เสี่ยงหลุด / หลุดไปแล้ว / สู้ชีวิตบนท้องถนน : สำรวจสถานการณ์ที่เด็กนอกระบบกำลังเผชิญ
โดย - ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล ผู้ประสานงานเครือข่ายการทำงานเด็กนอกระบบการศึกษา 41 เครือข่าย

เสี่ยงหลุด / หลุดไปแล้ว / สู้ชีวิตบนท้องถนน : สำรวจสถานการณ์ที่เด็กนอกระบบกำลังเผชิญ

โรงเรียนหลายแห่งอาจเปิดเทอมแล้ว แต่ขณะเดียวกันยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้กลับไปเข้าห้องเรียน บางคนอยู่ในสถานการณ์ “เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา” ขณะที่บางคนกลายเป็น “เด็กนอกระบบการศึกษา” ไปเรียบร้อย ยิ่งกว่านั้น เด็กบางส่วนต้องออกมาทำงานบนท้องถนน ช่วยเป็นเรี่ยวแรงหารายได้เลี้ยงครอบครัวอีกทาง

เด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหลุดจากระบบ, เด็กนอกระบบ,​ รวมถึงเด็กกลุ่มที่ต้องทำงานบนท้องถนนเพื่อจุนเจือครอบครัวนั้น ปัจจุบันมีจำนวนมากและกระจายอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ในเส้นทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การส่งเสริมและผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้มีชีวิตที่ดีขึ้น น่าจะเป็นหนึ่งในภารกิจที่ทั้งสังคมควรมีบทบาทร่วมกันไม่มากก็น้อย 

ในบทความนี้ ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล ผู้ประสานงานเครือข่ายการทำงานเด็กนอกระบบการศึกษา 41 เครือข่าย ได้ช่วยชี้แจงให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ รวมถึงเปิดเผยว่ามีเครื่องมือและปัจจัยอะไรที่เราจะสามารถช่วยขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้ลุล่วงได้บ้าง

เสี่ยงหลุด / หลุดไปแล้ว / สู้ชีวิตบนท้องถนน : ชวนรู้จักสถานการณ์ที่เด็กกำลังเผชิญ

เด็กที่เสี่ยงหลุดจากตัวระบบการศึกษามีประมาณ  30% ปัจจัยการเสี่ยงหลุดเกิดจากสถานการณ์ความยากจน รวมถึงภาวะโควิด ยากจนแบบเฉียบพลัน โดยไม่ได้หลุดแค่เด็กในโรงเรียนประถมและมัธยมที่สังกัด สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เท่านั้น ทว่าแม้กระทั่งโรงเรียนเอกชนก็หลุดออกมา ประเด็นนี้ทำให้เด็กเกิดสภาวะยากลำบาก ถ้าเป็นเด็กยากจนอยู่แล้วก็ต้องออกมาช่วยเหลือครอบครัวเพื่อหารายได้พิเศษ รายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษายากขึ้น ครั้นจะกลับเข้าสู่ระบบก็มีข้อจำกัดและเงื่อนไขเต็มไปหมด เด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “เด็กเสี่ยงหลุด”

ในส่วนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา แน่นอนเขาต้องอยู่ในอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่ต้องเลือกขึ้นมาเพื่อปากท้อง แถมเด็กเหล่านี้ยังต้องเลี้ยงดูครอบครัว อย่างกรณีที่วัดแห่งหนึ่งในอยุธยา เด็กขายช้างให้นักท่องเที่ยว เขาใช้อาชีพขายช้างเลี้ยงน้องเขาจำนวนสามถึงสี่คน แล้วก็มีคุณพ่ออยู่ในเรือนจำ เขาจะส่งน้องเขาสามคนเข้าโรงเรียน ในช่วงโควิดก็จะมีเรียนออนไลน์ ตัวเขาเองหลุดออกมานานแล้ว โอกาสกลับเข้าไปน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย

ยิ่งเด็กบนท้องถนน ไม่ต้องพูดถึง การศึกษาที่หลุดออกมานานแล้ว เขาเป็นเด็กอยู่บนท้องถนน อาศัยตามจุดที่พอพักได้ก็จะพักไป เด็กเหล่านี้ต้องการสงเคราะห์ด้วย การสงเคราะห์อย่างเดียวไม่พอ ก็ต้องการเปิดโอกาสในการที่ทำให้เขาได้มีการศึกษาที่จับต้องได้จริง แต่ถ้าเอาเด็กกลุ่มท้องถนนเข้ามาในส่วนของโรงเรียน โดยปกติเด็กจะปรับตัวลำบากหรือยากแล้ว และสังคมตรงนั้นอาจยอมรับเขาน้อยลงหรือมีภาพอะไรบางอย่างเป็นโทนเทาๆ อาจจะปรับตัวไม่ได้ 

เด็กบนท้องถนนมีอยู่เยอะเหมือนกัน ไม่ใช่มีแค่กรุงเทพฯ อย่างเดียว กาญจนบุรีก็มี ตามหัวเมืองใหญ่ๆ มีกระจายไป สิ่งที่ช่วยเด็กกลุ่มเหล่านี้คือ การศึกษาที่สอดคล้องและเหมาะสมกับเขา เพื่อให้เขาสามารถมีทักษะชีวิต ทักษะที่จะดูแลสุขภาพ ภาวะเรื่องเพศ การเอาตัวรอดได้บนฐานของสังคมอาชญากรรม ทักษะดูแลกายและสุขภาวะด้านใจ มีใจเข้มแข็ง ปรับตัวกับสภาพแวดล้อม 

และสุดท้ายในเรื่องของสังคมที่เขาอยู่ อาจจะคุยเบื้องต้นก่อนว่า การที่เด็กเหล่านี้รวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นเครือข่าย จากที่เดี่ยวๆ ก็ปรับเป็นกลุ่มให้เขาอยู่ร่วมกันได้ ก็เป็นการศึกษาที่ทำให้เขามีทักษะชีวิต และเริ่มจะมีทักษะอาชีพในการที่เลี้ยงดูตัวเองได้ตรงตามทิศทางถูกต้อง เป็นอาชีพที่สุจริต ก็ช่วยเขาจัดการเรื่องอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค้าขาย ส่วนใหญ่เป็นอาชีพขายพวงมาลัย อาชีพเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว ขายของที่ระลึก ก็อาจมีต้นทุน กองทุนสำหรับเขา ถึงแม้ดูเป็นอาชีพที่ไม่เป็นอาชีพหลัก แต่สิ่งเหล่านี้ยังสร้างรายได้ให้เขา เป็นไกด์ อย่างที่สังขละก็มีกลุ่มเด็กแบบนี้อยู่ คิดว่าจะช่วยได้ในเบื้องต้น

สองสิ่งต้องเติมคือ ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพเสริม

การช่วยเหลือในเบื้องต้นเรื่องทักษะชีวิตก่อน ให้เขามีความเชี่ยวชาญ มีทักษะเรียนรู้ในการดำรงชีพของเขาโดยที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานบาดแผลทางใจ ให้เขาสามารถเข้มแข็ง ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง มีจุดในการตัดสินใจที่คิดจะทำสิ่งที่ดีกับตัวเขา ทักษะชีวิตเป็นอันดับแรกก่อน ต่อมาก็เป็นทักษะอาชีพที่ต้องเพิ่มให้เขา 

เราต้องช่วยลดปัจจัยเสี่ยงลง ในยุคสมัยนี้ต้องเป็นการศึกษาเรียนรู้ที่ต้องกินได้ แม้กระทั่งเด็กในระบบที่อยู่ในภาวะยากจน เขาก็ต้องเรียนได้และต้องมีรายได้ด้วย เขาถึงจะอยู่ได้ หรือเด็กที่หลุดจากระบบ ต่างกันนะ เขาต้องมีรายได้ด้วยและต้องมีการเรียนรู้ที่เพิ่มทักษะชีวิตของตัวเองด้วย จึงจะยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ปรับการศึกษาให้สอดคล้องกับคนเรียนด้วย ต้องปรับรูปแบบการศึกษาใหม่ เป็นการศึกษาที่เปิดกว้าง ปลดปล่อยให้คนมีอิสระในการคิด ช่วยให้เขามีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพด้วย รูปแบบการนั่งอยู่ในห้องเรียนแล้วท่องจำเพื่อเอาไปสอบแข่งขัน อาจจะไม่เหมาะสำหรับยุคนี้ 

กองทุนเร่งด่วนและระบบช่วยเหลือฉุกเฉิน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องมี

ข้อเสนอ อยากให้มีกองทุนเร่งด่วนช่วยเหลือสำหรับเด็กกลุ่มเหล่านี้ เด็กที่เปราะบาง หลุดจากระบบ เด็กกลางถนน อยากให้มีทุนสนับสนุนตรงถึงเขา ตรงจุด และทันการณ์ ถ้าไม่ทันการณ์ก็ไม่รู้เขาจะไปไหนต่อไหน เพราะเด็กบางคนอาจจะไปอยู่สถานพินิจแล้ว ก็ต้องช่วยอีกสเต็ปหนึ่ง

อีกข้อคือ มีรูปแบบช่วยเหลือฉุกเฉินที่ทันการณ์ และต้องต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่ช่วยได้แค่นี้ก็จบ แต่เราต้องพัฒนาในเชิงระยะยาวด้วย เราถึงได้เด็กที่มีคุณภาพจริงๆ จากที่เป็นเมล็ดพันธุ์มีรอยร้าว ก็ต้องมาซ่อมสร้างเสริม ให้เขาสามารถจัดการตัวเองได้ แล้วเขาจะเป็นทรัพยากรบุคคลที่ดีได้ ความเป็นพลเมืองเข้มแข็งก็จะอยู่ที่เขา

ก็เลยคิดว่ากองทุนฉุกเฉินต้องมีส่วนร่วม ไม่ได้เป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง กสศ.จะเป็นองค์กรที่เหนี่ยวนำก็ได้ แต่ทั้งภาคธุรกิจ ทั้งจิตอาสาที่อยากมาร่วม หรือหน่วยงานรัฐ คืออยู่บนฐานของความร่วมมือที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่บริจาคหรือมาช่วยกันอย่างเดียว ทำให้สังคมเรียนรู้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กเยาวชนกลุ่มเหล่านี้ร่วมกัน เพราะเป็นปัญหาทางสังคม มิใช่เป็นปัญหาของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะฉะนั้นคนในสังคมน่าจะมีส่วนร่วมมือกันในการแก้ปัญหานี้ สร้างจิตสาธารณะ ต่อไปอาจเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกันที่จะเข้ามาดูแลกลุ่มเด็กเหล่านี้ค่ะ