กสศ.เตรียม 74 หลักสูตรรองรับคลื่นแรงงานกลับบ้าน จากผลกระทบ COVID-19 ชี้เป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจฐานชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ

กสศ.เตรียม 74 หลักสูตรรองรับคลื่นแรงงานกลับบ้าน จากผลกระทบ COVID-19 ชี้เป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจฐานชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริม
การมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า  ในวิกฤติโควิด-19  และวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานยากจนด้อยโอกาส คนกลุ่มนี้ถูกเลิกจ้างขาดรายได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน จนไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมืองได้อีกกลายเป็นคลื่นแรงงานซัดกลับไปที่บ้านเกิดของตัวเอง  โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นแรงงานทักษะ 1.0 -2.0 เมื่อกลับบ้านแล้วก็ยังสามารถตั้งหลักชีวิต ตั้งตัวได้ ในวิกฤติที่เกิดขึ้นเห็นว่าเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะปรับทิศทางการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืนโดยมีชุมชนเป็นฐาน  โดย กสศ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ร่วมกับหน่วยพัฒนาอาชีพ 71 แห่ง ทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษา กศน. อปท. ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น  กระจายใน 42 จังหวัด 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ

ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากการดำเนินงานได้พัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ช่วยยกระดับทักษะการประกอบอาชีพแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวน 74 หลักสูตร  อาทิ เกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์ ผู้ประกอบการผ้าไหมขนาดย่อม เครื่องปั้นดินเผา ระบบประกอบการสังคมออนไลน์ นักขายมือทอง (young sales man)  นวดไทยเพื่อสุขภาพ การทำคุกกี้ครบวงจร การทำเครื่องแกงพื้นบ้าน  โดยระบบต้นแบบของ กสศ.สามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ว่างงาน ผู้ถือบัตรสวัสดิการคนจน เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ได้จำนวน 6,055 คน ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แผนที่ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานของกสศ. https://csr.eef.or.th/commubased-map/ ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมที่ 02- 079 5475 

น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า โครงการนี้จะเข้าไปพัฒนาให้เกิดกระบวนการเสริมศักยภาพชุมชนในการพัฒนาอาชีพ บนฐานความรู้ ทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากรของชุมชน เพื่อกำหนดแผนธุรกิจและแผนกำลังคนที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดผู้บริโภคและตลาดแรงงานท้องถิ่น  มีหลักสูตรการเพิ่มทักษะบริหารจัดการในศตวรรษที่ 21 และทักษะด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน พร้อมทั้งส่งเสริมให้สถานประกอบการและท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ในระยะยาวสามารถยกระดับเป็นเป็นแรงงานฝีมือหรือผู้ประกอบการขนาดย่อมในชุมชนได้ แนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำและตอบโจทย์ของประเทศในขณะนี้ เพราะให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้  สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานราก สามารถตัดวงจรความเหลื่อมล้ำข้ามชั่วคน และไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร ชุมชนจะรองรับบรรเทาปัญหาปากท้องได้ และยังเป็นการลดปัญหาคนรุ่นใหม่ทิ้งถิ่นฐาน เพื่อเข้ามาหางานในเมืองด้วย    

“ภายใต้งบประมาณปี 2563  กสศ.จะสามารถขยายการช่วยเหลือแรงงานทั้งกลุ่มกลับบ้านเกิดในช่วงวิกฤติโควิด-19และกลุ่มยากจนด้อยโอกาสในพื้นที่ได้อย่างน้อย 10,000 คน ขณะที่ตัวแบบระบบทดลองและหลักสูตรระยะสั้นสามารถขยายผลในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศได้ทันที แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 หน่วยพัฒนาอาชีพต่างก็ได้รับผลกระทบ และได้มีการปรับแผนการทำงานให้ตอบโจทย์สถานการณ์อย่างทันท่วงที เช่นในช่วงล็อกดาวน์ที่ผู้คนไม่ออกจากบ้านกลุ่มสหกรณ์พืชผักอินทรีย์หนองสนิท ปรับขายชุดผักเดลิเวอรี่ จากไร่ส่งตรงถึงหน้าบ้านผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขายดีมาก หรือกลุ่มงานทอผ้า นำกลุ่มเป้าหมายฝึกทักษะการตัดเย็บหน้ากากอนามัยจำหน่าย และสามารถแจกจ่ายคนในชุมชนและมอบความช่วยเหลือยังพื้นที่ขาดแคลน” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจอาจติดลบถึง 35.4% ขณะที่งานวิจัยของ McKibbin and Fernando ระบุว่าหากยังควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ไม่ได้ และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มีคนตกงานหลายล้านคน โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานว่ามี 5 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้าง คือ
1.) กลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาสุขภาพ
2.) กลุ่มแรงงานเยาวชนที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (การศึกษาม.ต้น-ม.ปลาย )
3.) แรงงานหญิง
4.) แรงงานนอกระบบ
5.) แรงงานข้ามชาติ  

