โมน สวัสดิ์ศรี: เปิดตาเปิดใจ เรียนรู้โลกกว้าง ผ่านห้องเรียนที่ชื่อ ‘รถไฟ’

โมน สวัสดิ์ศรี: เปิดตาเปิดใจ เรียนรู้โลกกว้าง ผ่านห้องเรียนที่ชื่อ ‘รถไฟ’

บ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง ท่ามกลางอุณหภูมิร้อนระอุและแสงแดดที่ทำงานอย่างขันแข็ง เราเดินทางมาพบกับชายผู้หนึ่ง ณ เรือนไม้ร่มรื่นที่ซ่อนตัวอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองรังสิตนัก เมื่อย่างก้าวเข้าไปภายในตัวบ้าน บรรยากาศและกลิ่นโชยแห่งวรรณกรรมลอยเข้ามาตีจมูก ไม่รู้ว่าจะเป็นการอุปทานเกินเหตุไปหรือเปล่า แต่อดไม่ได้ที่จะรู้สึกแบบนั้น ในเมื่อสถานที่เรามาเยือนแห่งนี้เป็นบ้านของครอบครัวนักเขียนที่ผลิตงานเขียนทั้งวรรณกรรม และงานเชิงปัญญาหล่อเลี้ยงสังคมไทยมานานหลายทศวรรษ 

ชายที่เรานัดพบวันนี้ มีนามว่า โมน สวัสดิ์ศรี ใช่ ถ้าคุ้นหูคุ้นตากับนามสกุลนี้ เขาคือลูกชายของ ‘สิงห์สนามหลวง’ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ ‘ศรีดาวเรือง’ วรรณา สวัสดิ์ศรี สองนักเขียนผู้คร่ำหวอดและเดินบนเส้นทางสายน้ำหมึกไทยมายาวนาน

ในฐานะลูกชายของนักเขียนยอดฝีมือทั้งสองคน คงไม่ต้องกล่าวให้มากความ โมน สวัสดิ์ศรี ก็เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่มีงานเขียนออกมาหลายเล่ม และทุ่มเทแรงกายให้กับงานสายอักษรมาตลอดหลายปี 

ทว่า เหตุผลของการมาเยือนครั้งนี้ หาใช่เป็นการพูดคุยกับเขาในฐานะนักเขียนคนหนึ่งไม่ เพราะนอกเหนือจากการเป็นนักเขียนและบรรณาธิการ ในอีกมุมหนึ่ง โมน สวัสดิ์ศรี ยังเป็นชายผู้หลงรักรถไฟขนาดหนัก ถึงขนาดที่เขาสามารถเรียกตัวเองว่า ‘ติ่งรถไฟ’ ได้อย่างเต็มปาก ความเป็นติ่งรถไฟดังกล่าว ก่อร่างสร้างตัวตนของเขามาตั้งแต่ยังเด็ก อาจก่อนการเป็นนักเขียนด้วยซ้ำ ทำให้งานเขียนหลายเล่มของเขามักจะมีเรื่องราวการเดินทางด้วยรถไฟปะปนอยู่เสมอ 

นอกจากการเข้ารับการศึกษาในห้องเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ และห้องเรียนนักเขียนที่มีอาจารย์คือบิดามารดาของเขา โมน สวัสดิ์ศรี ยังเติบโต เรียนรู้ ผ่านห้องเรียนทางเลือกที่ชื่อว่า ‘ห้องเรียนรถไฟ’ มันคือห้องเรียนที่เขาได้เลือกเองตั้งแต่เยาว์วัย หมั่นลงหน่วยกิต เพื่อศึกษาวิชาความรู้แขนงต่างๆ อยู่เสมอ เป็นที่ที่เขาเชื่อว่า นี่คือพื้นที่การเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามความสนใจและความถนัด โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนรูปแบบเดิมๆ 

โมน สวัสดิ์ศรี นักเขียนคนหนึ่ง
ผู้เรียกตัวเองว่า ‘ติ่งรถไฟ’

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุที่เราเดินทางมาสนทนากับเขาถึงประสบการณ์การเรียนรู้ในห้องเรียนรถไฟ ว่ามีส่วนหล่อหลอมตัวตนของเขาอย่างไร เขาได้เรียนรู้อะไรจาก ห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่แออัดไปด้วยผู้คนบ้าง และที่สำคัญ ตลอดการเข้ารับการศึกษาในห้องเรียนรถไฟมานานหลายปี เขามองเห็นความเหลื่อมล้ำของผู้คนที่แทรกตัวอยู่ทั้งในตัวขบวนและระหว่างสองข้างทางรถไฟในลักษณะอย่างไร

เตรียมตัวให้พร้อม เพราะเรากำลังจะพาทุกคนเดินทางไปสู่ห้องเรียน ที่ไม่ใช่ห้องเรียนตามขนบทั่วไปที่เราคุ้นเคย แต่เป็นห้องเรียนเคลื่อนที่ ที่จะพาผู้เรียนเคลื่อนไปรู้พบกับอีกหลายๆ มุมของชีวิต ที่ไม่ได้มีเพียงแต่ด้านที่สวยงามเท่านั้น 

ถ้าตีตั๋วเรียบร้อยแล้ว ก็ขอให้ผู้โดยสารจับจองที่นั่ง เตรียมตัวให้มั่น เพราะรถไฟขบวนนี้พร้อมจะเดินทางออกพาท่านไปหาคำตอบแล้ว

-สถานีต้นทาง-

เส้นทางการเรียนรู้ที่เลือกเอง

อะไรคือจุดเริ่มต้นความผูกพันกับยานพาหนะที่ชื่อ ‘รถไฟ’

ตั้งแต่เล็กๆ ผมต้องนั่งรถไฟไปหาหมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แม่อุ้มบ้าง พ่ออุ้มบ้าง สลับไปสลับมา แต่จำไม่ได้จริงๆ ว่าครั้งแรกเมื่อไหร่ น่าจะ 2-3 ขวบ 

อาจเป็นเพราะบ้านอยู่ใกล้สถานีรถไฟด้วย คุณแม่ที่เคยมีบ้านอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งก็ใกล้สถานีรถไฟ คุณพ่อก็เหมือนกัน ตอนนี้ทั้งพ่อ แม่ และผมก็อยู่ใกล้สถานีรถไฟ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มันโดยสาร

เรียกว่ามีความผูกพันกับรถไฟมาตั้งแต่นั้น รถไฟเป็นยานพาหนะที่ใหญ่ที่สุดแล้วในชีวิตที่เราเคยเห็น เราเห็นรถยนต์ เห็นเครื่องบิน ซึ่งก็ไกลไป แต่รถไฟมันเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่ตรงหน้าเรา พาหนะอะไรกัน ใหญ่เท่าตึกแถว แต่เคลื่อนที่ได้ ยิ่งได้โดยสารก็เลยยิ่งผูกพันมากขึ้นอีก

จำครั้งแรกที่เดินทางโดยรถไฟด้วยตัวเองได้ไหม

จำได้ๆ ตอนนั้นประมาณ ม.1-2 ก็เหมือนกับวัยรุ่นนั่นแหละ อยากลองนั่งไปใกล้ๆ หลักสี่ บางเขน รู้สึกว่าจะเป็นการทดลองนั่งด้วยตัวเอง ลองนั่งดูสิว่าเป็นยังไง ตอนนั้นก็ไม่ได้ดูวิวทิวทัศน์อะไรเท่าไร เพราะเป็นขบวนรถไฟในเมือง แต่ก็เป็นฟีลลิ่งแบบคนเดียวที่สนุกตามประสาเด็ก 

บางทีก็พาเพื่อนไปด้วย นั่งรถไฟพาเพื่อนไปนั่งเล่นที่สถานีรถไฟเชียงราก จำได้เลยว่า ผมเอาหินรถไฟวางบนรางรถไฟ แล้วโดนนายสถานีด่าเช็ดเลย คือเขากลัวรถไฟตกราง หรือไปทำความเสียหายอะไรนั่นแหละ 

อันนั้นก็เป็นชีวิตวัยรุ่น และในช่วงเวลานั้นก็จะนั่งรถไฟไปต่างจังหวัดกับคุณแม่เป็นประจำ บ้านแม่อยู่ที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก แล้วเราก็จะรู้สึกตื่นเต้นที่ได้นั่งรถไฟไปที่นั่นทุกครั้ง อย่างที่เล่าให้ฟังว่าคุณแม่บ้านอยู่ใกล้สถานีรถไฟ คุณตาของผมเขาทำงานการรถไฟ เป็นผู้ช่วยนายสถานี มันก็เกิดความผูกพันต่อมาเป็นทอดๆ 

ชอบนั่งรถไฟคนเดียว หรือไปกันหลายๆ คน

ก็มีทั้ง 2 แบบ ถ้านั่งคนเดียวก็อาจต้องระวังตัวหน่อย แต่ถ้าไปกันเยอะๆ ก็จะอุ่นใจขึ้น ผมเคยนั่งรถไฟไปกับกลุ่มนักเขียนของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ของพี่นิวัต พุทธประสาท นั่งไปเชียงใหม่ จุดหมายปลายทางคือบ้านของอาปุ๊ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ไปกันหลายคน มันก็เฮฮา สนุกสนานมาก 

เวลานั่งรถไฟคนเดียว มีโอกาสได้คุยกับผู้โดยสารคนอื่นบ้างไหม

ไม่ค่อยได้คุยเลย (หัวเราะ) จะคุยเท่าที่จำเป็น เช่น ถึงสถานีไหนแล้ว แต่มันก็ต่อยอดได้เหมือนกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งเรานั่งรถไฟท่องเที่ยวไปอยุธยา คนนั่งตรงข้ามเขาก็ชวนคุย ไปๆ มาๆ ก็ได้รู้ว่าเขาเป็นนักอ่าน รู้จักนักเขียนเยอะมาก รู้จักคุณพ่อผมด้วย มันก็มีบทสนทนาทำนองนี้บ้างเหมือนกัน

แล้วการโดยสารรถไฟฟ้าในเมือง เช่น BTS หรือ MRT ให้ความรู้สึกเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

รถไฟฟ้าก็คือรถไฟนั่นแหละ แต่คนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้สึกอย่างนั้น เพียงแต่ว่ารถไฟของ รฟท. มันไม่ค่อยพัฒนาเท่าไร ส่วนพวกรถไฟฟ้ามันใหม่เอี่ยม หน้าตาก็ไม่เหมือนกัน ประเภทของรถก็ต่างกัน แต่มันเป็นรถไฟฟ้ารางหนัก (heavy rail) เหมือนกัน 

จุดที่รถไฟฟ้าแตกต่างกันก็คือผู้โดยสาร ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่พอจะมีเงินจ่ายค่าโดยสารไปทำงาน ซึ่งเขาจะไม่ได้นั่งรถไฟฟ้าเล่น มันก็แตกต่างกันนะ มันทำหน้าที่แค่พาคนไปสู่จุดหมายจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งเท่านั้นเอง 

แต่รถไฟฟ้าพวกนี้ก็ยังกระจุกตัวอยู่แค่ในเมือง ไม่กระจายไปยังแถบชานเมืองเท่าไรนัก เราก็จะเห็นแค่ชนชั้นกลางระดับกลางหรือค่อนไปทางด้านบนใช้บริการกัน และรถไฟฟ้าพวกนี้ก็จะผูกกับอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก เช่น พวกคอนโดใกล้รถไฟฟ้าแล้วก็ทำให้เกิดแนวคิดการมีที่พักอาศัยอยู่ใกล้รถไฟฟ้าขึ้นมา 

รถไฟทั้งสองอย่างนี้ก็แบ่งแยกกันพอสมควร เลยกลายเป็นภาพว่า BTS ต้องคู่กับชนชั้นกลาง ส่วนรถไฟชั้น 3 ก็ต้องคู่กับคนจน แล้วก็สุดที่ชนชั้นกลาง ไม่ใช่พาหนะของชนชั้นสูงหรือคนรวย

รถไฟให้ภาพสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำด้วยไหม

ถ้าเป็นรถไฟชั้นเดียวกันทั้งขบวน เช่น ชั้น 3 หรือชั้น 2 ทั้งขบวน ก็อาจจะไม่ค่อยเห็นความเหลื่อมล้ำเท่าไร แต่ถ้าเป็นรถไฟที่มีตู้คละชั้น เช่น ตู้หนึ่งเป็นรถชั้น 3 อีกตู้เป็นรถชั้น 2 และอีกตู้เป็นชั้น 1 ซึ่งเป็นรถนอนปรับอากาศ ก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำอยู่ ทั้งกระเป๋าเงินของผู้โดยสารแต่ละคน กระเป๋าสะพายของแต่ละคน การแต่งตัวของแต่ละคน ทั้งๆ ที่เป็นรถไฟขบวนเดียวกัน มันก็จะเห็นความแตกต่างกัน

ด้วยค่าโดยสารราคาถูกของรถไฟชั้น 3 อาจมองได้ว่าเป็นการสงเคราะห์คนจนจากรัฐด้วยหรือเปล่า

มองในแง่หนึ่ง การที่รถไฟไทยราคาถูก คนเข้าถึงได้ง่าย แต่แน่นอนว่าก็แลกมาด้วยบริการที่เราก็รู้ๆ กันอยู่ 

ถ้าเป็นผู้สูงอายุลดราคา 50 เปอร์เซ็นต์ ทหารผ่านศึกก็ได้ส่วนลด หรือในช่วงที่คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้คนไทยได้นั่งรถไฟชั้น 3 ฟรี ถึง 9 ปีเต็ม อันนี้ก็เป็นสวัสดิการจากรัฐ แต่ว่าสวัสดิการจากรัฐ หรือมุมมองของรัฐที่มีต่อคนจน หรือที่มีต่อรถไฟก็ตาม มันก็ยังคล้ายๆ กันคือ อนาถา เหมือนๆ กับบัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จริงมันควรจะยกระดับสถานะให้ดีกว่านี้ได้ หรือควรจะไปให้พ้นจากเรื่องความจนได้แล้ว 

พูดถึงความยากจนของคนที่โดยสารรถไฟ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของความโรแมนติกเกี่ยวกับรถไฟของกลุ่มชนชั้นกลางที่ชอบนั่งรถไฟเล่นด้วย เคยเห็นคู่บ่าวสาวมาถ่ายพรีเวดดิ้งกันที่สถานีหัวลำโพง พอถามว่าขึ้นรถไฟประจำไหม ก็ไม่ แต่เขาสนุกกับความโรแมนติกของรถไฟ ทั้งๆ ที่เขาอาจไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมหรือมีความสนใจในตัวรถไฟนัก

ที่จริงตัวรถไฟเองมันก็พัฒนานะ แต่พัฒนาช้าไป มันควรพัฒนาได้เร็วกว่านี้ การบริหารจัดการจากรัฐที่คอยอุ้มชูช่วยเหลือผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ถามว่ารัฐทำหรือไม่ ก็ทำนะ แต่ทำโดยมองว่าเป็นความอนาถา ซึ่งรัฐควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้

หรือแม้แต่ตัวรูปลักษณ์รถไฟ ในขณะที่ประเทศอื่นเขาไปถึงไหนกันแล้ว แต่รถไฟบ้านเรายังอยู่ในยุคที่ 2 อยู่เลย อุปกรณ์อะไรต่างๆ ก็เก่า ล้าสมัยไปแล้ว แต่คนก็มองว่ามันวินเทจ ที่จริงไม่ใช่ มันควรเปลี่ยนตั้งนานแล้ว 

ปัญหาอีกอย่างคือ เรื่องการไล่ที่คนที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟ อันนี้ผมก็อยากจะถามว่าเห็นใจพวกเขาหน่อยไม่ได้หรือ ถ้าการรถไฟปล่อยให้เขามาอาศัยอยู่บริเวณนั้นตั้งแต่แรกก็ควรต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ไล่กันเหมือนหมูเหมือนหมา ไม่ใช่ว่าพอโครงสร้างพื้นฐานมา รถไฟความเร็วสูงมา ก็ไปไล่ที่เขา ในขณะที่ติ่งรถไฟก็มาด่าเอาๆ ว่าพื้นที่ของการรถไฟ มันก็ควรเป็นของการรถไฟ แต่คุณไม่เข้าใจบริบทแวดล้อม ไม่เข้าใจสังคมรอบข้างเลย 

อย่างบ้านผมก็เคยมีปัญหากับการรถไฟ คือการรถไฟเขาจะขึงรั้วไม่ให้เราเข้าไปได้เลย ทั้งๆ ที่มันเป็นทางที่เราใช้สัญจรมาเป็นเวลานาน เราใช้เวลาหลายปีในการเจรจากว่าจะได้

ประสบการณ์ที่ผ่านมาได้เห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้คนจากการนั่งรถไฟอย่างไรบ้าง

ถึงผมจะเป็นคนเงียบๆ แต่ด้วยความที่ผมเป็นนักเขียน การมองผู้โดยสารก็เหมือนการมองตัวละคร มองคาแรคเตอร์ของคนคนนี้ว่าเป็นอย่างไร คุณแม่ของผมจะเป็นคนที่ชี้ชวนให้มีวิสัยในการมองผู้คนแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเราไปแอบดูชาวบ้านนะ แต่คือการสังเกตว่าคนแบบนี้ ผู้โดยสารแบบนี้ มายังไง เป็นยังไง และทำไมสถานีรถไฟถึงเป็นจุดที่คนชอบพูดกันหนักหนาว่า เป็นที่พบปะและเป็นที่จากลาในสถานที่เดียวกัน 

ถ้าจะนำตัวละครที่เราพบเจอเหล่านี้ไปเขียนเป็นเรื่องสั้น นิยาย หรือจะเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับรถไฟ ก็ทำให้เข้าใจว่าต้องเขียนออกมายังไง อย่างผมก็เคยเขียนนิยายที่เกี่ยวกับรถไฟมาเหมือนกัน ชื่อว่า ก่อนเวลาเปลี่ยนผ่าน 

รถไฟมีอิทธิพลต่องานเขียนของเราในแง่มุมไหนบ้าง

มันเป็นภาพจำของคนอื่นที่มีต่อเราว่า โมนจะเขียนอะไรก็มักเขียนเกี่ยวกับเรื่องรถไฟอีกแล้ว ซึ่งมันก็เป็นบันทึกจากประสบการณ์ชีวิตของผม เรื่องสั้นหรือนิยายของคนอื่นๆ เขาก็เขียนจากชีวิตของตัวเขาเอง เขียนจากเรื่องที่เขารู้ดี ผมเองก็เหมือนกัน เพราะงั้นภาพจำที่คนมองผมคือ โมนกับรถไฟมีความชิดเชื้อสนิทกันพอสมควร 

มีคำกล่าวที่ว่า ‘นักเขียนต้องออกเดินทาง’ จริงหรือไม่

คนที่เป็นนักเขียนต้องหมั่นเปิดโลก คนที่เป็นนักเขียนมีวิธีการในการเปิดโลกได้หลายทาง การอ่านก็เป็นการเปิดโลก การเรียนรู้ไม่ว่าจะในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนก็เป็นการเปิดโลก และการเดินทางก็เป็นการเปิดโลกวิธีหนึ่ง

ผมเคยคุยกับพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ถามเขาว่าระหว่าง ‘การเดินทาง’ กับ ‘การท่องเที่ยว’ อันไหนมีคุณค่ามากกว่ากัน เขาตอบว่าการเดินทาง

การเดินทางด้วยรถไฟมันก็เป็นการเปิดโลกอีกทางหนึ่ง พอเดินทางด้วยรถไฟมันมักจะเจออะไรที่ไม่คาดคิดเสมอ บางครั้งเราก็จะเจอคนที่ดีกับเรา คุยกับเรา บางทีก็มีคนสติไม่สมประกอบมาหาเรื่องคุยด้วยนะ ในช่วงที่รถไฟเปิดให้ขึ้นฟรี ก็มีคนสติไม่สมประกอบเต็มรถไฟเลย แต่พอกลับมาขายตั๋วคนเหล่านี้้ก็หายไป มันก็สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมเราก็มีคนเหล่านี้อยู่ 

ในเรื่องที่ว่านักเขียนควรออกเดินทางเพื่อตามหาแรงบันดาลใจ ผมเองก็มักจะนั่งรถไฟเมื่อถึงจุดอิ่มตัวในการเขียนประมาณหนึ่ง ก็จะไปนั่งรถไฟเที่ยวสักหน่อย แต่ถ้าเป็นในลักษณะที่ตั้งใจนั่งรถไฟเพื่อไปหาแรงบันดาลใจ ผมไม่ค่อยมีลักษณะนั้นสักเท่าไร

มีครั้งหนึ่งตอนที่นั่งรถไฟไปเรียน แล้วเจอหญิงสาวคนเดิมซ้ำๆ เราก็เห็นว่าเขานั่งตู้เดิม ที่นั่งเดิม ลงสถานีเดิมทุกรอบ แล้วก็เป็นแบบนี้ทุกรอบ แสดงว่ามันไม่ใช่เราคนเดียวที่ใช้บริการรถไฟ แล้วทำอะไรซ้ำๆ แบบนี้ แล้วเคยนำเรื่องของหญิงสาวคนนี้เอาไปต่อยอดเป็นเรื่องสั้นด้วยนะ 

แสดงว่าผู้คนที่เราพบเจอจากการนั่งรถไฟ ก็ถูกเราหยิบมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนงานด้วย

ใช่ๆ อย่างหญิงสาวคนที่กล่าวถึง คือการเป็นนักเขียนก็ต้องรู้จักสังเกตสิ่งรอบตัวและผู้คน ว่าเขามีพฤติกรรมอย่างไร มีลักษณะอย่างไร และการเดินทางด้วยรถไฟมันเอื้อให้เราสามารถสังเกตสิ่งเหล่านี้ได้มากกว่าพาหนะอื่นๆ 

นักเขียนท่านอื่นๆ เขาก็อาจใช้พาหนะที่แตกต่างกันไป อย่างคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ เขาก็จะนั่งแท๊กซี่ คุยกับคนขับแท๊กซี่ และนำสิ่งที่คุยกัน นำประสบการณ์ที่เจอมาเขียนเป็นเรื่องสั้นหรือนิยายได้ 

ส่วนเราใช้รถไฟ และอาจไม่ได้คุยเก่งเหมือนนักเขียนท่านอื่นๆ แต่เราก็ใช้วิธีการสังเกตผู้คนประเภทต่างๆ แล้วก็จับประเด็นมาเขียน ส่วนในแง่เรื่องราว รถไฟน่าจะมีเรื่องราวอัดแน่นไว้มากกว่าพาหนะประเภทอื่น ด้วยความที่มันใหญ่ และด้วยความที่คนมันเยอะด้วย

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ชีวิตของ ด.ช.โมน สวัสดิ์ศรี ที่เป็นติ่งรถไฟ เป็นยังไง

ในสมัยเด็ก ความรู้สึกที่มีต่อรถไฟ คือทั้งรักและกลัว รักก็คือชอบมัน อย่างที่เล่าให้ฟังไปแล้ว ของเล่นรถไฟนี่มีเต็มเลย โมเดลรถไฟก็มี ทุกวันนี้ก็ยังเก็บเอาไว้อยู่เลย

แต่ก็กลัวมากด้วย ผมกลัวเสียงรถไฟ กลัวเสียงรถจักร กลัวมันบีบแตร ผมจะปิดหู เพราะกลัวมากๆ เวลาหัวรถจักรวิ่งมาใกล้ๆ นี่หน้าสลดเลยนะ หรือเวลานั่งรถไฟแล้วมองไปนอกหน้าต่าง เห็นสะพานรถไฟอยู่ข้างหน้า นี่ก็หน้าสลดเลย กลัวเสียงดัง ตกใจ คงเป็นเพราะผมเป็นโรคหัวใจด้วย ก็กลัวว่าหัวใจจะเต้นเร็วเกินไป มันก็จะไม่เหมือนกับชาวบ้านเขาตรงนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่นั่งบ่อยๆ ความกลัวมันก็น้อยลงๆ แล้วก็ถูกแทนที่ด้วยความรักและความสนุกตื่นเต้นกับรถไฟแทน

หลังจากนั้น พอโตขึ้นก็เริ่มเปลี่ยนไป เช่น ในสมัยเด็กเราอาจตกใจเสียงหวูด แล้วเราก็พบว่าเสียงที่ทำให้เราตกใจกลัวในสมัยเด็ก มันกลับทำให้เราจำได้ว่ารถไฟที่กำลังมา ยี่ห้ออะไร เสียงเครื่องยนต์แบบนี้คือยี่ห้ออะไร เสียงรางแบบนี้ มันเป็นการต่อรางแบบไหน เสียงแตรของสปรินเตอร์ (Sprinter) และแดวู (Daewoo) ต่างกันอย่างไร ก็จะเป็นเรื่องของรายละเอียดที่เราเริ่มเรียนรู้มากขึ้น

ถ้าเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน การที่เราคลั่งไคล้รถไฟ ทำให้เราแตกต่างจากเพื่อนไหม

ส่วนใหญ่เด็กในวัยเดียวกันก็ไม่ได้ต่างกันมาก เด็กชอบรถไฟก็เหมือนเด็กชอบหุ่นยนต์นั่นแหละ มันต่างกันตรงที่ว่าผมยังคงโตมาและรักรถไฟอย่างเหนียวแน่น และตอนเด็กๆ ผมได้รถไฟจำลองขบวนแรก เอามาไถเล่นอย่างสนุกสนาน เล่นจนล้อพัง มันก็ยิ่งผูกพันเข้าไปใหญ่ 

เด็กคนอื่นๆ พอโตมา เขาก็อาจไปสัมผัสกับโลกใบอื่นๆ แต่ด้วยความที่ครอบครัวเราอยู่ใกล้สถานีรถไฟ มันหนีไม่พ้นรถไฟ ดังนั้นเราก็เลยยังคงผูกพันกับรถไฟอยู่

ชีวิตในห้องเรียนของโมน สวัสดิ์ศรี เป็นอย่างไรบ้าง

เราดูเหมือนจะเป็นเด็กเนิร์ด แต่เราเรียนไม่เก่งเลย เรียนปานกลาง ไม่ค่อยจะเด่นมาก แล้วก็ไม่ค่อยได้แสดงออกเกี่ยวกับรถไฟมากนัก เพราะความสนใจเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นมันก็เป็นเรื่องอื่นไปแล้ว มันก็เป็นเรื่องสาวๆ หรือทำยังไงให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ 

ฉะนั้นความสนใจเรื่องรถไฟในช่วงวัยรุ่นมันจะน้อยลงหน่อย แต่เราก็ยังรักรถไฟอยู่ กลับมาเราก็ยังคงชื่นชมรถไฟจำลองของเราอยู่ แต่ก็ไม่ถึงกับชักชวนเพื่อนมาชอบรถไฟด้วยกัน

เรื่องการเรียนในห้องเรียน ผมมองว่ามันไม่ค่อยตอบโจทย์ชีวิตเท่าไร ซึ่งผมว่าแม้แต่ยุคนี้มันก็ไม่ค่อยตอบโจทย์ผู้เรียนเท่าไรอยู่ดี ในสมัยนั้นเขาจะพยายามส่งเสริมคนที่เป็นหัวกะทิให้ไปจนสุด ในขณะที่เราเป็นนักเรียนกลางๆ พอเอาตัวรอดได้ เขาก็ดูจะปล่อยๆ เราก็เลยไม่ได้สนใจอะไรมากมายกับการเรียน 

ผมว่ามันยากที่การเรียนในห้องเรียนจะตอบโจทย์ได้ทั้งหมดที่เราต้องการ เช่น ความชอบ ความสนใจส่วนตัว อย่างเราชอบรถไฟ แต่บทเรียนที่โรงเรียนมีให้ก็เป็นไปตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดมา เราก็แค่ท่องจำไป 

มีบ้างเหมือนกันที่ครูเปิดโลกใหม่ๆ นอกตำราให้กับเรา เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ ครูที่เคยมีประสบการณ์ร่วมก็จะเล่าให้เราฟัง แต่ก็น้อยมากๆ ครูส่วนใหญ่เขาก็มีกรอบของเขา บางครั้งครูเองก็ถูกครอบจากกรอบอีกแบบหนึ่ง ผมก็ไม่รู้หรอกว่าครูต้องไปทำงานวิจัยอะไรบ้าง แต่เข้าใจว่าครูมีภารกิจนอกที่ นอกเหนือจากการสอนเยอะ แต่ด้วยความเป็นเด็ก เราก็ต้องอยู่ในกรอบของครู ดังนั้นบทเรียนชีวิตในโรงเรียน ยอมรับว่ามีค่อนข้างน้อย

คุณครูในโรงเรียนรู้ไหมว่าเราชอบรถไฟ

ครูเขาคงจะรู้จากการอ่านบ้าง เพราะในช่วงมัธยมปลายผมเริ่มที่จะเขียนหนังสือบ้างแล้ว และมักจะเขียนเกี่ยวกับความชอบรถไฟและการนั่งรถไฟไปเที่ยวเสมอ

ครูเขาก็ไม่เคยมาถามผมนะว่านั่งรถไฟเป็นไงบ้าง แต่เขาก็ดูภูมิใจนะที่มีลูกศิษย์เขียนหนังสือ ตอนผมจบมัธยมปลาย ผมก็ได้รับการบันทึกว่าเป็นนักเรียนดีเด่นของโรงเรียน สาขานักเขียน ซึ่งผมก็งงมากเลย เพราะผมเองก็ไม่ได้เรียนเก่งอะไร แต่โรงเรียนก็ยังดั้นด้นหาสาขานี้มาให้ (หัวเราะ)

ชอบรถไฟขนาดนี้ ไม่มีความคิดจะไปเรียนด้านวิศวกรรมรถไฟบ้างเหรอ

ใช่ เราชอบรถไฟ แต่ถ้าให้เราไปทำงานการรถไฟ ไปเจออะไรที่อาจแย่ๆ หรือแดนสนธยาของการรถไฟ เราก็ไม่เอา เราขอประทับใจกับมันแค่นี้ดีกว่า เราชอบรถไฟก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราชอบในตัวองค์กรการรถไฟ

แต่ก็มีเพื่อนคนหนึ่งที่คุณพ่อเขาทำงานการรถไฟ เพื่อนคนนี้ก็เข้าออกโรงงานมักกะสันของการรถไฟอยู่บ่อยๆ เขาก็ได้เห็นเครื่องยนต์กลไกต่างๆ นานา แล้วมาเล่าให้ผมฟัง ผมก็ตื่นเต้นมาก ได้วิชาความรู้จากเขาเยอะ เพราะถึงแม้คุณพ่อและคุณแม่ผม ชีวิตจะผูกพันกับรถไฟ แต่เบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานของรถไฟ เขาก็ไม่ได้รู้อะไรลึกนัก ก็เลยสนิทกับเพื่อนคนนี้มาก สุดท้ายเพื่อนผมคนนี้ก็ได้ไปทำงานการรถไฟเมื่อเรียนจบ

ส่วนผมเมื่อเรียนจบ ก็เลือกไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทีแรกอยากเรียนนิติศาสตร์ อยากเรียนกฎหมาย คุณลุงแท้ๆ ของผมเขาจบนิติ ผมก็เลยอยากเรียนบ้าง และตอนใกล้จบ ม.6 ได้ไปอ่าน ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ตัวเอก สาย สีมา จบนิติศาสตร์ ก็เลยยิ่งอยากเรียน แต่ไปๆ มาๆ เราคิดว่าเราไม่น่าไหว และเราอยากรู้เรื่องการเมืองการปกครอง ก็เลยเลือกเรียนรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง ผมเรียนจบภายในเวลา 2 ปีครึ่ง ก็ค่อนข้างจะสนุกกับมันนะ 

ความชอบในรถไฟ มีผลอย่างไรเมื่อไปเรียนวิชาว่าด้วยการเมืองและการปกครองอย่างรัฐศาสตร์

ความชอบในรถไฟมาตั้งแต่เด็กก็ทำให้เรามองรัฐศาสตร์ในมุมที่ต่างจากเพื่อน กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าเพื่อน แต่ก็เป็นผลจากมิติทางประวัติศาสตร์ที่เรามีด้วย ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่แหวกขนบออกไป ถ้าเทียบกับเพื่อนที่เป็นติ่งรถไฟด้วยกัน ที่มักจะเป็นจารีตนิยม ผูกพันกับประวัติศาสตร์รถไฟโดยยึดโยงกับสถาบันในระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ ยกย่อง กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มาก และไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์รถไฟในยุคปัจจุบันเท่าไร

ยกตัวอย่างอีกนิด เช่น ติ่งรถไฟสายจารีต ก็จะไม่ค่อยพูดถึง หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ เท่าไรนัก ซึ่งเป็นคนที่กรมพระกำแพงเพชรไว้ใจมาก และสร้างคุณไว้อย่างสูงแก่รถไฟไทย เป็นคนที่วางรากฐานระบบให้แก่รถไฟไทยต่างๆ นานา เป็นคนออกแบบและสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว และเป็นไปได้ว่าเขามีส่วนในการวางรากฐานให้กรมรถไฟ จนกลายเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี 

เขามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนารถไฟไทย แต่เพราะเขาเป็นหนึ่งในคณะราษฎร เป็นลูกศิษย์ของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในขบวนการเสรีไทย ติ่งรถไฟสายจารีตก็เลยไม่อยากจะพูดถึง 

จริงๆ ประวัติศาสตร์จารีตผมก็ชอบนะ หลายๆ อย่างก็คิดว่าควรจะอนุรักษ์ไว้ด้วย อย่างเช่นสถานีหัวลำโพง ผมก็อยากให้มันยังอยู่ และยังอยู่ในฐานะที่ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์ แต่ให้รถไฟวิ่งเข้าไปได้จริง ยังใช้งานอยู่ เท่าที่รู้ตอนนี้กลุ่มรถด่วน รถเร็ว ย้ายมาอยู่บางซื่อกันหมดแล้ว หัวลำโพงก็เหลือแค่รถไฟธรรมดา เป็นรถชานเมืองที่ชาวบ้านเขานั่งกัน ในอนาคตมันก็มีแนวโน้มที่เขาจะถอนออกมาไว้ที่สถานีบางซื่อหมด แล้วปล่อยให้หัวลำโพงเป็นสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง แต่ผมคิดว่ามันควรใช้โมเดลของสถานีธนบุรี คือกลุ่มรถไฟชานเมืองทุกวันนี้ก็ยังเข้าสถานีธนบุรี ส่วนรถไฟด่วน รถไฟเร็วก็ไปเข้าสถานีบางซื่อ อันนี้เป็นแนวคิดเดียวกับของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คือ ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ ไม่เห็นยากเลย แค่ปล่อยรถไฟเข้าไป แล้ววิถีชีวิตผู้คนก็ยังอยู่ 

ความเป็นติ่งรถไฟที่ไม่ได้เน้นเฉพาะประวัติศาสตร์สายจารีต ก็ทำให้การเรียนรัฐศาสตร์ของผมมีมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นพอสมควร

ถ้าเปรียบรถไฟเป็นห้องเรียนห้องหนึ่ง ห้องเรียนนี้สอนวิชาอะไรให้เราบ้าง

ได้หลายวิชาเลย แล้วแต่ว่าอยากได้มุมไหน เช่น วิชาสารคดี ซึ่งอาจเป็นสารคดีอิงประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์ในและนอกจารีตก็ได้ อีกมุมหนึ่งก็ทำให้เราเห็นอดีตของรถไฟที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านหรือราษฎรที่นอกเหนือไปจากประวัติศาสตร์ของเจ้าขุนมูลนายด้วย 

วิชาต่อมาก็คือ สถาปัตยกรรม เราอาจได้เรียนรู้ผ่านสถานีหัวลำโพง สถานีสวนจิตรลดา สถานีเชียงใหม่ สถานีธนบุรี สถานที่เหล่านี้เป็นสถานีสำคัญที่น่าศึกษา มีการออกแบบอย่างไร คนออกแบบคนเดียวกันหรือไหม หรือจะศึกษาเครื่องยนต์กลไกจากตัวรถไฟก็ได้ 

วิชาความรู้ที่ได้จากรถไฟก็แบ่งได้หลายวิชา แต่ผมไม่อยากให้คนรักรถไฟชูสิ่งเหล่านี้มาเป็นอันดับแรก ผมอยากให้คนมาขึ้นรถไฟ มาโดยสารรถไฟ มาสนุกกับรถไฟให้ได้ก่อน ยังไม่ต้องไปยัดเยียดประวัติศาสตร์อะไรให้กับเขาหรอก ไม่ต้องไปคอยบอกว่า สถานีหัวลำโพงมันไม่ได้ชื่อหัวลำโพงนะ มันชื่อสถานีกรุงเทพ หรือไม่ต้องไปแก้หรอกว่า โบกี้ไม่ใช่ตู้รถไฟนะ ให้คนเข้าได้รู้จักและโอเคกับรถไฟก่อน และเดี๋ยวเขาก็จะมาศึกษาอะไรพวกนี้เองแหละ 

เสน่ห์ของการนั่งรถไฟคืออะไร

คนที่ชอบรถไฟ กับคนที่ใช้บริการรถไฟ ต่างกันตรงที่ คนที่ใช้บริการรถไฟทั่วไปเขาจะมองว่าปลายทางคือเป้าหมาย ในขณะที่คนรักรถไฟแบบผม เขาจะมองว่าระหว่างทางคือเป้าหมาย ไม่ใช่ปลายทาง 

ดังนั้นเสน่ห์ของรถไฟคืออยู่ตรงระหว่างทาง ที่เราได้เห็นชีวิต ได้เห็นผู้คน ได้เห็นความแตกต่างระหว่างรถไฟแต่ละชั้น ซึ่งมันจะไม่เหมือนกันเลย มีอยู่ทริปหนึ่ง ผมคิดยังไงก็ไม่รู้ ตอนเช้าผมนั่งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และในวันเดียวกันตอนบ่ายผมก็ไปนั่งรถไฟสายแม่กลอง มันต่างกันนะ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กับ ตลาดร่มหุบ เจ้าของเดียวกัน แต่บรรยากาศต่างกันโดยสิ้นเชิง

สำหรับผมซึ่งเป็นคนบุคลิกค่อนข้างเงียบๆ ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูงอะไรเท่าไรนัก การเดินทางด้วยรถไฟ ผมก็สนุกที่ได้เจอเพื่อนร่วมทาง สนุกที่ได้พบปะผู้คน สนุกตรงที่ได้เห็นหัวรถจักร ได้ชะโงกดูอะไรต่อมิอะไร ผ่านพื้นที่ที่เราไม่ได้เห็นทุกวัน แล้วก็สนุกตรงที่รถไฟมันเป็นรถไฟ

การนั่งรถไฟต่างจากการนั่งรถยนต์ ซึ่งทัศนวิสัยก็จะแตกต่างกัน ในขณะที่รถยนต์จะขนานไปกับตึกรามบ้านช่อง แต่รถไฟมันจะไปทางท้องทุ่งท้องนา มีคำกล่าวด้วยซ้ำว่า ถ้าใครอยากรู้จักประเทศไทย ให้ไปนั่งรถไฟ ได้รู้จักทั้งตัวแทนภาพลักษณ์ของประเทศไทยซึ่งก็คือตัวรถไฟเอง ได้เห็นว่าประเทศไทยมีสภาพอย่างไรผ่านทิวทัศน์สองข้างทาง เพราะฉะนั้นประเทศไทยเป็นยังไงก็ดูที่รถไฟไทย ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นยังไง ก็ดูได้จากรถไฟของเขาเช่นกัน

การเรียนรู้จากรถไฟจะช่วยเติมทักษะให้เราใช้ชีวิตรอดในยุคสมัยนี้ได้อย่างไร 

รถไฟเป็นพาหนะที่เสริมสร้างทักษะและส่งเสริมการเรียนรู้มากกว่าพาหนะอื่นๆ ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องไปนั่งรถไฟท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยากจะให้ลองนั่งรถไฟดูหลายๆ ประเภท แล้วคุณจะมีมุมมองที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นจากหนังสือ หรือจากยูทูบ 

การมองเห็น สังเกต และสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเอง จะทำให้เราเข้าใจมันได้มากกว่า สุดท้ายการนั่งรถไฟก็คือการเรียนรู้ที่พาเราไปรู้จักอะไรที่เรายังไม่เคยรู้ ไม่เคยลองเกี่ยวกับรถไฟ ทั้งเรื่องวิชาความรู้ ประวัติศาสตร์ และอะไรต่างๆ อีกมากมาย

-สถานีต้นทาง-

เส้นทางการเรียนรู้ที่เลือกเอง

หลังการนั่งล่องไปในขบวนรถไฟแห่งการเรียนรู้เสร็จสิ้น เราร่ำลาเขา และนั่งรถออกจากบ้านกลางสวนอันสงบร่มรื่น ระหว่างทางเรานั่งคิดถึงเรื่องราวการเรียนรู้ของเขา พลางนึกอิจฉาว่าเขาโชคดีไม่น้อย แน่ล่ะ เขาไม่ได้ร่ำรวยหรือมีอำนาจล้นฟ้า แต่อิจฉาว่าเขาช่างโชคดีจริงๆ ที่มีโอกาสได้เลือกเส้นทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเอง 

ปัจจุบันการเรียนรู้ที่ไร้ทางเลือกทำให้เด็กที่มีฐานะยากจนต้องเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 85 เปอร์เซ็นต์ คงจะดีหากทุกคนเห็นว่าการศึกษานั้น คือทางเลือกอันไม่มีข้อจำกัดที่ทุกคนสามารถเลือกและสับรางได้ด้วยตัวเอง มิใช่เป็นเพียงเส้นทางตรงทอดยาวที่ไม่อาจเปลี่ยนจุดหมายหรือเลือกสถานีเองได้

โชคดีอย่างที่สอง คือห้องเรียนรถไฟที่เขาเลือกเรียน ได้พาตัวเขาไปพบเจอกับศาสตร์และองค์ความรู้มากมาย เปิดโลกและมุมมองความคิดของเขาให้กว้างขวาง และห้องเรียนห้องนี้ยังทำให้เขาเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคมที่ถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ จนกลายเป็นข้อจำกัดของห้องเรียนโดยทั่วไป 

เส้นทางการเรียนรู้ของโมน ชวนให้นึกถึง ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ระบบที่อนุญาตให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนนอกระบบได้อย่างยืดหยุ่นและตามอัธยาศัย แต่ปลายทางของประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านั้น จะไม่ใช่สิ่งที่ดูจับต้องไม่ได้ในอากาศแต่อย่างใด แต่สามารถโอนประสบการณ์และบทเรียนที่มีคุณค่าเหล่านี้มาเป็นหน่วยกิตสะสม ที่สุดท้ายแล้วสามารถได้รับประกาศนียบัตรรับรองเมื่อสำเร็จการศึกษาได้

ปัจจุบัน โมน สวัสดิ์ศรี ยังไม่จบการศึกษา แต่ยังหาเวลาลงหน่วยกิตเพิ่มเติม เพื่อไปเรียนรู้นอกห้องเรียนอยู่เสมอ เช่นเดียวกับนักเขียนที่ต้องออกเดินทาง นักเรียนก็ต้องเข้าเรียน และหากนักเขียนต้องออกเดินทางตลอดชีวิต เหล่านักเรียนก็ต้องออกเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ต่างกัน

และเช่นเดียวกับนักเขียนและนักเดินทาง นั่นคือ ปลายทางย่อมไม่ใช่สิ่งสำคัญ เท่ากับระหว่างทางที่พาเราไปพบเจอสิ่งต่างๆ และเรียนรู้กับมันได้อย่างไม่สิ้นสุด