กสศ. ร่วมหารือในงานประชุม ทปอ. สัญจร “เพิ่มโอกาสเด็กยากจนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย”

กสศ. ร่วมหารือในงานประชุม ทปอ. สัญจร “เพิ่มโอกาสเด็กยากจนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย”

เมื่อวันที่ 28 – 29 ตุลาคม 2565 ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้รับเชิญจากสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษา ทปอ. สัญจร ครั้งที่ 2/2565 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยได้ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อ “สามพลัง สร้างสรรค์ สานฝันน้อง” ร่วมกับ รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา คุณชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  โดยมี ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ ประธานคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษา ทปอ. เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจำนวน 36 สถาบันเข้าร่วม

ดร.ภูมิศรัณย์ ได้นำเสนอถึงแนวทางความช่วยเหลือต่าง ๆ จาก กสศ. ที่มุ่งเน้นการผลักดันให้เด็กยากจนด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงการศึกษาตามศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูลนักเรียนยากจนด้อยโอกาสซึ่งพบจำนวนกว่า 2 ล้านคนจากทั่วประเทศ เด็กกลุ่มนี้มีส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนยากจนด้อยโอกาสที่มีศักยภาพและมีความประสงค์ที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยในปี 2565 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษจำนวน 20,018 คน สามารถผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS 65 คิดเป็น 14 % ของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทั้งหมด

“หากนักศึกษากลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการหนุนเสริมทางวิชาการและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย การจัดสรรทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา รวมถึงหากนักเรียนหรือผู้ปกครอง  โรงเรียน ครูแนะแนว สามารถรับทราบถึงโอกาสของทุนการศึกษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่นในช่วงชั้น ม.3 หรือ ม.4 จะทำให้นักเรียนสามารถเตรียมความพร้อมสู่มหาวิทยาลัยได้มากขึ้น”

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า ในภาพรวมหากกลุ่มนักเรียนยากจนด้อยโอกาสสามารถเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาได้มากขึ้น จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตออกจากกับดักความยากจนข้ามชั่วรุ่น (Intergenerational Poverty) ได้ และเป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสังคมของประเทศ ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้คำนวนผลตอบแทนตลอดชีวิตของการศึกษาในระดับปริญญาตรีของนักเรียนไว้ที่ 3.6 – 8.3  ล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษา ทปอ. และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้มีความเห็นที่สอดคล้องกันเรื่องความจำเป็นในการช่วยเหลือเด็กยากจนด้อยโอกาสให้เข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาภายใต้การดำเนินงานรูปแบบต่าง ๆ เช่น การให้ทุนการศึกษา การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การช่วยเหลือสนับสนุนด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวิชาการและการปรับตัวใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย รวมถึงแนวคิดในการสร้างระบบฐานข้อมูลกลางที่มีข้อมูลเกี่ยวกับทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา การทำงานร่วมกับโรงเรียนในการเข้าถึงนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ซึ่งภาคีภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ทปอ. กยศ. รวมทั้ง กสศ. จะต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต่อไป