‘ไม่มีโอกาสวันนั้น ไม่มีพวกเราวันนี้’ เรื่องเล่าของเด็กชายจากหมู่บ้านชาวประมง

‘ไม่มีโอกาสวันนั้น ไม่มีพวกเราวันนี้’ เรื่องเล่าของเด็กชายจากหมู่บ้านชาวประมง

“ผมเชื่อว่าพวกเราโชคดีมาก ๆ ที่ได้มาร่วมกันทำงานนี้ ถ้ามองย้อนกลับไป ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ชวนคิด ว่าสิ่งที่ทำให้เรามานั่งกันอยู่ตรงนี้ได้ นั่นเพราะพวกเราได้รับการศึกษา ซึ่งหากมองในมุมกลับว่าถ้าทุกคนไม่มีโอกาสในวันนั้น เราอาจกลายเป็นใครอีกคน ที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรอยู่ตรงไหนในวันนี้ เช่นเดียวกับตัวผมเองที่คงไม่ได้มายืนพูดกับทุกคนอยู่ตรงนี้”

รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อนุกรรมการ
การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ.

จากคำกล่าวปาฐกกถาวันเปิด ‘โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ จังหวัดสุราษฎร์ธานี’ ปี 2565 ของ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อนุกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ย้ำถึงความสำคัญของ ‘โอกาสทางการศึกษา’ โดยเฉพาะในงาน Area-based Education: ABE หรือ ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ เพื่อพัฒนารูปแบบกระบวนการจัดการศึกษาระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ลงไปถึงระดับชุมชนหมู่บ้าน โดยสร้างการมีส่วนร่วมระยะยาวของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเครื่องมือนวัตกรรม สร้างโอกาสให้เด็กเยาวชนทุกกลุ่มและทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา พร้อมค้นหาติดตามเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้มีโอกาสกลับมาเรียนรู้พัฒนาตนเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ด้วยการศึกษาทั้งในและนอกระบบ

โดยงานที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งนำโดย อบจ. และ สมัชชาการศึกษาจังหวัด สุราษฎร์ธานี รวบรวมทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ ประชาสังคม ได้ดำเนินมาแล้วเป็นเวลาสองปี และเตรียมขับเคลื่อนต่อเนื่องในปี 2565 เพื่อความยั่งยืน และเพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดกับเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ และคนทุกคนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

รศ.ดร.ซุกรี กล่าวว่า ขณะนี้ที่คณะทำงานหลายฝ่ายมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เชื่อว่าทุกคนมีความรู้สึกตรงกันว่าพวกเรากำลังทำงานสำคัญชิ้นหนึ่ง เป็นงานที่แต่ละคนสื่อสารถึงกันได้ ในความความเห็นอกเห็นใจ ในความเศร้า ในความเป็นห่วงเป็นใย กับความยากลำบากทุกข์ร้อนของน้อง ๆ และครอบครัวของเขา แต่อีกด้านหนึ่ง เราเองต่างก็ได้สัมผัสถึงความสุขความตื้นตัน ว่าสิ่งที่ทุกคนทุ่มเทพยายามทำ กำลังสร้างคุณค่านับอนันต์ให้กับเด็กเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสจำนวนมาก

ทุกครั้งที่ย้อนคิดว่าสิ่งที่ทำให้พวกเรามาอยู่ตรงนี้ได้คือ ‘การศึกษา’ จะทำให้ผมคิดไปถึงเรื่องราวเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ว่า ‘เรา’ เคยเป็น ‘ใคร’ ในวันนั้น ซึ่งผมต้องขออนุญาตเล่าเรื่องราวของเด็กชายวัยราว 9-10 ขวบคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชาวประมงริมชายทะเล ในบ้านที่โครงสร้างไม่แข็งแรงนัก แล้ววันหนึ่ง มีพายุพัดเข้ามา จนต้นมะพร้าวใหญ่ล้มฟาดทับลงกลางหลังคาบ้าน แม้ผ่านมาเนิ่นนาน ทว่าภาพบ้านทั้งหลังที่พังลงนั้นยังแจ่มชัดในความคิดของเด็กชาย ภาพของสมาชิกครอบครัวรวมทั้งตัวเขาช่วยกันเก็บข้าวของ ท่ามกลางฝนที่ยังคงตกอย่างหนัก ระหว่างกอบเก็บย้ายสิ่งของจำเป็น เด็กชายก้มมองดูมือตนเองที่เต็มไปด้วยรอยแผลถลอกและเศษดิน เขาได้ประทับภาพนั้นไว้ในความทรงจำ เพื่อเตือนตัวเองถึงร่องรอยความยากลำบาก ซึ่งแทบมองไม่เห็นเลยว่าจะพาตัวเองและครอบครัวฝ่าพ้นไปได้อย่างไร

“นั่นเป็นเรื่องของผมเองในวัยเด็ก ที่ผมคิดมาตลอดว่าถ้าวันนั้นไม่มีใครสักคนหนึ่งพยายามจับคว้าผมเอาไว้ ผมคงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ ทั้งยังชวนให้นึกถึงวันนี้ ที่พวกเรากำลังพยายามทำงานเพื่อโอกาสของคนอีกมากมาย”

“ผมโชคดีที่มีครูเอาใจใส่ ครูที่ติดตามทำความเข้าใจในสภาพชีวิต ครูที่หมั่นขี่มอเตอร์ไซค์มาหา มาเยี่ยมเยียน คอยเอาโอกาสมามอบให้ สำหรับครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมเท่าไหร่ ถ้าครูไม่มา ที่บ้านผมคงไม่ให้เรียนแล้ว และตั้งแต่จุดเริ่มต้นนั้นเอง ที่ทำให้ผมเข้าถึงทุนการศึกษา จากชั้นประถม จนจบปริญญาตรี ปริญโท จบปริญญาเอกในต่างประเทศ ผมพูดได้ว่าโอกาสทางการศึกษาที่ครูมอบให้สร้างผมขึ้นมา จนได้เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เป็นประธานเครือข่ายสถาบันการจัดการศึกษาด้านประมงของอาเซียน (ASEAN Fisheries Education Network- ASEAN FEN)”

“ผมได้แต่นึกภาพว่าเด็กคนนั้นที่มาจากหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ซึ่งถ้าวันนั้นมีคนบอกว่า วันหนึ่งเขาจะมีโอกาสก้าวไปเป็นประธานอาเซียนด้านการประมง นึกอย่างไรก็แทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย มันเป็นปลายทางที่ดูห่างไกลมากจากจุดเริ่มต้น ใจความที่ผมอยากสื่อสารไปถึงทุกท่านคือ สิ่งที่นำพาผมมาได้ถึงวันนี้ ก็ด้วยคนแบบพวกเราที่อยู่ตรงนี้ คนที่มีจิตใจเต็มไปด้วยความเมตตา ความปรารถนาดีที่เข้ามาทำงานช่วยเด็ก ๆ ผมขอย้ำว่าเป็นความโชคดีของผมที่ได้เจอคนแบบนี้ และโชคดีที่ได้ทำง่านร่วมกับพวกท่านในวันนี้ ในการสานพลังร่วมกันเพื่อการศึกษา เพื่อโอกาสของเด็กเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป”

อนุกรรมการ ABE กล่าวว่า วลีที่ว่า ‘สุราษฎร์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เป็นถ้อยคำที่ทรงพลังยิ่ง เพราะมันได้แสดงถึงความเชื่อของคนทำงาน ไม่ว่าคนในจังหวัด หรือหน่วยงานภายนอกที่มาร่วมแรงร่วมใจกัน จนเกิด ‘จังหวัดต้นแบบ’ เป็นพื้นที่ที่จะนำสู่การต่อยอดความสำเร็จ เอาประสบการณ์ วิธีการ ไปส่งต่อยังพื้นที่อื่น จังหวัดอื่นหลังจากนี้

หลักการของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ คือการทำงานที่มุ่งไปยังเด็กที่ขาดแคลนโอกาส ไม่มีทางไป โดยลดขนาดของงานให้จัดการได้ในระดับพื้นที่  ซึ่งมีความสำคัญในแง่มุมของการแก้ปัญหาที่มองไม่เห็นจากส่วนกลาง แต่คนที่เห็น เข้าใจ และรู้ถึงสภาพการณ์คือคนในท้องถิ่น ในชุมชน ซึ่งกระจายอยู่ตามหมู่บ้านเล็ก ๆ เป็นคณะทำงานที่แฝงตัวอยู่ใกล้ต้นตอปัญหา จึงทำให้เข้าใจและแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว และนี่คือเครื่องมือที่จะเข้ามาทดแทนการจัดการลักษณะเดิมที่เคยใช้รูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ ปรับเปลี่ยนตามโจทย์ของปัญหาระดับจังหวัด หรือย่อยลงในระดับเทศบาล หรือ อบต. แล้วใช้คนที่ชำนาญเฉพาะทางหรือ ‘สหวิชาชีพ’ เข้าไปช่วยดูแลเด็กเยาวชนเป็นรายกรณี จากนั้นบูรณาการเป็นเครือข่ายกลไกขนาดใหญ่ เพื่อรับ-ส่งเคสระหว่างกัน ด้วยวิธีการนี้ การแก้ไขปัญหาและวางแผนพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาก็จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“การจะไปถึงจุดที่ไม่เหลือใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เราต้องใช้พลังของคนที่มีจิตใจเหมือนกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ทำไปด้วยกันจนเห็นว่า เมื่อคนทุกคนร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงแวดวงการศึกษา โอกาสของความสำเร็จก็ยิ่งเปิดกว้างมากขึ้น

“เมื่อได้รับคำชวนให้เข้ามาทำงานนี้ โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. ผมรีบตอบรับทันที เพราะเป็นโอกาสที่ผมจะได้ตอบแทนในสิ่งที่ตนเองเคยได้รับมาก่อน เป็นโอกาสที่ผมจะได้ทำให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนคนหนึ่งนั้น สามารถทำให้เขากลับมาสร้างโอกาสให้กับคนอื่น ๆ ต่อไปได้

“ผมขอบคุณทุกท่าน และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ในการทำงานเรื่องเด็กขาดแคลนโอกาสและเยาวชนนอกระบบให้สำเร็จ แล้วจากนี้หวังว่าคณะทำงานของเราจะมองเห็นร่วมกันในหลังสิ้นสุดโครงการแต่ละปี ว่าเราจะยกระดับและพัฒนาการทำงานต่อไปให้ไกลขึ้น และครอบคลุมทุกพื้นที่ยิ่งขึ้นได้อย่างไร”


เรียบเรียงจาก ปาฐกถาพิเศษ : โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2565 ‘สุราษฎร์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’