Banner
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา
สงขลา

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาจัดโครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผลิตขนมพื้นบ้าน ชุมชนบ้านด่าน จังหวัดสงขลา เพื่อเพิ่มรายได้และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน

ขนมดอกจอก เป็นผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มผลิตขนมพื้นบ้าน ในตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยขนมดอกจอกถือเป็นขนมโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน มีรูปทรงคล้ายดอกจอกซึ่งเป็นพืชผิวน้ำตระกูลหนึ่ง มีนัยสื่อถึงความสามัคคี ความสัมพันธ์ และการรวมกลุ่มของสมาชิกในครอบครัวหรือชุมชน เหมือนดอกจอกที่เกาะกลุ่มกันเป็นแผ่นกลม

หากเล่าถึงที่มาที่ไปของขนมดอกจอกนั้น สมัยก่อนนิยมทำเพื่อเป็นของว่างในงานและพิธีการสำคัญต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ และงานฮารีรายอ (ประเพณีของศาสนาอิสลาม) เป็นต้น ไม่แพ้ขนมไทยดั้งเดิมอย่างทองหยิบ ทองหยอด หรือฝอยทอง จึงถือได้ว่าขนมดอกจอก เป็นขนมที่ทั้งอร่อยถูกใจ และเป็นที่รู้จักของคนในท้องถิ่นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว โดยในระยะหลัง เริ่มมีการประยุกต์นำสมุนไพรมาเป็นส่วนผสม ทำให้ขนมดอกจอกมีคุณประโยชน์และน่ารับประทานมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กลุ่มผลิตขนมพื้นบ้านผลิตขนมขายได้น้อยลง จากเดิมที่ผลิตได้โดยใช้แป้งปริมาณ 4 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ ก็ต้องลดปริมาณลง เหลือเพียง 2 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ ซึ่งลดจากเดิมลงครึ่งหนึ่ง นอกจากปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อปริมาณการซื้อขนมดอกจอกจากกลุ่มผลิตขนมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ด้วย นั่นคือ คุณภาพในการผลิตขนมดอกจอกยังไม่ได้มาตรฐานในหลากหลายด้าน เช่น กระบวนการทอดรูปแบบเดิมส่งผลให้ขนมอมน้ำมัน และมีกลิ่นเหม็นหืน ประกอบกับขนมดอกจอกเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกง่ายขณะขนส่ง 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เล็งเห็นความสำคัญด้านการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผลิตขนมพื้นบ้าน จึงผลักดัน “โครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมพื้นบ้าน ชุมชนบ้านด่าน หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา” เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับกลุ่มสู่วิสาหกิจชุมชน โดยมีภารกิจรองเป็นการผลิตโรตีกรอบจิ๋ว เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ควบคู่กับขนมดอกจอก ซึ่งเป็นความต้องการจากฐานลูกค้าในจังหวัดสงขลา โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มผลิตขนมพื้นบ้านอยู่แล้ว

เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการฯ จึงมีภาคีเข้ามาร่วมพัฒนาและออกแบบหลักสูตรร่วมกัน โดยประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา พัฒนาชุมชน จังหวัดสงขลา และ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะแต้ว โดยเนื้อหาของหลักสูตรในโครงการฯ นั้นเน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทอดรูปแบบเดิม เป็นกระบวนการทอดที่ไม่อมน้ำมันและมีกลิ่นเหม็นหืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และวิธีการขนส่ง ให้สามารถคงรูปร่างของขนมดอกจอกไปสู่มือผู้บริโภคอย่างสมบูรณ์ ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างโรตีกรอบจิ๋วนั้น คณะทำงานร่วมกันออกแบบเครื่องจักรสำหรับผลิตโรตีกรอบจิ๋วให้กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสร้างรายได้เพิ่มจากขนมพื้นบ้านชนิดใหม่นี้ได้มั่นคงยิ่งขึ้น 

ทว่า การพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตยังไม่เพียงพอสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ความได้เปรียบเชิงธุรกิจการค้าขึ้นอยู่กับทรัพยากรมนุษย์ที่มีพลังสร้างสรรค์ และรู้จักบูรณาการเทคโนโลยี จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในการเสริมสร้างทักษะด้านการตลาดออนไลน์ ส่งผลให้เกิดเป็นเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ และการจำหน่ายสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่น ไลน์ เพื่อกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคในวงกว้าง

หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะถือเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมรายได้ให้กลุ่มผลิตขนมพื้นบ้านอย่างยั่งยืน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวสามารถสร้างความเจริญให้ชุมชน และยกระดับความเป็นอยู่ของกลุ่มเป้าหมายให้ดีขึ้นได้จริง ตลอดจนสามารถนำไปสู่การเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนต่อไป

 

คณะทำงานเข้ามาร่วมพัฒนา ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการทอดรูปแบบเดิม เป็นกระบวนการทอดที่ไม่อมน้ำมันและมีกลิ่นเหม็นหืนควบคู่ไปกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และวิธีการขนส่ง ให้สามารถคงรูปร่างของขนมดอกจอก ไปสู่มือผู้บริโภคอย่างสมบูรณ์ ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างโรตีกรอบจิ๋วนั้น คณะทำงานร่วมกันออกแบบเครื่องจักรสำหรับผลิตโรตีกรอบจิ๋ว ให้กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสร้างรายได้เพิ่มจากขนมพื้นบ้านชนิดใหม่นี้ได้มั่นคงยิ่งขึ้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาศักยภาพกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมพื้นบ้านชุมชนบ้านด่าน หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับสู่วิสาหกิจชุมชน

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา

  • โทร: 081-8961238
  • ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์คุลยา ศรีโยม

เป้าประสงค์

  1. กลุ่มมีผลิตภัณฑ์ขนมดอกจอกที่มีคุณภาพตามความต้องการของลูกค้า คือไม่อมน้ำมัน และไม่มีกลิ่นเหม็นหืน
  2. กลุ่มมีผลิตภัณฑ์ขนมเพิ่มขึ้น 1 ชนิด คือโรตีกรอบจิ๋ว 
  3. สมาชิกกลุ่มมีความรู้ด้านการบริหารจัดการกลุ่มตามหลักการในศตวรรษที่ 21 
  4. สมาชิกกลุ่มมีความรู้เรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือนและมีรายได้เพิ่มขึ้น
  5. สมาชิกกลุ่มมีทักษะในการดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว และสามารถผลิตขนมได้อย่างถูกสุขลักษณะ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19
  6. กลุ่มขนมพื้นบ้านมีแนวทางในการขับเคลื่อนสู่การยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส