พลิกกลยุทธ์ออนไลน์สู้ COVID-19 เตรียมส่งเด็กกลับเข้าสู่การศึกษาและฝึกอาชีพ

พลิกกลยุทธ์ออนไลน์สู้ COVID-19 เตรียมส่งเด็กกลับเข้าสู่การศึกษาและฝึกอาชีพ

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยกินเวลามาแล้วกว่า 3 เดือน ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปอีกนานนับจากนี้ หลายหน่วยงานจึงจำเป็นต้องปรับแผนการทำงานรับสถานการณ์ โดยเฉพาะการนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารหลัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภารกิจสำคัญสามารถดำเนินต่อไป รวมถึงช่วยเยียวยาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้

 

ภารกิจทางการศึกษาต้องเดินหน้าต่อไป(แม้ในภาวะวิกฤติ)

พิษณุโลกเป็นอีกจังหวัดหนึ่งใน โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ปรับวิธีการทำงานในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรน่า โดยหันมาใช้การสื่อสารงานผ่านออนไลน์เป็นหลัก ทั้งยังใช้เวลาในช่วงของการ Lock Down วางแผนงานช่วยเหลือกลุ่มเด็กและเยาวชนนอกระบบอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตรวจสอบข้อมูล จัดทำงานเอกสาร รวมถึงสัมภาษณ์เด็กเพิ่มเติมรายกรณีทางโทรศัพท์ เพื่อคัดแยกจัดกลุ่มเด็กนอกระบบในกลุ่มเป้าหมายที่มีความพร้อมให้เป็นหมวดหมู่ เตรียมส่งกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียน การศึกษานอกโรงเรียน และการจัดฝึกอบรมทักษะอาชีพ ภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ซาลง

ดร.เรณู บุญเสรฐ ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก ย้อนถึงความคืบหน้าโครงการ ฯ ก่อนการระบาดของไวรัสโคโรน่าว่า ทางจังหวัดได้ผ่านการลงพื้นที่ค้นหากลุ่มเป้าหมายใน 3 อำเภอ คือ บางระกำ วังทอง และพรหมพิราม จนได้จำนวนกลุ่มเด็กและเยาวชนนอกระบบซึ่งต้องการการช่วยเหลือเร่งด่วนเป็นจำนวน 672 คน จากจำนวนเด็กเบื้องต้นประมาณ 3,000 คน

 

คัดกรองซ้ำ เฟ้นหากลุ่มต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ใครพร้อมเตรียมเข้าเรียนทันที

หลังพบกลุ่มเป้าหมายชุดแรก ทีมงานได้ส่งข้อมูลเด็กทั้งหมดให้ผู้ทรงคุณวุฒิระดับจังหวัดทำการคัดกรองร่วมกับทีมการศึกษานอกโรงเรียน อาสาสมัครสาธารณสุข และทีมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์ อีกครั้ง เพื่อมุ่งความช่วยเหลือไปที่กลุ่มเร่งด่วน โดยเฉพาะเด็กเยาวชนช่วงอายุ 20-21 ปี หรือกลุ่มท้องในวัยเรียน ขณะเดียวกันก็คัดเลือกเด็กด้อยโอกาสที่แสดงความมุ่งมั่นอยากเรียนจริงๆ ขึ้นพิจารณาเป็นรายกรณี เตรียมส่งกลับสู่ระบบการศึกษาหรือฝึกอาชีพโดยเร็วที่สุด 

“เรามีเด็กบางส่วนที่ได้เข้าไปสมัครเรียนไว้แล้ว ตอนนี้มีอย่างน้อย 2 คนที่มีชื่อขึ้นในการศึกษาในระบบ กลุ่มนี้เขาเลือกเรียนเกษตรที่จังหวัดพิจิตร เพราะมีเป้าหมายอยากกลับไปพัฒนาพื้นที่ไร่นาที่บ้าน อีกส่วนหนึ่งคือเรามีเด็กชุดแรกจำนวนราว 50 คน ที่ขณะนี้เรากำลังทำเรื่องเอกสารเตรียมส่งเข้าเรียน กศน. หรือบางคนก็เลือกฝึกอาชีพ ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก ที่พร้อมรับช่วงดูแลเด็กต่อ กระบวนการช่วยเหลือเราเริ่มไปแล้ว แต่ก็เข้าสู่ภาวะ COVID-19 พอดี”

 

ประชุมออนไลน์ โทรสัมภาษณ์รายคน จัดหมวดหมู่ความช่วยเหลือ

ในช่วงของการ Lock Down ประเทศเพื่อรับมือกับ COVID-19 นี้เอง ที่ทางจังหวัดพิษณุโลกได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้งานเดินต่อไป โดยใช้วิธีประชุมและมอบหมายงานระหว่างคณะทำงานผ่าน ZOOM Cloud Meetings ปรับทีมลงพื้นที่มาใช้โทรศัพท์ หรือ ไลน์ (Line) สัมภาษณ์เด็กและครอบครัวเป็นรายคน ก่อนรวมข้อมูลว่าเด็กกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อย่างไร และต้องการความช่วยเหลือใดบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่คือครอบครัวขาดรายได้ ทางทีมงานจึงจัดหาปัจจัยพื้นฐานส่งต่อให้อาสาสมัครในพื้นที่นำไปแจกจ่ายเยียวยาเบื้องต้น 

ไม่เพียงแค่นั้น ในช่วงเวลาของการเว้นระยะห่างทางสังคมเช่นนี้ ทางจังหวัดยังได้ระดมความคิดพิจารณาเด็กรายคน จัดแยกออกเป็นหมวดหมู่เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตามความถนัด ความสนใจ แบ่งเป็นกลุ่มที่พร้อมเข้าเรียนในระบบ กลุ่มการศึกษานอกโรงเรียน และกลุ่มฝึกทักษะอาชีพ ทั้งยังจัดเรียงตามลำดับความพร้อมของแต่ละคน ในแต่ละตำบล แต่ละอำเภอ เพื่อหลังจากที่สถานการณ์ดีขึ้น ขั้นตอนการช่วยเหลือต่างๆ จะสามารถทำต่อได้ทันที

“งานของเราไม่ได้หยุดเดินไปพร้อมกับภาวะ COVID-19 แต่เราใช้การปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน นำสิ่งที่จำเป็นขึ้นมาคิดมาทำก่อน ส่วนไหนที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องออกไปพบกันเราจะทำทันที อย่างตอนนี้ กศน. เขาเปิดให้ลงทะเบียนได้ทางออนไลน์ เราก็จะรวมข้อมูลของเด็กกลุ่มที่เขาพร้อมเรียนและจัดการเรื่องสมัครก่อน อย่างน้อยเด็กจะต้องมีชื่อในระบบให้ทันเทอมการศึกษาหน้านี้ แล้วจะเปิดเทอมจริงๆ เมื่อไหร่ เราค่อยมาว่ากันอีกที”

เป็นการกล่าวปิดท้ายของผู้รับผิดชอบโครงการที่แฝงด้วยคำมั่น ว่าถึงแม้ภาวะวิกฤติอาจจะไม่จบลงเร็ว ๆ นี้ แต่ภาระหน้าที่ในการส่งเด็กและเยาวชนกลับสู่ระบบการศึกษา จะต้องดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุด

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค