กู้วิกฤต ‘ยากจนเฉียบพลัน’ กับภารกิจ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา’

กู้วิกฤต ‘ยากจนเฉียบพลัน’ กับภารกิจ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา’

กลางเดือนมิถุนายน เสียงโทรศัพท์ในห้องทำงานของ ครูปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อยดังขึ้น เสียงปลายสายมาจากหนึ่งในคณะทำงานของ ‘ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา’ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ที่โทรมาบอกเล่าเรื่องราวของ ‘นนท์’ ซึ่งกำลังยืนอยู่กลางทางแยกสำคัญของชีวิต

นนท์ (นามสมมติ) คือเด็กเรียนดี มีครอบครัวอันอบอุ่นและฐานะดีพอสมควร มีพี่สาวที่กำลังจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนตัวนนท์เองก่อนหน้านี้กำลังเรียนหลักสูตรสองภาษาในโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี และมีผลการเรียนในระดับดีมากโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

ครูปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย

แต่หลังวิฤตโควิด-19 โลกทั้งใบเหมือนกลับตาลปัตร สถานการณ์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัวจากที่เคยมีรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน กลับกลายเป็นไม่มีงานจนรายรับไม่พอรายจ่าย กระทั่งเข้าสู่ภาวะ ‘ยากจนเฉียบพลัน’  ที่ไม่มีกระทั่งเงินสำหรับจ่ายค่าเทอม แม้ว่าทางโรงเรียนจะช่วยเหลือด้วยการลดค่าเทอมให้ก็ยังไม่สามารถหาเงินไปจ่ายได้ ส่งผลให้นนท์ต้องหยุดเรียนตั้งแต่ ม. 1 เทอม 2 ยาวต่อเนื่องมาถึงหนึ่งปีการศึกษา

ทางครอบครัวพยายามหาทางออกในหลายทาง ต่อมาได้รับคำแนะนำจากนักการเมืองในท้องถิ่นให้ติดต่อมาที่ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤติการศึกษา ของ กสศ. จึงนำไปสู่กระบวนการกู้วิกฤติให้กับครอบครัวของนนท์โดยเร็วที่สุด

‘ไทรน้อยโมเดล’ คือทุกฝ่ายพร้อมช่วยกัน

“ให้เด็กเข้ามาก่อนเลย”  

ครูปิติ ตอบกลับปลายสาย 

“ให้นักเรียนเข้ามาอยู่ในระบบก่อนเลย เดี๋ยวเรื่องอื่นค่อยมาคุยกันว่า จะแก้ปัญหากันอย่างไร เราจะข้ามปัญหานั้นกันมาได้อย่างไร” 

ด้วยความรวดเร็วและการตัดสินใจอย่างเฉียบขาด จึงทำให้ นนท์ มีที่เรียนต่อทันทีที่ โรงเรียนไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี โดยไม่ต้องรอปีการศึกษาใหม่ หลังจากนั้นทางโรงเรียนได้ตั้งระบบการดูแลช่วยเหลือที่เรียกว่า ‘ไทรน้อยโมเดล’ ขึ้น นอกจากเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของนนท์แล้ว ยังเพื่อรองรับหากมีกรณีอื่นที่อาจต้องการความช่วยเหลือกลางคันอีก

‘ไทรน้อยโมเดล’ มีการไปเยี่ยมบ้านเพื่อพูดคุยกับเด็กและผู้ปกครองถึงปัญหาต่างๆ การดูแลช่วยเหลือจะเน้นที่การเยียวยาสภาพจิตใจและการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โรงเรียนใหม่ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ให้เข้าที่เข้าทางก่อนที่จะกลับสู่ห้องเรียนจริงๆ 

ครูปิติ บอกว่า แนวทางของ ‘ไทรน้อยโมเดล’ มีหลักการดำเนินงาน 7  แนวทาง คือ 

  1. ช่วยเหลือทันทีแม้ไม่มีเอกสารสำคัญ
  2. ฟื้นฟูความรู้ที่สูญหาย 
  3. ครูที่ปรึกษาเก็บข้อมูล 
  4. แนะแนวเตรียมระบบดูแลสภาวะจิตใจ 
  5. เลือกแผนการเรียนที่สนใจ 
  6. เก็บหน่วยกิตในช่วงเวลาที่หายไปและเรียนรู้บทเรียนใหม่ 
  7. ติดตามผลการดำเนินงาน

“เมื่อน้องเข้ามา เราต้องช่วยสำรวจความพร้อมว่าเป็นอย่างไรและมีคำแนะแนวให้ เพราะเขาหยุดเรียนไปถึงหนึ่งปี ในโรงเรียน เราได้เรียกประชุมฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิชาการจะต้องทำอย่างไรบ้างกับกรณีแบบนี้ ครูที่ปรึกษาจะต้องรู้ว่าจะดูแลเด็กคนนี้อย่างไร รวมไปถึงการวางงบประมาณไว้ในแผนงานด้วยเพราะเราไม่ต้องการให้เกิดการที่เด็กหลุดจากระบบซ้ำ 

“เราไม่ได้ส่งให้เด็กเข้าห้องเรียนอย่างเดียว แต่เรามีความคิดที่ว่า เมื่อเด็กอยากเรียนแล้วเขาจะมีพลังบวกในตัวเองอย่างไร ถ้าเกิดเขาเดินก้าวไปๆ แล้วมันมีปัญหาอุปสรรค ถ้ากลายเป็นพลังลบหรือหมดแรง หมดกำลังใจจะทำให้เขาท้อ การคงแรงบวกไว้ในตัวเขาคือสิ่งสำคัญมากในการช่วยเหลือเด็กๆ”

เพราะโรงเรียนคืออีกหนึ่งหัวใจของการแก้ปัญหา ‘เด็กหลุดระบบการศึกษา’

จากรายงานการสำรวจของ กสศ. และกระทรวงศึกษาธิการ ปีการศึกษา 2563 – 2564 พบข้อมูลที่ใกล้เคียงกัน คือความน่ากังวลว่า อาจมีเด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,000 คน แต่จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้ ‘พาน้องกลับมาเรียน’ ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนที่บูรณาการร่วมกับ 11 หน่วยงาน ส่งผลให้ปัจจุบันเหลือตัวเลขเพียง 17,000 คนเท่านั้นที่ยังตามกลับมาเรียนไม่ได้

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ทัศนะถึงการร่วมมือการทำงานในโครงการนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการตามนักเรียนกลับมาคือ ทำอย่างไรไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบอีก เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนต่อจนจบในระดับที่สูงขึ้นไป จนสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ในอนาคต

“โดยส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาของเด็กที่กำลังหลุดจากระบบการศึกษาจะมีความซับซ้อนมากกว่าหนึ่งเรื่อง จะต้องมองไปถึงผู้ปกครอง มองทั้งเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ถ้าจะให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ โรงเรียนจะเป็นหัวใจหลักในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่

“จากหลักแสนเหลือเพียงหมื่นกว่าคนในตอนนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือ คนที่ยังไม่กลับมาเราได้ส่งรายชื่อกลับไปที่โรงเรียน ค้นหากันต่อไป ส่วนที่กลับมาแล้ว ก็ต้องมีวิธีการจัดการว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เขาหลุดออกไปอีก การค้นหานับว่ายากแล้ว แต่โจทย์ใหญ่ทำอย่างไรจะไม่ให้เขาหลุดอีก”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงความร่วมมือที่เข้าไปหนุนเสริมโครงการนี้ว่า ยังมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องขับเคลื่อนต่อหลังจากเด็กได้กลับมาสู่ระบบการศึกษาแล้ว เพราะแค่ได้กลับมาเรียนคงไม่พอ แต่กลับมาเขาควรได้ทานอาหารครบมื้อ ควรได้ทานนมอาหารเสริม ควรได้รับการดูแลจากสวัสดิการต่างๆ ที่มีในโรงเรียน ซึ่งครอบครัวจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย 

“เพราะโรงเรียนเป็นมากกว่าแค่สถานที่เรียนหนังสือที่พวกเราต้องช่วยกันสร้างให้เด็กๆ การที่พาเด็กกลับมาได้หลักแสนคน จึงเป็นคุณูปการทั้งต่อตัวนักเรียนและครอบครัวด้วย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ในระยะยาว

“เรื่องของการลงทุนเรื่องตัวเด็กต้องไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นการลงทุนเพื่อให้เขาได้อยู่ในระบบการศึกษาได้สุดความสามารถ ได้สุดศักยภาพของเขา เป็นเรื่องสำคัญของประเทศที่เราต้องช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้เขาไปต่อได้” 

เรื่องราวของ ‘นนท์’ นอกจากเป็นหนึ่งเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งจากกว่าสองแสนคนที่ ‘ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา’ ทำสำเร็จแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังทำให้เห็นภาพของ ‘ไทรน้อยโมเดล’ ที่ โรงเรียนคือหัวใจของการขยับขับเคลื่อนเพื่อเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้อีกมาก เป็นรูปแบบสำคัญของการช่วยเหลือเด็กๆ ได้อย่างยั่งยืน 

เพราะเมื่อกลับมาแล้ว พวกเขาจะต้องไม่หลุดออกไปอีก