บูรณาการอย่างไรให้ได้ผล 4 เสาหลักเชื่อมร้อยการทำงานลดเหลื่อมล้ำทั้งจังหวัด
ต่างที่ภารกิจหน่วยงาน หากผลสำเร็จปลายทางคือเป้าหมายเดียวกัน

บูรณาการอย่างไรให้ได้ผล 4 เสาหลักเชื่อมร้อยการทำงานลดเหลื่อมล้ำทั้งจังหวัด

3 ปีที่จังหวัดขอนแก่นทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยเริ่มจากการทำงานเชิงพื้นที่ (ABE – Area based Education Management Information) เพื่อค้นหาและช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา พร้อมเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ถึง 2 ปีเต็ม ซึ่งทำให้อัตราเด็กเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

แต่ทางจังหวัดก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา รวมถึงกองทุน ‘10 บาทสร้างโอกาสให้น้อง’ อันเกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของคนในจังหวัด เพื่อเป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในจังหวัด ทำให้วันนี้ ‘ขอนแก่น’ ได้กลายมาเป็นต้นแบบของการทำงานด้านการศึกษา ที่พร้อมส่งต่อบทเรียนการทำงานไปสู่พื้นที่อิ่น ๆ ต่อไป  

มาดูกันว่าขอนแก่น ในฐานะ 1 ใน 4 จังหวัดต้นแบบ ของ กสศ. ออกแบบกระบวนการช่วยเหลือดูแลเยาวชนที่ประสบภาวะวิกฤตทางการศึกษาอย่างไร โดยเฉพาะในการถ่ายทอดความหมายของคำว่า ‘บูรณาการ’ ที่อยู่บนหน้ากระดาษ ให้ปรากฏผลสำเร็จเป็นรูปธรรม จนพูดได้ว่าเป็นความหวังสำคัญของการจุดประกายการทำงานเชิงพื้นที่ ที่จะยืนยันได้ว่า ‘หากขอนแก่นทำได้ ทุกจังหวัดก็ทำได้เช่นกัน’    

“เพราะเราต่างก็เป็นคนขอนแก่น”

กระบวนการเชิงป้องกันส่งผลในภาพรวมได้ดีกว่าการแก้ไข

กฤษณา เสมหิรัญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในปีแรกคณะทำงานมุ่งเป้าไปยังเด็กนอกระบบการศึกษาเป็นหลัก จนเมื่อผ่านประสบการณ์ลงพื้นที่จริง เราพบว่ากลุ่มที่น่าเป็นห่วงควรให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบกลางคัน หรือกลุ่มที่มีแววก้าวข้ามช่วงชั้นไม่ได้ เช่น ป.6 ขึ้น ม.1 หรือ ม.3 ต่อ ม.4 ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้มีเด็กกลุ่มเสี่ยงจากภาวะ ‘จนเฉียบพลัน’ เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ขอนแก่นจึงหันมาปรับแผนทำงานครอบคลุมเด็กกลุ่มนี้ด้วย

“การทำงานร่วมทุกสังกัดที่มี ศธจ. คอยประสาน ทำให้เด็กทุกคนในขอนแก่นไม่ตกสำรวจ สำหรับกลุ่มเปราะบางในโรงเรียน เราใช้วิธีให้ครูของแต่ละสถาบันช่วยเก็บข้อมูลปัญหาวิกฤตของเด็กแล้วส่งมายังส่วนกลาง จากนั้นคณะทำงานจังหวัดที่ประกอบด้วย 4 หน่วยงานหลักจะคัดกรองร่วมกันอีกครั้ง พอถึงตรงนั้นถ้าพบว่าคนไหนมีความเสี่ยงสูง เราจะลงพื้นที่ประกบทันที เพื่อช่วยแก้ปัญหาฉุกเฉิน และวิเคราะห์วางแผนหาทางดูแลช่วยเหลือระยะยาวต่อไป

“คณะทำงานจังหวัดขอนแก่นเห็นร่วมกับ กสศ. ว่ากระบวนการเชิงป้องกันส่งผลในภาพรวมได้ดีกว่าการแก้ไข จึงได้จัดตั้งโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้นำ 4 หน่วยงานหลัก พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินยุทธศาสตร์เรื่องความเหลื่อมล้ำ ประชาสัมพันธ์โครงการสู่ท้องถิ่น จัดประชุมชี้แจงโครงการร่วมกันทุกสังกัด แล้วจากนั้นทุกฝ่ายก็พร้อมทำงานไปด้วยกัน ซึ่งทำให้การช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงทำได้เร็วมาก”  

ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ จ.ขอนแก่น ระบุว่านอกจากการทำงานบูรณาการเชิงระบบของหน่วยงานภาครัฐ จังหวัดขอนแก่นได้จัดตั้งกองทุน ‘สิบบาทสร้างโอกาสให้น้อง’ เพื่อรองรับกลุ่มเด็กยากจนเฉียบพลันจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19

“กองทุนสิบบาทสร้างโอกาสให้น้อง เป็นทุนฉุกเฉินเพื่อให้เด็กทุกคนประคองตัวอยู่ในระบบ หรือได้เรียนต่อในช่วงชั้นที่สูงขึ้น เพราะวิกฤตโควิดทำให้เราเห็นแล้วว่าวันนี้เรามีกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่ไปต่อไม่ได้ เนื่องจากสถานะครอบครัวเปลี่ยนแปลงกะทันหัน

“ทุนนี้มีจุดเริ่มต้นจากเงินขวัญถุงของ กสศ. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นและผู้นำ 4 กระทรวงหลักสมทบเพิ่มเติม และหลังจากเปิดตัวทุนที่ศาลากลางจังหวัด ก็ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุน อาทิ บริษัทโตเกียวมอเตอร์ ขอนแก่น ร่วมบริจาค 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังได้กระจายกล่องรับบริจาคลงไปทุกอำเภอ ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวขอนแก่นเป็นอย่างดี ทำให้ทางจังหวัดมั่นใจว่ากองทุนที่จัดตั้งขึ้นในช่วงวิกฤตนี้ จะยกระดับสู่การเป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนชาวขอนแก่นได้ในอนาคต”

เสียงจากภาคเอกชน

นวัตกรรมการศึกษาเชิงพื้นที่ จะทำให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานทัดเทียมกัน

ดร.พรณี สึมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโตเกียว มอเตอร์ (ประเทศไทย) ผู้หนักแน่นด้วยความเชื่อว่า ‘คนขอนแก่นย่อมไม่ทิ้งกัน’ กล่าวว่า โตเกียวมอเตอร์แม้ไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่โต แต่ตั้งใจที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา และพร้อมผลักดันทุกทางให้การศึกษาจังหวัดเดินหน้า

“เงินสิบบาทร้อยบาทหรือเท่าไหร่ก็ไม่สำคัญเท่าใจคนทั้งจังหวัดที่หลอมรวมกัน เรามองว่าทุนการศึกษานั้นคือฐานของการต่อสู้กับวิกฤต เพื่อให้เด็ก ๆ ของเราได้เรียนรู้พัฒนาตัวเองต่อไป ตรงนี้เราเชื่อว่าภาคเอกชนประชาชนคนทั่วไปเราพร้อมช่วยกันคนละเล็กละน้อยไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้การศึกษาของจังหวัดไปได้จริง ๆ คือการเข้ามาขององค์กรหรือนักการศึกษาที่มีความรู้เฉพาะทาง ซึ่งจะนำนวัตกรรมเชิงพื้นที่เข้ามาพัฒนาในระดับท้องถิ่น

“ในภาคอีสาน เรามีโรงเรียนขนาดเล็กครูไม่ครบชั้นจำนวนมาก ถ้าจะทำให้ทุกโรงเรียนมาตรฐานทัดเทียมกันได้ มีเครือข่ายรองรับส่งต่อกันได้ จำเป็นต้องมี นวัตกรรมในการจัดการ ดังนั้นการที่ กสศ. เข้ามาทำงานร่วมกับหน่วยงานในจังหวัด ทำให้โตเกียวมอเตอร์ยินดีสนับสนุน โดยเฉพาะการวางแผนพัฒนาการเรียนแบบพื้นที่นวัตกรรม ที่จะช่วยแก้ปัญหาของโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารได้ตรงจุด เกิดหลักสูตรการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์การนำไปใช้ในชีวิตจริง

“เพราะการได้เรียนมันเป็นเพียงจุดเริ่มต้น คำถามคือการศึกษาที่เด็กได้รับมีคุณภาพแค่ไหน จบมาแล้วทำงานได้ไหม หรือมีระบบดูแลชี้ทางให้เขาเห็นอนาคตหลังผ่านจากระบบการศึกษาไปแล้วหรือไม่ วันใดที่คำถามเหล่านี้มีคำตอบที่ชัดเจน วันนั้นเองที่เราจะพูดได้ว่าการศึกษาสัมฤทธิ์ผลแล้วจริง ๆ”

เคล็ดลับพลังขับเคลื่อนคือ ‘จิตวิญญาณของคนทำงาน’

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่าคณะทำงานจังหวัดขอนแก่นแสดงให้เห็นว่า การทำงานด้วย ‘พื้นฐานมนุษยธรรม’ ที่ใส่จิตวิญญาณของคนทำงานลงไป ได้ทำให้เกิดต้นแบบของการบูรณาการที่เชื่อมประสานระบบอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบราชการที่เคยเป็นจุดอ่อนได้สำเร็จ    

“ขอนแก่นโมเดลฉายภาพมิติของการแก้ปัญหา ตั้งแต่การทำงานรายกรณีกับเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤต ซึ่งมีกระบวนการรองรับส่งต่อระหว่างหน่วยงาน จนถึงเป้าหมายปลายทางว่าเด็กจะรอดจริง ไปต่อได้ ซึ่งเงินทุนไม่ใช่ปัจจัยเดียว แต่ต้องมีแผนในระดับจังหวัดระยะยาว เด็กได้กลับมาเรียนหนังสือแล้วเขาต้องไม่เสี่ยงหลุดซ้ำ รู้สึกปลอดภัยในโรงเรียน ได้กินข้าวเช้า มีอาหารกลางวัน มีคนรับฟัง ให้กำลังใจ เปลี่ยนแปลงตนเองได้ถึงระดับทัศนคติ

“บทเรียนจากจังหวัดขอนแก่น กสศ. จะนำมาขยายผลไปยังพื้นที่อื่น เพื่อให้เกิดระบบเครือข่ายเชิงพื้นที่พร้อมรองรับปัญหาสังคมที่เลื่อนไหลตลอดเวลา ยิ่งนับจากนี้ไปถึงอีกหลายปีข้างหน้า เรายังต้องต่อสู้กับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง การทำงานเชิงพื้นที่จึงเป็นอนาคตของการศึกษาไทย แต่ละท้องถิ่นต้องพร้อมบริหารจัดการตัวเอง มียุทธศาสตร์ เงินทุน และสามารถรวมใจของคนทั้งจังหวัดเข้าไว้ด้วยกันได้ เพราะอย่าลืมว่าเด็กที่อยู่ไกลที่สุด ด้อยโอกาสที่สุด เขาจะไม่มีวันถูกมองเห็นเลย ถ้าเรายังคงใช้สายตาจากภายนอกมองเข้ามา”