Banner
วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ
ปัตตานี

ดึงเอกลักษณ์ความอร่อยของเครื่องแกงจากชุมชนนีปิสกูเละ มาจัดทำโครงการผลิตเครื่องแกงใต้สร้างรายได้ให้กับชุมชน

เครื่องแกงใต้คือเครื่องแกงที่มีชื่อเสียงด้านกลิ่นและรสที่เข้มข้นอันมีที่มาจากเครื่องเทศที่เป็นเอกลักษณ์ ชื่อเสียงนี้ทำให้เครื่องแกงใต้มีความต้องการสูงในตลาดและถูกผลิตออกมาจำนวนมากหลากหลายยี่ห้อ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีผู้ผลิตหลายเจ้าพากันลดต้นทุนเพื่อเพิ่มกำไรโดยการลดปริมาณสมุนไพรลง ส่งผลต่อมาเป็นกลิ่นและรสชาติที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทำให้แกงใต้ที่เป็นสูตรดั้งเดิมแท้ๆ นั้นหายากขึ้นทุกวัน ทว่ายังมีกลุ่มชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีที่ยังคงรักษาสูตรและรสชาติของเครื่องแกงใต้แท้ๆ เอาไว้ไม่เสื่อมคลาย นั่นคือชุมชนในวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ

โครงการสืบสานการทำเครื่งแกงพื้นบ้านสู่รายได้ของชุมชน โดยวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ จึงได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจหลายประการไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมเพื่อสืบสานสูตรเครื่องแกงใต้ของท้องถิ่น การศึกษาช่องทางการตลาดเครื่องแกง การพัฒนาฝีมือของแรงงานในพื้นที่ให้มีทักษะด้านการทำเครื่องแกง และที่สำคัญคือการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน

กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 ชุมชนคือ 1.ชุมชนดาโตะ 2.ชุมชนบ้านนีปิสกูเละ 3.ชุมชนกาแระ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป โดยหลายคนมีสถานะเป็นแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ รวมถึงบางส่วนก็เป็นผู้ว่างงานด้วย ซึ่งโครงการก็สามารถรวบรวมสมาชิกจากกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้ตามเป้าหมายคือ 150 คน

เมื่อได้สมาชิกกลุ่มเข้ามาจากทั้งสามชุมชน โครงการก็ได้จัดเวทีชี้แจงโครงการและได้ผลลัพธ์คืออาชีพ 5 กลุ่มที่แบ่งตามความถนัดของกลุ่มเป้าหมายและความเหมาะสมของพื้นที่ โดยสมาชิกจากชุมชนดาโตะจะใช้รับหน้าที่ทีม ‘ต้นน้ำ’ คือทำการเพาะปลูกวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการทำเครื่องแกง สมาชิกจากชุมชนบ้านนีปิสกูเละรับหน้าที่ทีม ‘กลางน้ำ’ คือการผลิตเครื่องแกง ส่วนชุมชนกาแระก็รับหน้าที่เป็น ‘ปลายน้ำ’ คือการทำการตลาดเพื่อจัดจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม ส่วนอีกสองอาชีพคือการเลี้ยงปลาดุก และการเลี้ยงไก่บ้าน ซึ่งเปิดอบรมให้ตามความสนใจของสมาชิก

การแบ่งงานตามความถนัดนี้ทำให้โครงการสามารถฝึกฝนอบรมทักษะต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาโครงการก็สามารถรวบรวมภูมิปัญญาในท้องถิ่นได้จากคน 12 คน และทำการคัดเลือกสูตรเครื่องแกงออกมาได้ 10 สูตร นอกจากนี้ก็มีการฝึกฝนอบรมสมาชิกในโครงการให้มีทักษะตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย 

หลังจากโครงการได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจในบริบทพื้นที่ชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มากขึ้น กลุ่มเป้าหมายตระหนักและมีความรู้เรื่องการทำบัญชีครัวเรือนและการออมมากขึ้น 

นอกจากนี้ความก้าวหน้าที่โครงการได้ผลักดันให้เกิดขึ้นคือมีการจัดตั้งแกนนำในการทำงานจำนวน 20 คน ที่พร้อมจะทำงานในฐานะเป็นแกนนำด้านการป้อนวัตถุดิบ การผลิต และการจำหน่าย รวมถึงเกิดกลุ่มอาชีพเพิ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากการผลิตเครื่องแกง เช่น การเลี้ยงปลาดุก และการเลี้ยงไก่บ้านด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

สืบสานการทำเครื่องแกงพื้นบ้านสู่รายได้ของชุมชน

วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ

  • โทร: 089-6546637
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวตูแวคอลีเย๊าะ กาแบ

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพโดย

  1. เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาการทำอาหารของชุมชนให้อยู่คู่ชุมชนชายแดนใต้ต่อไป
  2. เป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายให้มีรายได้เสริมสู่ครอบครัวเพิ่มขั้น
  3. ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวเป้าหมายโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก
  4. ชุมชนเห็นคุณค่าของตนเองและการอยู่ร่วมกันในชุมชน
  5. กลุ่มเป้าหมายมีทักษะฝีมือการทำเครื่องแกง ทักษะการบริหารจัดการกลุ่ม การคิดเป็นระบบ การสื่อสาร และการทำตลาดออนไลน์
  6. กลุ่มสตรีมีรายได้เสริมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  7. พัฒนาความรู้และทักษะการทำอาหารและผลิตเครื่องแกงอาหารมลายูมุสลิมให้กับกลุ่มสตรี
  8. เกิดกลุ่มทำเครื่องแกงที่มีระบบการบริหารจัดการสอดคล้องกับวิถีชีวิต
  9. มีระบบการผลิตที่มีการควบคุมคุณภาพอาหาร (รสชาติ  สะอาด  ปลอดภัยไร้สารป่นเปื้อน
  10. กลุ่มเป้าหมายมีทัศนะคติที่ดีต่อการทำงานกลุ่มและอาชีพ
  11. มีการทำงานเชิงเครือข่ายการผลิตและการตลาด
  12. รักษาตำรับอาหารมุสลิม อัตลักษณ์ชายแดนใต้ให้อยู่คู่ชุมชนต่อไป
  13. ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส