อิรักจับมือยูนิเซฟ เผยแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย
โดย : UNICEF
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

อิรักจับมือยูนิเซฟ เผยแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย

รัฐบาลอิรักเปิดแผนยุทธศาสตร์ชาติภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีเป้าหมายสำคัญในการช่วยให้เด็กชายและเด็กหญิงทุกคนในอิรัก เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพตั้งแต่เยาว์วัย หรือ  Early Childhood Development (ECD) อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศบรรลุสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030

ทั้งนี้ สำหรับ ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย หรือ National Strategy on Early Childhood Development (ECD) นี้คือกลยุทธ์ที่เป็นแนวทางที่ครอบคลุมและสอดคล้องกันในด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัย รวมถึงการรับทราบขั้นตอนต่างๆ ในด้าานการพัฒนาของเด็กจนถึงอายุ 8 ปี โดยมอบความรับผิดชอบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการ และชุมชนเพื่อให้แน่ใจว่ามีการส่งเสริมและคุ้มครองความต้องการของเด็กเล็กอย่างเต็มที่

ในระหว่างพิธีเปิดตัวแผนยุทธศาสตร์ชาติ เจเน็ต คามัว (Janet Kamau) ตัวแทนของยูนิเซฟ ประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ระดับชาติฉบับใหม่เกี่ยวกับการศึกษาของเด็กในระดับปฐมวัยของอิรักนี้มีความสอดคล้องอย่างใกล้ชิดกับกรอบการให้การเลี้ยงดูอบรมเด็กทั่วโลก ที่ทางยูนิเซฟร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกพัฒนาขึ้น ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างประโยชน์ให้กับเด็กอิรักใน 2 ทางด้วยกันคือ

1)  เป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพของเด็กในช่วง 1,000 วันแรกนับตั้งแต่การปฎิสนธิต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อย 2 ขวบแรกของชีวิต ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งอิทธิพลต่อช่วงชีวิตที่เหลือ

2) เป็นประโยชน์ในการสร้างแนวทางปฏิบัติที่เข้มแข็งสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ปีในการรักษาการเจริญเติบโตตามวัยอย่างเหมาะสม สร้างความมั่นคงผาสุกทางด้านจิตใจ สังคม และอารมณ์ของเด็ก ตลอดจนให้เด็กได้รับการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (early childhood education – ECE)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิรักมีตัวชี้วัดความก้าวหน้าที่สะท้อนถึงการอยู่รอดและโภชนาการของเด็กอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามความคืบหน้าในการเข้าถึงการศึกษาระดับปฐมวัย และการเลี้ยงดูเด็กที่มีความละเอียดอ่อนนั้นกลับชะลอการพัฒนาลง

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า การมีส่วนร่วมในโปรแกรม ECE อย่างเป็นทางการของภาครัฐฯ อย่าง โรงเรียนอนุบาลอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% และเกือบ 90% ของเด็กอิรักอายุ 1-14 ปีเคยเผชิญกับความรุนแรงบางประเภท

ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัยฉบับใหม่นี้ จึงแสดงถึงก้าวสำคัญบนเส้นทางที่มุ่งสู่การพัฒนา “วาระการเติบโต” โดยเน้นที่การพัฒนาที่ดีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับเด็กอิรักในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและกระตุ้นให้พวกเขาเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งที่สุดสำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ประสบความสำเร็จในการเข้าสังคม และมีขีดความสามารถและประสิทธิภาพในชีวิตการทำงานในระยะยาว

ทางการอิรักอธิบายว่า กลยุทธ์นี้มีพื้นฐานมาจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ต้องการให้วัยเด็กของเด็กอิรักมีความปลอดภัย มั่นคง และมีความสุข ได้เติบโตท่ามกลางครอบครัว สังคม และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ให้มั่นใจว่าเด็กในอิรักได้โอกาสที่ดีที่สุดสำหรับความผาสุกในชีวิต ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ 

นอกจากนี้ กรอบการบริหารของกลยุทธ์ ECD ยังได้รับการพัฒนาครอบคลุมใน 5 ด้านหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับการการศึกษาปฐมวัย 1)การจัดการและการวางแผน 2) คุณภาพ 3) หลักสูตร 4)การฝึกอบรม และ 5) การมีส่วนร่วมของครอบครัว เด็ก และชุมชน โดยกรอบการทำงานยังรวมถึงการนำเป้าหมายพื้นฐานมาใช้ในแต่ละสาขาที่เชื่อมโยงกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในกลยุทธ์นี้

กลยุทธ์ใหม่นี้จะต้องจับคู่กับการลงทุนใหม่เพื่อเอาชนะในส่วนของความท้าทายที่เกี่ยวข้อง โดยตัวอย่างของความท้าทายก็เช่น สถานการณ์ของอิรักในขณะนี้ที่แม้จะมีเครือข่ายสถานบริการด้านสาธารณสุขมูลฐานระดับประเทศและมีอัตราการเข้าลงทะเบียนร่วมคลอดและการสร้างภูมิคุ้มกันที่มีทักษะสูง แต่ทว่าเครือข่ายการศึกษาปฐมวัยกลบยังคงมีอยู่ไม่มากนัก และมีการให้ความสำคัญในการกระตุ้นในช่วงแรกเริ่มของชีวิตในระดับภายในประเทศอย่างจำกัด

ทั้งนี้ ยูนิเซฟรับทราบถึงความพยายามเพิ่มเติมของรัฐบาลอิรักในแผนพัฒนาแห่งชาติปี 2018-2022 แต่เป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ครอบคลุมการศึกษาปฐมวัยเป็น 30% ภายในปี 2031นั้น ถือเป็นเป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานและจะต้องมีการจัดสรรแบ่งงบประมาณให้เพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ ไป

เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กอิรักทุกคนสามารถเข้าถึงบริการการศึกษาปฐมวัยได้ ยูนิเซฟ โครงการอาหารโลก(WFP) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป กำลังทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจากกลุ่มที่เปราะบางที่สุดจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญผ่านโครงการคุ้มครองทางสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัย

ทั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนเพิ่มเติมจากพันธมิตรอื่นๆ เช่น ธนาคารโลกและเยอรมนี รวมถึงการประสานงานกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก้) ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในสังกัดสหประชาชาติ ทางยูนิเซฟได้ให้คำมั่นที่จะทำงานเพื่อสนับสนุนรัฐบาลอิรักในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการศึกษาปฐมวัย ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงอายุ 8 ปีอย่างเต็มที่

ที่มา : Iraq launches, with the support of UNICEF, the National Strategy on Early Childhood Development [EN/AR]