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า กลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูงสุดชั้น ม.6 อายุระหว่าง 15-19 ปี มีรายได้ต่ำกว่า 6,500 บาท มีความเสี่ยงที่ภาครัฐต้องเร่งดูแล เพราะเมื่อเจอผลกระทบโควิด-19 ลูกจ้างกลุ่มนี้ต้องถูกเลิกจ้างเพราะเป็นแรงงานรายวันหรือสัญญาจ้างชั่วคราว ในอดีตเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจคนตกงาน พอเศรษฐกิจฟื้นตัวแรงงานทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบให้ออกจากโรงงานจะกลับไปทำงานได้ แต่ครั้งนี้ทั่วโลกมีแนวโน้มว่าเมื่อคนออกไปแล้วงานจะหายไปด้วย เพราะมีการปรับตัวของธุรกิจ ทั้งในแง่การลดต้นทุน การใช้คนน้อยลง นำเทคโนโลยีเข้ามาแทน โควิด-19 เป็นการเร่งปฏิกิริยาในการใช้เครื่องมือเข้ามาแทนคน เป้าหมายหลักของภาคธุรกิจตอนนี้คือการลดต้นทุนให้มากที่สุด ฉะนั้นถ้าจะอยู่รอดในยุคนี้การลดคนได้ผลที่สุด แล้วการเลิกจ้างคราวนี้หมายถึงเขาอาจจะไม่มีโอกาสกลับไปหางานได้อีก

“สถานการณ์ขณะนี้ พอโดนลอยแพเลิกจ้าง คนก็หันไปขับแกร๊บ ฟู้ดแพนด้า ลาลามูฟกันจำนวนมาก แต่ว่างานลักษณะนี้เป็นเพียงงานชั่วคราว ถึงเวลาก็ต้องหางานใหม่อีก ถ้าเราไม่ดูแลแรงงานกลุ่มนี้ให้ดี ถึงแม้ว่าเราจะช่วยให้เขามีงานทำได้ในวันนี้ แต่ในอนาคตจะมีแนวโน้มตกงานอีก เพราะงานไม่ได้เสริมทักษะมากพอให้เขามีงานอีกในอนาคต ดังนั้นเราต้องสร้างทักษะให้แรงงานกลุ่มนี้มากพอให้เขามีงานต่อไปในอนาคตด้วย” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

นายโฆษิต แสวงสุข ประธานกลุ่มสหกรณ์พืชผักชุมชนหนองสนิท จ.สุรินทร์ หนึ่งในหน่วยพัฒนาอาชีพที่ร่วมโครงการกับกสศ.กล่าวว่า เป้าหมายหลักของโครงการคือการสร้างงานสร้างอาชีพ ทำให้ทุกคนมีความรู้และต้องมีรายได้ที่ยั่งยืน โดยมีเกษตรกร ปราชญ์ชุมชน ที่มีประสบการณ์ในจังหวัดสุรินทร์เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงการทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ เมล็ดพันธุ์ กระบวนการผลิต การแปรรูป การตรวจรับรองมาตรฐาน พัฒนาบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการ รวบรวมผลผลิต การขนส่ง และส่งเสริมการตลาด กลุ่มเป้าหมายของโครงการขณะนี้ประกอบด้วย เกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ทำกิน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มเด็กเยาวชนนอกระบบ

“แม้ขณะนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโครงการ แต่เราได้บรรลุเป้าหมายหลักส่วนหนึ่งแล้ว นั่นคือทำให้เกษตรกรมีรายได้ในทุกๆ วัน อย่างน้อยต่อสัปดาห์เขาจะมีรายได้จากการขายพืชผัก สถานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาก็เริ่มคล่องตัวขึ้น ตอนนี้เรามีตลาดที่รับสินค้าประจำ ทั้งตลาดในชุมชนของแต่ละหมู่บ้าน โรงพยาบาลประจำอำเภอจอมพระ โรงเรียน และล่าสุดทาง ท็อปส์ มาร์เก็ต(Tops Supermarket) ได้เปิดโอกาสให้เรานำสินค้าเข้าไปวางขาย และเตรียมที่จะไปวางในศูนย์ค้าส่งแม็คโคร(Makro) เพิ่มอีกแห่งหนึ่ง”

ประธานกลุ่มสหกรณ์พืชผักหนองสนิท กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนมีการสำรองอาหาร ผักจึงกลายเป็นสินค้าที่ขายคล่องในระดับหนึ่ง แม้หน้าร้านจะเงียบไปแต่เราก็ปรับกลยุทธ์เป็นบริการส่งถึงบ้าน จัดแพกเกจผักอินทรีย์ให้ลูกค้าเลือกตามต้องการ โดยรวมผักทุกชนิดที่สมาชิกในกลุ่มเราผลิตเป็นเมนูภาพให้ลูกค้าเลือก เช่น กวางตุ้ง คะน้า ต้นหอม ฟักทอง หรือฟักเขียว แล้วเราจะนำผักเข้าไปส่งในตัวเมืองสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งผลตอบรับภาพรวมดีมาก ทำให้วางแผนว่าในอนาคตจะต่อยอดตลาดออนไลน์ให้เป็นช่องทางหลักต่อไป” 

 

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค