เชื่อมโยงแรงงานด้อยโอกาส ผ่านฐานชุมชนสู่การสร้างอาชีพ

เชื่อมโยงแรงงานด้อยโอกาส ผ่านฐานชุมชนสู่การสร้างอาชีพ

จากโครงการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาคนในการขับเคลื่อนประเทศ และสร้างความสามารถในการแข่งขันตามเจตนารมย์ของแผนยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและการพัฒนาประเทศในระยะ 20 ปีต่อจากนี้ นำมาสู่โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส จากการสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาให้เกิดระบบทดลองที่เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาการประกอบอาชีพของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ร่วมเป็นฐานนำร่องใน 50 พื้นที่ทั่วประเทศ ที่มีสัดส่วนความยากจน และการว่างงานสูง จัดทำแผนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดรูปแบบการพัฒนาทักษะอาชีพแบบครบวงจรโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนากำลังแรงงานให้สามารถยกระดับฝีมือ ทักษะ และแผนประกอบอาชีพจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

เวทีพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานฯ เป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และการบริหารจัดการโครงการขึ้น จากกลุ่มคนรุ่นใหม่นักพัฒนา ที่มีความตั้งใจกลับไปพัฒนาพื้นที่ชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีความต้องการจะพัฒนาชุมชนให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อยกระดับชุมชนให้ชาวบ้านได้มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้

นายวัฒนา ทรงพรไพศาล ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.แม่นาจร จ.เชียงใหม่ ผู้นำชุมชน ที่ก่อตั้งโครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลเมืองหนาวอินทรีย์ บ้านห้วยขมิ้น และบ้านแม่แฮเหนือ ที่เข้าร่วมโครงการของ กสศ. เพราะอยากเห็นชุมชนของตนเองเกิดความเปลี่ยนแปลง หลังจากริเริ่มการทำเกษตรอินทรีย์ในชุมชนตนเองมานานกว่า 5 ปี แล้ว โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมกลุ่มกันหันมาทำอินทรีย์ในถิ่นฐานบ้านเกิด แม้สุดท้ายจะไม่ตอบโจทย์ แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ท้อถอย ด้วยความอยากเห็นชุมชนของตนเองมีโอกาสพัฒนา เพื่อผืนป่าต้นน้ำที่บริสุทธิ์ของบ้านเกิด จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของ กสศ. หวังเพิ่มทักษะต่างๆ ที่สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้คนในชุมชนหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับความหวังว่าการตัดสินใจทิ้งอาชีพที่มั่นคง เงินเดือนสูงๆ ของคนรุ่นใหม่จะสามารถต่อยอด และพัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จ มีรายได้ และสามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้

นายวัฒนา ทรงพรไพศาล
ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.แม่นาจร จ.เชียงใหม่

เช่นเดียวกับ นางสาวรัชนี คำลือ วิทยาลัยชุมชนน่าน จ.น่าน กับการริเริ่มโครงการส่งเสริมอาชีพนวดไทยและนวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ จ.น่าน กระทั่งได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของ กสศ. เพราะต้องการสร้างเครือข่าย และการเรียนรู้กระบวนการใหม่ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดโครงการให้มีการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย 1.กลุ่มผู้มีรายได้น้อย 2.กลุ่มผู้ถูกคุมประพฤติที่ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ และ 3.กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้เป็นที่ยอมรับในสังคม

นางสาวรัชนี คำลือ
วิทยาลัยชุมชนน่าน จ.น่าน

โดยจุดเริ่มต้นของโครงการนวดไทย เกิดขึ้นจากการที่จังหวัดน่าน เป็นเมืองท่องเที่ยว และอาชีพนวดไทยยังเป็นอาชีพที่ยังมีผู้ประกอบการน้อย วิทยาลัยชุมชนน่าน จึงมองเห็นโอกาสการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนทั้ง 3 กลุ่ม เพื่อผลักดันให้พวกเขามีที่ยืนในสังคม

“โครงการนี้จะช่วยพัฒนาทักษะชีวิต ทั้งการเตรียมความพร้อม การยกระดับจิตใจ ร่วมกับการสร้างอาชีพให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้หลักสูตรนวดไทยที่จัดสอนให้กลุ่มเป้าหมาย ยังได้รับการรับรองจากสำนักงานแรงงานจังหวัด ดังนั้นผู้ที่ผ่านการอบรมจึงมั่นใจได้ว่าจะมีอาชีพรองรับอย่างแน่นอน ไม่เพียงเท่านี้ วิทยาลัยชุมชนน่านยังมองเห็นถึงโอกาสที่จะส่งแรงงานฝีมือให้เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้อีกด้วย” นางสาวรัชนี ระบุ

นายสิริพล เพ็งโฉม
วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านแม่ตาด จ.เชียงใหม่

ไม่ต่างกัน นายสิริพล เพ็งโฉม วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านแม่ตาด จ.เชียงใหม่ อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ไฟแรง ได้กลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง ผ่านการจัดตั้งโครงการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งโกร่งคุณภาพ ต่อยอดอาชีพที่ยั่งยืน ในตำบลห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่เข้าร่วมโครงการของ กสศ. เพราะอยากต่อยอดให้คนด้อยโอกาสใน ต.ห้วยทราย และ ต.ร้องวัวแดง ที่เป็นกลุ่มเกษตรกรไร้สวัสดิการ ผู้พิการ และคนชรา สามารถมีอาชีพเลี้ยงตนเองได้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องง่าย ใครๆ ก็สามารถทำได้ รวมถึงเป็นอาชีพที่น่าสนใจ จึงตั้งกลุ่มการเลี้ยงจิ้งโกร่ง จากนั้นให้กลุ่มเป้าหมายมาเรียนรู้และเข้าร่วมกลุ่ม เพื่อจะได้มีรายได้ โดยกลุ่มจะรับซื้อจิ้งโกร่ง

จากนั้นจะปันผลเป็นสวัสดิการให้สมาชิก ได้ตั้งเป้าหมายให้คนในชุมชนพัฒนาโครงการนี้ไปเป็นอาชีพหลัก ที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและคนในครอบครัวต่อไปได้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากผลผลิตของเวทีพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ในการเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการโครงการ (Project Management) ภายใต้โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2563 ณ ฮอไรซั่น วิลเลจแอนด์รีสอร์ท สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และอีกหลากหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน หลังจากได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)