ไม่มีสิทธิ์เลือก​ แต่ต้องรับผลทางนโยบาย ผู้ว่าฯ ในดวงใจ​ นักเรียนสังกัด กทม.

ไม่มีสิทธิ์เลือก​ แต่ต้องรับผลทางนโยบาย ผู้ว่าฯ ในดวงใจ​ นักเรียนสังกัด กทม.

โรงเรียนกลับมาเปิดสอนตามปกติอีกครั้งหลังจากต้องปิดเรียน ไปเรียนกันในระบบออนไลน์ร่วม 3 ปี ทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากการกระบาดของโควิด-19 ที่ตอนนี้ได้คลี่คลายไปบ้างแล้ว เมื่อโรงเรียนมาเปิดเรียนตามปกติ พร้อมๆ กับที่กำลังจะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพอดี หลายคนเลยโฟกัสไปที่นโยบายทางด้านการส่งเสริมการศึกษา ว่าผู้สมัครแต่ละคนมีไอเดียที่จะเข้ามาพัฒนาทางด้านนี้ให้กับคนกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง โดยคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังเฝ้ามองอย่างใจจดใจจ่อคือเยาวชนที่กำลังเล่าเรียนอยู่ในระดับชั้นต่างๆ โดยเฉพาะเด็กที่เรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษากำลังจะขึ้น ม.ต้น และเด็กที่กำลังจะจบ ม.ต้น ไปเรียน ม.ปลาย เมื่อกรุงเทพฯ กำลังจะเปลี่ยนแปลง พวกเขาเองก็อยากจะเห็นอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้างเหมือนกัน

ยิ่งในยุคสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ดูเหมือนจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ คนที่ตามทัน ชอบเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็อาจจะชอบเพราะไม่ต้องไปโรงเรียน แต่คนที่ตามไม่ทัน หัวไม่ไวพออาจจะเห็นว่าการเรียนการสอนในลักษณะนั้นยังมีปัญหาหลายอย่างให้ต้องแก้ไข ประกอบกับบางคน สภาพครอบครัว เครื่องมือเครื่องใช้ไม่อำนวย ก็อาจจะไม่ชอบการเรียนรูปแบบใหม่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนั้นไป

อย่างไรก็ตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตของคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้ผู้คนมีความคาดหวังมากขึ้นในการพัฒนาด้านต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันสื่ออินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์ทุกเพศทุกวัยมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ ความจรืงคือเด็กและเยาวชนมีโอกาสท่องไปในโลกอินเตอร์เน็ตมากกว่าคนวัยผู้ใหญ่หรือวัยชรา ทำให้เด็กๆ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ความทันสมัยของโลกเกือบจะทุกด้านอยู่อย่างต่อเนื่อง และเมื่อหันมองมายังสังคมในรั้วรอบการปกครองของกรุงเทพมหานคร เด้กหลายคนมีความคิดจินตนาการที่อยากจะเห็นรูปแบบการพัฒนาการศึกษา ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“ให้ผมได้เรียนศิลปะกับครูที่มีความรู้จริงๆ ได้ไหม?”

เป็นคำถามจากน้องโอม นักเรียนชั้น ม.3 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตคลองเตย กรุงเทพฯ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นเขตที่มีเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แต่ก็ใช่ว่าเด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สภาพแบบนี้จะไม่มีความคิดความฝัน ไม่มีความสามารถ แต่ตรงกันข้าม น้องโอมกลับบรรยายสภาพความเป็นอยู่ภายในโรงเรียน ด้วยคำพูดไม่กี่คำพูดแต่ทำให้เราได้เห็นหลากหลายแง่มุม ที่ยังไม่สมประกอบ ราวกับว่ากำลังนั่งชมภาพวาดเรียลลิสติกส์ ที่ทุกมุมมองล้วนถ่ายทอดมาอย่างไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง 

