ส่งต่อ “โอกาส” นำความเสมอภาคทางการศึกษา​สู่พื้นที่ทุรกันดาร

ส่งต่อ “โอกาส” นำความเสมอภาคทางการศึกษา​สู่พื้นที่ทุรกันดาร

จาก “โอกาส” ที่เคยได้รับ กลายเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้ เด็กคนหนึ่งตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะตั้งใจเรียนเพื่อเป็น “ครู” กลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด ส่งต่อโอกาสที่เขาเคยได้รับในวันนั้นให้กับเด็กคนอื่นๆ ได้รับสิ่งดีๆ เหล่านั้นบ้าง

จนกระทั่งเป้าหมายในวันนั้นกลายเป็นความจริง แม้ ดร.พิเศรษฐ์ ไชยสุภา จะมี “ทางเลือก” ไปอยู่ รร.ขนาดใหญ่ แต่ด้วยความแน่วแน่เขาเลือกกลับมาตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโป่งสา จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เขาเคยเรียนในวัยเด็ก และมุ่งมั่นตั้งใจทำงานจนเห็นผลความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงตลอดสองปี ก่อนที่จะย้ายไป​ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3​ เมื่อเดือนที่ผ่านมา

“เพราะตอนเด็กที่บ้านยากจน เราได้สัมผัสกับคุณครูที่ดูแลเหมือนเป็นพ่อแม่อีกคน เอาใจใส่ ช่วยเหลือทุกด้าน พาเราไปสมัครเรียนต่อในเมือง จนมีวันนี้ ทำให้เราประสบความสำเร็จ เหมือนเป็นไอดอลของเรา ​เมื่อซึมซับความเมตตาตรงนี้เราก็อยากเป็นครูทดแทนบ้านเกิดให้ได้สักครั้ง” ดร.พิเศรษฐ์ กล่าว

เลือกเป็นครูในพื้นที่ห่างไกลยากลำบาก
เพราะเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน ​

จากความยากลำบากที่ผ่านมาในวัยเด็ก ทำให้ ครูพิเศรษฐ์ เข้าใจวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และบริบทของชุมชนได้ และเป็นจุดแข็งช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาพื้นที่  ดังนั้นจึงจะเห็นว่าที่ผ่านมา ครูพิเศรษฐ์ เลือกที่จะไปบรรจุในโรงเรียนพื้นที่ทุรกันดารมากกว่าโรงเรียนในเมืองที่มีความพร้อมมากกว่า

​ครูพิเศรษฐ์ เล่าให้ฟังว่า ตัวเองเป็นคนที่แปลกกว่าคนอื่น เวลาสอบได้ทุกครั้งจะเลือกโรงเรียนที่ยากลำบากที่สุดในกลุ่มที่เราต้องเลือก เช่น ตอนนั้นเลือกไปบรรจุที่ รร.บ้านยอดดอยวิทยาเป็นโรงเรียนประถมมีเด็กชาติพันธุ์จำนวนมาก ไม่มีไฟฟ้า ประปา ไม่มีบ้านพักครู ต้องไปเอาเบาะมาปูนอนในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เราเลยเข้าถึงหัวใจของชุมชน เพราะไม่เคยมีครูมานอนที่โรงเรียน ช่วงที่สอบได้เป็น รองผอ. ได้ลำดับสาม มีสิทธิเลือกโรงเรียนใหญ่ๆ  แต่ก็เลือกไปดูแลศูนย์การเรียนของเขตพื้นที่ฯ ที่ไปเปิดในพื้นที่ห่างไกล กลางห้วย กลางเขา

“ถ้าเราไม่ไปโรงเรียนนี้ก็คงไม่มีใครเลือก เราคิดว่าเราจะทำงานได้เกิดประโยชน์กับเขา เพราะเราเข้าใจบริบท เราอยู่บนดอยมาก่อน เราโตมาแบบขาดแคลนอยู่พื้นที่ชนบท พ่อแม่ยากจน เดินทางห่างไกล อยู่กับนคนจน จึงอยากทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ยิ่งลำบาก ยิ่งด้อยโอกาส ขาดแคลน อุปสรรคยิ่งเยอะ ยิ่งทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น ถ้าเรามีแนวคิดวิธีการทำงานที่ถูกต้องที่ผ่านมาเราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผลงานที่เป็นที่พึงพอใจของผู้บังคับบัญชา ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ชุมชน”​

สร้างสระว่ายน้ำบนดอยแห่งแรก
ลดปัญหาเด็กจมน้ำเสียชีวิต

สำหรับสองปีในฐานะผอ.ที่โรงเรียนบ้านโป่งสา ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในหลายด้าน ทั้งความเชื่อมั่นของผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานกลับมาเรียนที่โรงเรียนมากขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณครู ปรับการเรียนการสอนให้แอคทีฟมากขึ้น  มีนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ทันสมัย แม้จะอยู่บนดอยแต่ก็เรียนได้มีคุณภาพไม่ต่างจากเด็กในเมือง  และยังสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนกับโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

รวมไปถึงการปรับสภาพแวดล้อมทำให้โรงเรียนสะอาด ปลอดภัย มีระเบียบ โดยแนวคิดการจัดการขยะลดการใช้ถุงพลาสติก รณรงค์ให้ผู้ปกครองใช้กล่องข้าวหรือห่อใบตองแทนการใช้ถุงพลาสติก ​​ไปจนถึงเรื่องการปรับอาคารเปลี่ยน แหล่งเรียนรู้ เปิดพื้นที่ออกกำลังโดยเฉพาะการสร้างสระว่ายน้ำ เพราะสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุด จึงระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนมาช่วยสร้างสระว่ายน้ำโดยไม่ได้ใช้งบจากราชการ เป็นสระว่ายน้ำของโรงเรียนแห่งเดียวที่อยู่บนดอย​ซึ่งเปิดให้นักเรียนใช้ฟรีในช่วงเวลาเรียน

 

ส่งเสริมการเรียนต่อ ควบคู่ ทักษะอาชีพ

ครูพิเศรษฐ์ อธิบายว่า นอกจากการเรียนในชั้นปกติ อนุบาลถึงม.3 แล้ว ทางโรงเรียนยังพยายามส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่ออนาคตที่ดีของเด็กๆ โดยเฉพาะการเรียนสายอาชีพ ที่ยังเป็นที่ขาดแคลนในตลาดแรงงาน อีกด้านหนึ่งในช่วงที่ยังเรียนอยู่ก็จะจัดอบรมฝึกทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ เพื่อให้เขามีทักษะติดตัวไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคต และยังสามารถสร้างรายได้เสริม​ในช่วงที่ยังเรียนอยู่อีกทางหนึ่ง

“เราพยายามให้เด็กได้ฝึกทำงาน มีรายได้ระหว่างเรียน ทั้ง ตัดผม ซักรีด ซ่อมจักรยาน ขนมไทย ทักษะอาชีพต่างๆ ที่เด็กสามารถทำได้จริง เราสอนหมด เพราะที่ผ่านมาคนตกงานก็มาก เป็นสภาพคอขวดที่คนจบปริญญาต้องมาแย่งงานกัน บางคนจบมาช่วงที่ยังไม่มีงานทำก็ยังสามารถมีรายได้จากตรงนี้ และหลายอาชีพเป็นที่ต้องการในตลาด อย่างการนวดไทย ตรงนี้จึงเป็นรายได้ให้กับพวกเขาได้”

 

เป้าหมายต่อเนื่องสู่การพัฒนาการศึกษา
สร้างพลังเครือข่ายลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ห่างไกล

สำหรับเป้าหมายต่อไป ดร.พิเศรษฐ์ มองว่าในฐานะ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3​ ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก เพื่อพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ ทำให้ครูพัฒนาตัวเองไปสู่การสอนแบบใหม่ ตอบโจทย์เทคโนโลยี และคิดว่าวันหนึ่งจะต้องกลับไปช่วยเหลือบ้านเกิดที่ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ยังขาดแคลน มีความยากลำบากมาก  

ความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นสำคัญมากในบริบทการศึกษาและสังคมไทยครับ ด้วยพื้นฐานปัจจัยหลายอย่างทั้งภูมิประเทศ ความหลากหลายของชาติพันธุ์ การตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย พื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ล้วนส่งผลถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือแม้กระทั่งวิกฤตโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคนด้อยโอกาสมีมากขึ้นไปอีก”

“การจะทำให้เด็กด้อยโอกาสบนดอย ได้รับโอกาสที่เทียบเท่าในเมืองนั้น แม้ไม่ง่าย แต่ไม่ยากเกินไป ผู้บริหารครูและบุคลากรทางการศึกษา ถือเป็นบุคคลสำคัญที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะทำอย่างไรถึงจะนำบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และความไว้วางใจจากสังคมที่เชื่อมั่นในความเป็นครู ไปสู่การเสริมสร้างพลังเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ได้มากที่สุด”

ตรงนี้อาจจะเป็นโจทย์ที่ต้องย้อนถามคนที่มีบทบาททางการศึกษาทุกคนครับว่า เราได้ทำหน้าที่ครูอย่างเต็มที่และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง?  แท้จริงแล้วช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นลดลงได้ทันทีที่มือของพวกเรานั่นเอง

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค