ศาลสูงสุดอินเดียมีคำสั่งตัดสินเด็ดขาดยืนยันสิทธิเด็กพิการเรียนแพทย์
โดย : IANS - The Times of India
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ศาลสูงสุดอินเดียมีคำสั่งตัดสินเด็ดขาดยืนยันสิทธิเด็กพิการเรียนแพทย์

ศาลสูงสุดอินเดียมีคำสั่งตัดสินยืนยันว่าเด็กผู้มีความพิการมีสิทธิรับการเข้าสอบ NEET หรือ National Eligibility cum Entrance Test ซึ่งเป็นการสอบวัดระดับความรู้เพื่อใช้คะแนนเข้าสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาตรีสาขาทางการแพทย์และทันตแพทย์ ในสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศอินเดีย หลังเกิดกระแสความกังวลของนักเรียนผู้พิการบางส่วนว่าตนเองอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม หรืออาจไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ เนื่องจากข้อจำกัดด้านความพิการและทุพพลภาพของตน

เว็บไซต์ข่าวท่องถิ่น The Times of India เปิดเผยคำตัดสินของศาลสูงสุดที่ระบุว่า สิทธิทางการศึกษาถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและครอบคลุม และเป็นหน้าที่หลักของทางการที่จะจัดการอำนวยความสะดวกด้วยการปรับหลักสูตรหรือระบบการสอบให้สอดคล้องกับความจำเป็นของนักเรียนผู้พิการ โดยย้ำว่า สิทธิในการเข้าถึงการศึกษานี้หมายรวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกตามความจำเป็นและเหมาะสมกับตัวผู้เรียน

ทั้งนี้ ทีมผู้พิพากษา นำโดยดี. วาย.​ จันทราฉัตร (D. Y. Chandrachud) และเอ. เอส. โบพันนา (A. S. Bopanna) ระบุชัดว่า การศึกษามีบทบาทสำคัญในการหลอมรวมสังคมและเศรษฐกิจและเปิดทางสู่การสร้างสังคมที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อีกทั้งการเรียนที่ครอบคลุมทั่วถึงถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างหลักประกันการเข้าถึงการศึกษาที่เป็นสากลและไม่เลือกปฏิบัติ

“อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการได้รับรองว่า ระบบการศึกษาแบบครอบคลุม (inclusive) จะต้องมีการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดสิทธิในการศึกษาสำหรับคนพิการอย่างมีความหมาย ดังนั้น สิทธิในการศึกษาจึงเป็นสิทธิในการศึกษา จึงมีความหมายครอบคลุมถึงการศึกษาที่ทั่วถึงเท่าเทียม” แถลงการณ์ของคณะผู้พิพากษาระบุ ก่อนย้ำว่า เงื่อนไขที่ว่านี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้พิการวัยเด็กเท่านั้น แต่ยังขยายให้ครอบคลุมผู้พิการในวัยผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน

โดยแถลงการณ์คำตัดสินจำนวนทั้งหมด 47 หน้าได้หยิบยกกฎหมายมาตรการที่ 18 ซึ่งระบุชัดว่า รัฐบาลส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่นมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริม คุ้มครอง และประกันการมีส่วนร่วมของผู้พิการ หรือ PwD (Person with Disability) ในการศึกษาเล่าเรียนทั้งในระดับเด็กไปจนถึงระดับผู้ใหญ่ รวมถึงสนับสนุนโครงการการศึกษาต่อเนื่องบนพื้นฐานความเท่าเทียมกับผู้อื่น

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่มีผู้ยื่นเอกสารร้องอุทธรณ์ต่อทางศาลว่า ปัญหาความบกพร่องจากภาวะ dysgraphia หรือเด็กแอลดีที่บกพร่องทางการเขียนจะได้รับผลกระทบในเรื่องความสามารถทางการเขียน มีความยุ่งยากในการสะกดคำ ลายมือที่แย่ และมีความลำบากในการเขียนความคิดลงในกระดาษ รายหนึ่ง ทำให้ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในสอบ จนถูกกีดกันจากการสอบ และทำให้โอกาสสมัครเข้าเรียนแพทย์หายไป 40% ทำให้ในที่สุดตนเองก็ไม่อาจเข้าเรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในปี 2021 ตามความตั้งใจ

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นของอินเดียมีคำสั่งพิพากษาปัดตกคำร้องของอะวะนี ปราสาท (Avni Prasad) ที่ระบุว่า ทางกรรมการคุมสอบไม่ยินยอมให้เวลาชดเชยแก่ปราสาทเพิ่ม 1 ชั่วโมง ตามเงื่อนไขความพิการบกพร่องของเจ้าตัว จากเวลาสอบปกติของนักเรียนทั่วไปที่ 3 ชั่วโมง ทำให้อะวะนี ปราสาท เสียเปรียบเพื่อนร่วมสอบ และถูกบังคับให้ส่งกระดาษคำตอบไปพร้อมกับนักเรียนปกติคนอื่นที่เข้าสอบที่ศูนย์สอบเดียวกัน

ปราสาทจึงได้ตัดสินใจยื่นคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์แห่งนครบอมเบย์ เพื่อขอคำคุ้มครองตัดสินให้เจ้าตัวสามารถเข้าร่วมการทดสอบ NEET ภายใต้เงื่อนไขชดเชยด้านเวลา ข้อผ่อนปรน และผลประโยชน์ที่จำเป็นตามสถานะความทุพพลภาพของเจ้าตัว โดยทั้งหมดเป็นไปเพื่อไม่ให้ความพิการเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ปราสาทเสียเปรียบการสอบแข่งขันกับเด็กปกติทั่วไป ทว่าศาลอุทธรณ์ก็ปฏิเสธคำร้องของปราสาท ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจยื่นขอความเป็นธรรมจากศาลสูงสุดดังที่เป็นข่าว

ศาลสูงสุดระบุว่า ความผิดพลาดที่ปราสาทเผชิญ ทำให้เจ้าตัวถูกลิดรอนเวลาที่ควรได้รับการชดเชยอย่างไม่เป็นธรรม แม้ว่าสถานภาพของเจ้าตัวเข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิในฐานะบุคคลที่มีความทุพพลภาพตามเงื่อนไข หรือ person with benchmark disability (PwBD)

“สิทธิและสิทธิโดยชอบธรรมที่มอบให้ผู้พิการทุพพลภาพไม่อาจถูกจำกัดไม่ว่าในกรณีใดๆ และไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างในการได้รับหรือไม่ได้สิทธิใดๆ ที่ผู้พิการพึงมี” แถลงการณ์ของศาลสูงสุดระบุ

พร้อมกันนี้ ศาลสูงสุดยังมีคำสั่งส่งตรงถึงสำนักงานทดสอบแห่งชาติ หรือ National Testing Agency (NTA) พิจารณาดำเนินการ “ขั้นตอนเพื่อแก้ไขความอยุติธรรม” ที่ปราสาทได้รับภายในหนึ่งสัปดาห์นับจากคำสั่งตัดสิน โดยทางศาลสั่งให้ NTA ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบทบัญญัติที่ NEET จัดทำขึ้นในแง่ของสิทธิภายใต้พระราชบัญญัติสิทธิของคนพิการ (RPwD) 2016 ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดยืนยันว่า ศาลไม่มีอำนาจสั่งให้ NTA ยกเลิกการจัดสอบ NEET ครั้งล่าสุดที่มีผู้สมัครเข้าร่วมมากกว่า 150,000 คน และยิ่งไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงผลสอบที่ประกาศออกไปแล้วได้

ทั้งนี้ ในส่วนของปราสาทได้รับการพิจาณาในฐานะผู้สมัครสอบ NEET ที่มีความพิการอยู่ในลำดับที่ 1,721 จากผู้สมัครที่มีความพิการทั้งหมด 2,648 คน

ที่มา : SC provides relief to NEET candidate with disability