“รู้สึกไม่โอเคกับโรงเรียน ไม่โอเคกับอะไรเลย มีปัญหาจากกฎของโรงเรียนและตัวครูด้วย ปัญหาตู้กดน้ำของโรงเรียนก็ไม่เสียบไฟทำให้กดไม่ได้ บางตู้ก็สกปรกใช้ไม่ได้ ห้องน้ำก็สกปรกจะใช้ห้องน้ำครูก็โดนว่า ห้องสมุดโรงเรียนมีอยู่แต่ใช้ไม่ได้ เคยแอบดูห้องสมุดก็มีพวกนิทานแล้วก็สื่อการสอนทั่วไป และมีพวกพงษาวดารต่างๆตอนปอห้าปอหกก็เคยเข้าเพราะมีครูคนหนึ่งพาเข้า หลังจากนั้นครูคนนั้นก็ย้ายออกจากโรงเรียนห้องสมุดถูกปิดและไม่เปิดให้ใช้อีกเลย โดยไม่บอกนักเรียนว่าเพราะอะไร”

น้องโอม บอกว่า สำหรับเขาแล้ว ห้องสมุดนั้นมีความสำคัญมาก เขาคิดว่าห้องสมุดทุกโรงเรียนควรใช้ได้ มันควรเป็นหลักพื้นฐานให้กับนักเรียนใช้เป็นที่ค้นคว้าหาความรู้ ส่วนเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนก็เคยถูกขโมยเงินอยู่สองถึงสามครั้ง ถูกเพื่อนแกล้งทำร้ายร่างกายไปฟ้องครูครูก็แค่ห้าม แค่พูดปากเปล่าพอคราวหน้าเด็กก็ตีกันอีก

“ผมว่าครูควรดูแลเอาใจใส่มากกว่านี้ พอเราบอกไปก็ทำเมินเหมือนไม่ได้ยิน อุปกรณ์การเล่นกีฬาถ้าไม่สนิทกับครูสอนพละก็เอาออกมาเล่นยาก เรื่องห้องน้ำถ้าไม่ปวดปัสสาวะจริงๆ ก็ไม่อยากเข้าเลยประตูก็พัง ความสะอาดให้ 1 เต็ม 10 เรื่องอาหารกลางวันกับข้าวมีรสจืดมากคนเป็นโควิดก็กินได้ พอขึ้นมัธยมก็มีรสชาติหน่อยเพราะได้พริกน้ำปลาเพิ่ม”

น้องโอม บอกว่า อยากให้มีการเพิ่มงบประมาณด้านอาหารกลางวันสำหรับเด็ก เพราะสารอาหารในอาหารกลางวันเป็นพลังงานสำคัญที่เด็กต้องใช้ในการเรียน หากกินอาหารไม่ดี อย่างอื่นก็คงจะแย่ตามไปหมด เทียบกับผู้ใหญ่ หากผู้ใหญ่ไม่ชอบอาหารก็จะแสดงออก จะโวยวาย แต่เด็กทำแบบนั้นไม่ได้ อยากให้ทางโรงเรียนหรือผู้ที่ดูแลการศึกษาใส่ใจตรงนี้ด้วย

“อยากให้โรงเรียนมีพื้นที่ให้นักเรียนได้ใช้พัฒนาทักษะตัวเอง คนที่ชอบเล่นกีฬาควรมีสนามกีฬาดีๆ ให้เล่น ให้ซ้อม เด็กควรได้เรียนได้ทำในสิ่งที่ชอบ แต่นี่ครูสั่งการบ้านเยอะ สั่งงานที 10 หน้า โรงเรียนควรจะส่งเสริมหลายหลายด้าน ให้เราค้นหาในสิ่งที่เราชอบ อย่างเช่นผมชอบศิลปะ ก็อยากให้มีวิชาศิลปะ เรียนกับครูที่มีความรู้จริงๆ คนที่เป็นศิลปินจริงๆ นี่ก็มีแต่ความรู้แบบเดิมๆ อยากให้มีแบบใหม่ใหม่บ้าง อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ดูแลการศึกษาให้ดีกว่านี้ ตอนนี้โรงเรียนก็เหมือน 100 ปีที่แล้วไม่มีการพัฒนาอะไรเลย”

ทำได้ไหม เมื่อเด็กๆ ชอบเล่นเกมส์ พัฒนาแบบเรียนให้เหมือนกับเกม?

ถ้าทีมร่างนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนไหนมาเห็นไอเดียนี้เข้าคงร้องว้าว ว่าเด็กคิดได้อย่างไร นี่เป็นความต้องการของน้องอะแด๊ป นักเรียนชั้น ม.4 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อ แม่ เป็นคนต่างจังหวัดที่มาตั้งรกรากประกอบอาชีพค้าขายในกรุงเทพฯ จนขยับฐานะได้ มีรายได้เพียงพอที่จะสนับสนุนให้เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่รักและชอบ ทั้งดนตรี กีฬา ศิลปะ แต่ว่าเมื่อเสร็จจากกิจกรรมการเรียนหลัก เรียนพิเศษ เรียนเสริม เขาพบว่าตัวเองชอบเล่นเกม เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งก็ไม่ต่างจากเพื่อนในวัยเดียวกันอีกจำนวนมากที่ล้วนแล้วแต่ชอบเล่นเกมส์กันทั้งนั้น แต่ว่ามักจะโดนพ่อแม่ดุด่า หาว่าเป็นเด็กติดเกม

“ที่จริงการเล่นเกมต้องใช้ความสามารถ ใช้ทักษะหลายๆ อย่างนะครับ เราต้องรู้ว่าจะเข้าไปตรงไหน ต้องวางแผนว่าจะเล่นยังไง เกมบางเกมเป็นเรื่องราวให้เราเล่นเป็นตัวละคร เลือกเอาว่าจะเป็นตัวไหนก็ได้ ในเกมหนึ่งก็เหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง มันจะทำได้ไหมให้ครูออกแบบวิชาต่างๆ ให้เป็นเกม แล้วให้เด็กเรียนรู้ด้วยการเล่นเก็บคะแนนไปเรื่อยๆ เลือกได้ว่าจะเล่นที่ยากก่อนหรือที่ง่ายก่อน ผมว่าถ้าผู้ว่าฯ คนไหนทำได้การเรียนมันจะต้องสนุกมากขึ้นแน่นอน”

ภาพเกม SimCity จาก clubsister

อันที่จริงชีวิตก็ไม่ต่างไปจากเกม และในความเป็นจริงสิ่งที่น้องอะแด๊ปนำเสนอก็ไม่ได้เป็นความเพ้อฝันของเด็กติดเกม เพราะในการเรียนการสอนจริงๆ อย่างเช่นนักศึกษาที่เรียนวิชาสถาปัตยกรรม จะมีทักษะการออกแบบการเขียนแบบที่ดี หากได้ฝึกหัดเล่นเกมการสร้างเมืองจำลองที่ชื่อ SimCity ซึ่งนับเป็นเกมส์ที่เสริมทักษะการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีสำหรับนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังมีเกมส์ประเภท Manager ที่จำลองสถานการณ์การแข่งขันกีฬาฟุตบอลขึ้นมา แล้วให้ผู้เล่นสวมบทเป็นผู้จัดการทีม

ซึ่งการเป็นผู้จัดการทีมเสมือนจริงนี้มีตัวเลือกในการคิด การตัดสินใจ การวางกุลยุทธ์ การเลือกตัวนักเตะ หรือซื้อตัวนักเตะ ที่เหมือนกับสถานการณ์จริงทุกอย่าง และเมื่อเกมดำเนินไป ผู้เล่นก็จะได้เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองวางแผน การจัดการของตัวเองในแต่ละครั้งแต่ละเงื่อนไขปัจจัยนั้นมันให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร ยังมีเกมส์อีกมากมายที่ช่วยเสริมทักษะให้กับเด็กและเยาวชนได้ ไม่ต่างไปจากหนังสือนอกเวลา เด็กติดเกมอย่างอะแด๊ปเสนอว่าหากกรุงเทพฯ สามารถพัฒนาต้นแบบการเรียนด้วยหลักสูตรแต่ละวิชาที่ไม่ได้มาในรูปแบบของหนังสือและตัวอักษรอีกต่อไป แต่ถ้ามันมาในรูปแบบของเกม

“ลุงลองคิดดูว่ามันน่าสนุกน่าค้นหาแล้วก็ท้าทายให้เรียนขนาดไหน ถ้าใครเสนอนโยบายการศึกษาแบบนี้ รับรองคนที่ชอบเล่นเกมเค้าต้องเลือกแน่นอน” อะแด๊ป กล่าวอย่างสนุก

“หนูอยากได้การศึกษาแบบว่า ชีวิตประจำวันนั่นแหละ คือการเรียนรู้”

ด.ญ.ณัฐนิชา นักเรียนชั้น ม.3 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตสะพานสูง เธอขอดูนโยบายการศึกษาของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เป็นตัวเต็ง 5-6 คนแล้วตอบกลับมาว่าเธอชอบนโยบายนี้

“หนูชอบนโยบายที่เขียนว่าเพิ่มการเรียนทักษะชีวิตที่เก็บเป็นหน่วยกิตได้

เปิดโอกาสให้เด็ก สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น เน้นการเรียนรู้อัตลักษณ์ในชุมชนของตนเอง เพิ่มพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน ให้เป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้กับนักเรียน เพื่อสามารถเรียนรู้วิชาชีพได้ตั้งแต่อายุยังน้อย หนูชอบมากเลยค่ะ อยากให้ทำแบบนี้”

เพราะ ด.ญ.ณัฐนิชา ก็เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่พ่อแม่ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงิน แม้จะมีลูกสาวเพียงคนเดียว แต่ก็พบว่าชีวิตในเมืองหลวง ทำให้บ่อยครั้งที่ครอบครัวแทบจะไม่ได้เจอหน้ากัน เนื่องจากพ่อของ ด.ญ.ณัฐนิชา ทำงานด้านจัดหาโลเกชั่นให้กับกองถ่ายภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานเฉพาะที่ต้องใช้ทักษะใช้คอนเน็คชั่นส่วนตัว ว่างจากงานหาโลเกชั่นให้กองถ่าย ก็มาขายกาแฟในร้านเล็กๆ ที่อยู่หน้าคอนโดฯ ซึ่งเป็นที่พักอาศัย ของครอบครัว

แต่สภาพที่เป็นอยู่ แม้ว่า ด.ญ.ณัฐนิชา จะโตพอที่จะช่วยแบ่งเบาภาระครอครัวได้แล้ว แต่เนื่องจากหน้าที่หลักของเธอก็คือต้องไปโรงเรียน ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้ไปเรียนรู้งาน เรียนรู้ทักษะเฉพาะทางจากงานของพ่อ ในขณะเดียวกัน เธอควรจะได้เรียนรู้งานค้าขายจากการได้ช่วยแม่ขายกาแฟ แต่เธอก็ต้องไปโรงเรียน ไม่มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใกล้ตัวที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมันจะเป็นรากฐานของงานในอนาคตของเธอได้

“ลองคิดดูว่าเราขายกาแฟ เราได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง เราได้คิดเงินทอนลูกค้ามันคือวิชาคณิตศาสตร์ ที่ได้ใช้จริง ถ้าเราคิดผิดเราก็ขาดทุน เราได้เรียนรู้วิชาสุขศึกษา ในขระที่เราทำงานไปก็ได้ขยับร่างกายไปด้วยก็เหมือนเรียนพลานามัย เราได้เรียนรู้อะไรเยอะมากจากการช่วยพ่อแม่ขายกาแฟ หรือหากตามพ่อไปหาโลเกชั่นให้กองถ่ายหนัง เราก็ได้ความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ บางที่มีประวัติศาสตร์ให้ได้เรียนรู้ มันจะดีมากเลยถ้าประสบการณ์เหล่านี้ แปรเป็นคะแนน แทนการเรียนในห้องเรียนได้ หนูอยากได้ผู้ว่าฯ ที่จะมาพัฒนาการศึกษาแนวนี้ หนูว่าเด็กทุกคนจะอยากเรียนและจะมีความสุขมากขึ้นค่ะ”

อยากมีสนามกว้างๆ ที่ไม่ต้องแย่งกันเล่น ห้องเรียนเย็นๆ ติดแอร์

หากใครชอบดูภาพยนตร์ต่างประเทศ อย่างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ในฉากที่เป็นสวนหรือสนามเด็กเล่น เรามักจะเห็นว่าบ้านเมืองของเขาเด็กๆ มีสนามหญ้าพื้นที่วิ่งเล่นแบบไม่จำกัด ไม่ว่าจะในสวนสาธารณะหรือพื้นที่ภายในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ เรามักจะเห็นภาพเป็นแบบนั้น และมันเป็นภาพที่ดูสบายตา ประทับใจจนชินตา จนมันกลายมาเป็นความหวัง ความฝัน อยากจะเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้นใกล้ๆ ตัวเราบ้าง น้องวินเทจ ก็มีความหวังและความฝันเช่นนั้นเหมือนกัน

น้องวินเทจ อายุ 6 ขวบ อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร พื้นฐานครอบครัว เล่าโดยแม่ ‘น้ำ’ว่า น้องวินเทจเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวชนชั้นกลาง-ล่างในกรุงเทพมหานคร พ่อกับแม่มีเงินเดือนรวมกันประมาณ 40,000-50,000 บาทต่อเดือน แต่เงินจำนวนนี้ก็ต้องส่งไปให้ ปู่ย่าตายายของน้องวินเทจด้วยเช่นกัน

วินเทจเรียนออนไลน์โดยการที่ครูส่งใบงานการบ้านมาให้ทำที่บ้านในตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แม่ที่ต้อง work from home จึงต้องทำงานไปด้วยสอนลูกเรียนหนังสือไปด้วยซึ่งพบว่าไม่ได้ผล เพราะน้องซนไม่เชื่อฟังแม่เหมือนครู และแม่กลัวว่าลูกจะไม่มีความรู้ที่เพียงพอ จึงส่งลูกเรียนพิเศษ

แม่เล่าว่าจะเห็นว่าที่เรียนพิเศษวันนี้ไม่ได้มีแค่คนรวยๆ ไปเรียน เราจะเห็นคนที่ไม่มีเงิน ครอบครัวคนจนก็ไปเรียน เพราะกลัวว่าการเรียนออนไลน์จะทำให้ลูกๆ ของตนขาดความรู้ไป

เปิดเทอมนี้ครอบครัวจะให้น้องวินเทจไปเรียนโดยใช้รถตู้ของโรงเรียนที่ต้องจ่ายเดือนละ 1,000 บาท ถ้ารวมทั้งปีก็ประมาณ 8,000 บาท ที่ตัดสินใจอย่างนี้เพราะปกติให้คุณตาปั่นจักรยานไปส่งลูกที่โรงเรียน แต่บางทีต้องปั่นย้อนศร หรือปั่นในซอยเล็กๆ ก็กลัวลูกเป็นอันตราย

การไปเรียนที่โรงเรียนปกติ กับการเรียนพิเศษ มันมีอะไรที่แตกต่างกันเห็นได้ชัด จนเด็กๆ เกิดความรู้สึกโหยหา อยากให้ห้องเรียนในชีวิตประจำวันเป็นเหมือนกับบรรยากาศในห้องเรียนพิเศษบ้าง

“ในห้องเรียนพิเศษมันติดแอร์เย็นสบาย น่าเรียน ครับ แต่ในห้องเรียนปกติ ไม่มีแอร์มันเลยร้อน เรียนไม่สนุก ไม่ค่อยรู้เรื่องครับ”

ลองนึกถึงว่าถ้าสำนักงานที่ว่าการกรุงเทพมหานคร ที่ห้องหนึ่งๆ คงมีเจ้าหน้าที่ไม่มากเท่าเด็กในห้องเรียนโรงเรียนสังกัด กทม.หรอก แต่ทว่าหากห้องทำงานเหล่านั้นไม่มีเครื่องปรับอากาศ ผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานราชการหน่วยต่างๆ ไปจนกระทั่งลูกจ้างของ กทม.จะนั่งทำงานกันในสภาพไหน หน่วยงานอื่นๆ แม้กระทั่งกระทรวงศึกษาธิการก็เช่นกัน สภาพอากาศในกรุงเทพฯ อาจจำเป็นที่ห้องเรียนทุกห้องควรมีเครื่องปรับอากาศเพื่อความเสมอภาค เพื่อสร้างบรรยากาศให้น่าเรียนรู้อย่างที่เด้กร้องขอหรือไม่ ผู้ใหญ่ที่นั่งทำงานอยู่ในห้องแอร์ทุกวันในขณะนี้น่าจะเข้าใจดี ว่าเด็กที่แออัดกันอยู่ในห้องเรียนของโรงเรียนหลายๆ แห่ง ห้องที่ติดแอร์ กับห้องที่ไม่ติดแอร์ บรรยากาศการเรียนการสอน มันต่างกันจริงๆ

“ที่สนามกีฬามีแต่พี่ๆ โตๆ ไปเตะบอล ไม่มีเด็กอายุเท่าวินเทจไปเล่นครับ ปกติถ้าออกไปสวนสาธารณะแถวบ้านต้องไปกับพ่อ เพราะว่าสนามฟุตบอลมีแต่พวกผู้ใหญ่ เด็ก ๆ ไปเล่นก็จะอันตราย วินเทจก็จะไปเล่นไม่ได้”

มีนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หลายคนที่ให้ความสำคัญกับสวนสาธารณะ หรือว่าอยากมีห้องสมุดให้กับเด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กที่ทำให้เด็กได้วิ่งเล่นและทำกิจกรรมมีความสำคัญมาก อย่างเด็กในชุมชนแออัดเมื่อเขาไม่มีที่ให้ทำกิจกรรม บ้านก็คับแคบ น้องๆ ก็จะไปอยู่ใต้สะพาน พากันต้มน้ำกระท่อม เตะบอลอยู่ข้าง ๆ กองขยะ

วินเทจ อยากได้สนามกว้างๆ เพื่อที่ทุกคนจะได้มีพื้นที่วิ่งเล่นทำกิจกรรม ไม่ต้องแย่งกันเล่น หรือเบียดกันเล่นกับเด็กที่โตกว่า ซึ่งการเบียดเสียดยัดเยียดกันในสนามเด็กเล่น มักเป็นที่มาให้เด็กเล็กๆ ได้รับบาดเจ็บจากการกระทบกระทั่งกันกับเด็กที่อยู่ในวัยที่โตกว่าอยู่บ่อยครั้ง การกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้น เพราะโรงเรียนหลายแห่งมีพื้นที่ไม่พอให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่น ภาพฝันของเด็กทุกคนคือสนามกว้างๆ ผู้ใหญ่สร้างให้ได้มั้ย?

กิจกรรมเยอะๆ เพื่อผ่อนคลาย – ห้องทดลองเพื่อความรู้จริง

การศึกษาไทยเท่าที่ผ่านมาจะเห็นว่าเน้นพัฒนาทางด้านวิชาการ มุ่งแข่งขันกันไปสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการความรู้ บ่อยครั้งการเคี่ยวกรำเด็กและเยาวชนด้วยเนื้อหาหนักเน้นไปทางวิชาการมากเกินไปของผู้ใหญ่ ทำให้เด็กตกอยู่ในสภาวะความเครียด มีมากมายที่กลายเป็นโรคซึมเศร้า เด็กฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจากความคาดหวังในความเป็นเลิศ ทำผลสอบไม่ได้ตามเป้า ทำคะแนนไม่ได้ตามที่พ่อแม่หวัง หลายครั้งก็ทำให้เด็กเครียดจนเกินที่จะรับไหว

“นโยบายของผู้ว่าคนใหม่เรื่องการศึกษา หนูอยากให้มีกิจกรรมเยอะๆ เลยค่ะ เช่น กีฬา ร้องเพลง”

นั่นคือความฝันของน้องแก้มอายุ 12 ขวบ อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

น้องแก้มอยู่ในชุมชนคลองเตย มีพี่สาวอยู่ม.3 ที่บ้านมีคุณพ่อ แม่ พี่สาว และคุณปู่ ทั้งบ้านมีแหล่งเงินแค่จากคุณพ่อที่ทำงานเป็นพนักงาน กทม.มีเงินเดือน 10,000 ต้น ๆ

แม้จะอยู่โรงเรียน กทม.ของรัฐ แต่ตลอดปีการศึกษาครอบครัวจะต้องเสียเงินประมาณ 20,000 บาทเพื่อส่งเสียลูกทั้งสอง ทุกวันนี้พ่อกับแม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูก ซึ่งพบว่าตอนนี้ยังค้างชำระค่าเล่าเรียนในโรงเรียนของลูกอยู่

น้องแก้มเป็นดาวประจำคลองเตย มีงานกิจกรรมอะไรน้องแก้มจะขึ้นไปร้องเพลงเสมอ และการได้แสดงออกในสิ่งที่รักที่ชอบเช่นการร้องเพลง มันทำให้ชีวิตช่างมีความสุข ในโลกนี้ ใครๆ ก็ชอบร้องเพลง แม้แต่คนที่ร้องไม่เป็น ก็ยังอยากจะร้องเพลงเลย น้องแก้ม จึงมีผู้ว่าฯ ในฝัน อยู่ในใจแล้ว ผู้ว่ากรุงเทพฯ ของเธอเป็นคนที่มีความรอบรู้มีความสามารถหลากหลาย เธอคาดหวังว่าหากได้ผู้ว่าคนนี้ กรุงเทพฯ ก็อาจจะมีพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์เปิดกว้างให้กับเด็กๆ มากขึ้น

เด็กกิจกรรมอย่างน้องแก้ม เมื่อถามว่าชอบเรียนวิชาอะไรมากที่สุด เธอกลับตอบว่าชอบวิทยาศาสตร์ เสียงเพลงอาจจะดีกับนักทดลองก็เป็นได้ มันอาจทำให้สมองปลอดโปร่ง แต่ว่าโรงเรียนของน้องแก้มกลับไม่มีห้องทดลองน่ะสิ แล้วอย่างนี้จะทำยังไง

“ผู้ว่าคนใหม่ควรสนุบสนุนให้ทุกโรงเรียนมีห้องทดลองค่ะ เพราะว่าเราจะได้เห็นของจริง ได้เรียนรู้จากการทดลองจริงๆ”

น้องแก้มกำลังนำเสนอเรื่องความเท่าเทียม เธอไม่ได้เรียกร้องให้แต่เฉพาะโรงเรียนในเขตที่เธอเรียนหนังสืออยู่ แต่เธอเน้นว่า “ทุกโรงเรียนควรมีห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จริง”

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ มีผู้สมัครหลายคน ที่เสนอเรื่องโรงเรียนมาตรฐานเท่าเทียมกัน โรงเรียนมาตรฐานต้องอยู่ใกล้บ้าน ถ้าโรงเรียนใกล้บ้านมีคุณภาพเหมือนโรงเรียนเอกชนคงดีไม่น้อย 

ทั้งหมดนี้ก็คือความคิด ความหวัง ความฝัน ของเด็กๆ ส่วนหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ที่มีต่อผู้ว่าฯ คนใหม่ของเขา น่าเสียดายว่าพวกเขายังอยู่ในวัยที่ไม่สามารถจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ บางทีอาจจะดีไม่น้อยหากมีการแก้กฎหมายให้เด็กและเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ เมื่อโลกเปลี่ยนไปถึงขนาดนี้แล้ว ความฝันของเด็กอายุ 15 หรือต่ำลงมา ก็ไม่ควรจะเป็นสิ่งเลื่อนลอยอีกต่อไป และเมื่อพวกเขาเป็นอนาคตของชาติ เขาก็ควรมีสิทธิ์ได้กำหนดอนาคตของเขาเองด้วย หากประเทศชาติเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง