พัฒนาศักยภาพตนเอง บวกแรงสนับสนุนจากครอบครัว สถานศึกษา และสถานประกอบการ 4 ปัจจัย ความสำเร็จนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

พัฒนาศักยภาพตนเอง บวกแรงสนับสนุนจากครอบครัว สถานศึกษา และสถานประกอบการ 4 ปัจจัย ความสำเร็จนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

เดินทางมาถึงเวทีที่ 11 ซึ่งเป็นเวทีสุดท้าย สำหรับกิจกรรม ‘ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในวันที่ 26-27 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมี 8 สถาบันการศึกษาจากกรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร ตราด และอุดรธานี เข้าร่วม ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ, วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม(สยามเทค), วิทยาลัยการอาชีพบางประกง, วิทยาลัยเทคนิคตราด, วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์(ลาดขวาง), โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา, วิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์ และ วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. และรองผู้อำนวยการด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้กล่าวกับน้อง ๆ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงว่า กสศ. มีทุนอยู่หลายประเภทเพื่อการพัฒนาและเพิ่มโอกาส สำหรับกลุ่มทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นกลุ่มที่มีความกระตือรือร้นสูง จากที่เห็นผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นใน 10 เวทีที่ผ่านมา กสศ.เชื่อว่าทุกคนมีความฝันร่วมกันที่จะก้าวไปข้างหน้า เราเห็นความสำคัญของทุกคน เชื่อว่าถ้าได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ก็จะสามารถก้าวไปได้อย่างมั่นคง

ในส่วนของปัจจัยไปสู่ความสำเร็จของนักเรียนสายอาชีพนั้น อย่างแรกคือ นักเรียนทุนทุกคนต้องมีความตั้งใจในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีอีกหลายสิ่งมาประกอบกัน นั่นคือครอบครัวที่มีหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมและปกป้อง  3.สถาบันการศึกษา ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างสังคมเพื่อนฝูงที่จะคอยช่วยเหลือกัน และ4.สถานประกอบการที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ ขัดเกลาทักษะอาชีพ และสร้างรายได้เสริมระหว่างเรียน

“ทุนการศึกษาเป็นเพียงการเปิดประตูสู่โอกาส แต่หนทางที่จะเดินไปให้ถึงนั้นขึ้นกับทุกคนจะใช้โอกาสเรียนรู้ หรือสร้างศักยภาพของตนได้ดีที่สุดแค่ไหน  โครงการได้ออกแบบทุนขึ้นมาเพื่อเด็ก แต่กลไกสู่เป้าหมายต้องอาศัยความร่วมมือจากครอบครัว จากสถานศึกษาที่มีความเข้มแข็ง อยากจะฝากความหวังกับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการว่า เราเป็น Change Agent ที่สำคัญ ในการผลิตบัณทิตที่มีคุณภาพทีดี มีกระบวนการที่ดีในการดูแลนักเรียนทุน ต้องปรับปรุงหลักสูตรให้ดีขึ้น คนที่ได้รับประโยชน์จะไม่ใช่เฉพาะน้องนักเรียนทุนที่ได้โอกาส เพื่อนคนอื่นในสถานศึกษาที่ไม่ได้รับทุนก็จะได้รับโอกาสได้ และมีความร่วมมือที่ดีกับสถานประกอบการในการเข้ามาช่วยส่งเสริมศักยภาพเด็ก ดังนั้น ปัจจัยสู่ความสำเร็จจึงหมายถึง ตัวนักเรียนนักศึกษา ครอบครัว สถานศึกษา และสถานประกอบการ เมื่อสิ่งเหล่านี้มีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องก็จะนำไปสู่ความสำเร็จได้” รศ.ดร.ปัทมาวดีกล่าว