด้วย

การเรียนออนไลน์นั้น ผู้เรียนสามารถปรับการเรียนรู้เข้ากับจังหวะของตัวเองได้ สเตฟานี สตีเวนส์ (Stephanee Stevens) ผู้อำนวยการแห่ง  iTeach ตระหนักถึงคุณค่าของเทคโนโลยีการศึกษาว่าเป็นโอกาสในการที่ผู้เรียนจะพัฒนาทักษะการรู้จักตัวเอง และทักษะด้านการจัดการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอเรียกว่า “การเรียนรู้เฉพาะบุคคล”

 

เทคโนโลยีการศึกษากับความไม่เสมอภาคในทวีปเอเชีย

การศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคอย่างมากในเอเชีย ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) ระบุว่า คนทำงานที่มีพื้นหลังทางการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบนั้น ย่อมมีแนวโน้มของรายรับที่เพิ่มมากขึ้น แต่บุคลากรที่ทำงานด้านการศึกษาในเอเชียกว่า 25-35% กลับมีรายรับที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงปัญหาเรื่องการไม่เข้าเรียนของเด็กนักเรียนอีกหลายคน

รายงานจาก UNICEF เองระบุว่า ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนนักเรียนที่ไม่ได้เข้าเรียนตามระบบการศึกษามากถึง 30 ล้านคน โดยยังมีเด็กวัยอนุบาลอีก 16 ล้านคนที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษา ทั้งยังมีรูปแบบการศึกษามัธยมปลายเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย 600 ล้านคน แน่นอนว่าบางคนได้รับโอกาส แต่เด็กบางกลุ่มก็หลุดจากระบบการศึกษาต่อตรงนี้ไปโดยสิ้นเชิง

ในระดับมหาวิทยาลัย นักศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มว่าเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ในจีนนั้นมีตัวอย่างที่เรียกว่า “เต่าทะเล” หมายถึงว่าในแต่ละปีมีนักศึกษากว่า 400,000 คนไปเรียนต่อต่างประเทศ และนำชุดความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ภายในประเทศ

คำถามคือ แล้วเทคโนโลยีการศึกษาจะมีที่ทางอยู่ตรงไหน?

 

Edtech คือสะพานนำความรู้มาสู่ผู้เรียนได้มากขึ้น

แพลทฟอร์มออนไลน์จะผสมผสานเข้ากับรูปแบบการเรียนมากขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับ e-learning สำหรับเด็กนักเรียนในแต่ละพื้นที่

ตัวอย่างจาก Kelase บริษัทที่ให้บริการด้าน e-learning เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เรียน ขับเคลื่อนโดยรัฐและโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง รวมถึงสถาบันการเรียนรู้ต่างๆ ในอินโดนีเซีย ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนประถมศึกษา Sukapura State Elementary School ในจาการ์ต้า ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจน โรงเรียนได้ใช้บริการแพลทฟอร์มออนไลน์จาก Kelase และปรับการเรียนเป็นดิจิทัล ผ่านอุปกรณ์อย่างมือถือ หรือแท็บเล็ต ที่ได้รับมอบจากรัฐบาลในการเข้าถึงเนื้อหาการเรียน ได้ตอบแบบฝึกหัดและใช้สอบวัดระดับในโรงเรียน รวมถึงมีการนำอุปกรณ์เหล่านี้กลับบ้าน และแชร์บทเรียนหรือแบบฝึกหัดให้กับเด็กคนอื่นๆ ในพื้นที่จาการ์ตาที่ไม่อาจเข้าถึงระบบการศึกษาได้

หรืออีกตัวอย่างคือ แอปพลิเคชัน Byju จากประเทศอินเดีย แอปฯ ที่รวมระดับการเรียนรู้ตามหลักสูตร เพื่อแก้ปัญหาระบบการศึกษาของอินเดีย คือเรื่องของการขาดแคลนครูที่มีประสิทธิภาพ แอปฯ นี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง เหมาะสม และเชื่อมโยงเข้ากับหลักสูตรการเรียนที่หลากหลาย ปัจจุบันนี้มีผู้ใช้งานกว่า 30 ล้านคน

ในไทยเองมี Edtech มากมาย ขอยกตัวอย่าง OpenDurian “เปิด-ดู-เรียน” เป็น EdTech Startup ในรูปแบบของแพลทฟอร์มบทเรียนออนไลน์ที่คำนึงถึงความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียน โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเอาไว้มากมาย วิเคราะห์ความเหมาะสมสำหรับแผนการเรียนการสอนต่างๆ คัดกรองเนื้อหา และระยะเวลาเรียนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้เรียน แนวคิดของ OpenDurian เริ่มต้นมาความต้องการปลี่ยนแนวทางการศึกษาในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จึงได้สร้างแพลทฟอร์มเพื่อพัฒนาการศึกษา และช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถเตรียมตัวสอบได้ดียิ่งขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเพจ OpenDurian TCAS

เทคโนโลยีด้านการศึกษาจึงควรให้ความหมายว่า ประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นสำหรับการเรียนรู้และการสอนความรู้ อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนเข้าถึงการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา คอร์สออนไลน์ต่างๆ ก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนจากทั่วโลก ที่มีพื้นหลังทางการศึกษาที่ต่างกัน มีอายุที่ต่างกัน แต่ได้โอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ที่เท่ากัน ดังนั้นเเล้ว การศึกษา คือ มาตรการขั้นพื้นฐานที่มีเป้าหมายบรรเทาความยากจน มองเห็นกลุ่มผู้เรียนที่ด้อยโอกาส และสร้างพื้นที่ในการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นปัจจุบัน 

 

ที่มา :