ผอ.ที่ใช้การมีส่วนร่วมของครูแทนการสั่งการ

ผอ.ที่ใช้การมีส่วนร่วมของครูแทนการสั่งการ

 

เปิดโมเดล รร.บ้านห้วยกบ
ผอ.ที่ใช้การมีส่วนร่วมแทนการสั่งการ

จากเด็กทโมนที่เคยเที่ยววิ่งเล่น เป่ากบ ขี่จักรยานเที่ยวไปทั่ว ​กลายเป็นเด็กที่รับผิดชอบมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับงานที่ตัวเองรับผิดชอบได้อย่างที่แม้แต่ผู้ปกครองเองก็แทบไม่เชื่อสายตานั้น

ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมภายใต้โครงการฝึกทักษะอาชีพของโรงเรียนบ้านห้วยกบ จ.กาญจนบุรี ซึ่งทั้งผู้บริหารและครูในโรงเรียนทุ่มเทแรงกายแรงใจออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก

เคล็ดลับความสำเร็จอยู่ตรงรูปแบบการบริหารของ เบญจมาศ วัยนิพิฐพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยกบ ที่เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมเปิดให้โอกาสให้ครูได้แสดงความเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ  แทนวิธีใช้การสั่งการให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้  

 

ครูและเด็กเรียนรู้ไปพร้อมกัน

เริ่มต้นจากที่ได้ทุนเสมอภาคของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาทางโรงเรียนก็เรียกประชุมทั้งครูในโรงเรียน สภานักเรียน 10 กว่าคน ว่า ต้องการทำกิจกรรมอะไรบ้าง บางส่วนก็เสนอว่าเอาไปซื้ออาหารพักเบรกแจกเด็กหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าอยากทำเป็นกิจกรรมที่ได้ต่อยอดเงินเป็นกิจกรรมทักษะอาชีพที่จะติดตัวเด็กไปจนโตซึ่งได้ประโยชน์มากกว่า

ทั้งนี้เพราะนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะไม่ดี นอกจากการศึกษาที่จะช่วยทำให้หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว การเรียนรู้เรื่องทักษะอาชีพเป็นอีกส่วนสำคัญ เพราะวันข้างหน้าอย่างไรเด็กเหล่านี้ก็ต้องออกไปประกอบอาชีพการฝึกให้เขาได้มีทักษะ ความรับผิดชอบ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งหมดเราจึงมานั่งลิสต์กันว่าจะทำกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพอะไรบ้าง ทั้ง ตัดผมที่เป็นประโยชน์กับเด็กเพราะแถวนี้ไม่มีร้านตัดผม กิจกรรมปักชื่อชุดนักเรียน กิจกรรมวงดนตรีสากล ผ้าทอกะเหรี่ยง เพาะเห็ด Mini 7-11 หรือร้านขายของของเด็กๆ ไปจนถึงกิจกรรมปลูกผัก ซึ่งนักเรียนแต่ละคนจะมีกิจกรรมที่ตัวเองเลือกทำ

 “ครูกับเด็กก็เรียนรู้ไปพร้อมกัน เมื่อได้เริ่มลองทำแล้วว่ากิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวตรงไหน เราก็ค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นไป โดยจะไม่ใช้วิธีสั่งให้ทำนู่นทำนี่เพราะผู้บริหารเองก็ไม่ได้เฉียบแหลมไปทั้งหมดจึงอยากให้ครูที่อยู่ใกล้ชิดเด็กช่วยกันเสนอความเห็น ร่วมกับเด็กคุยกันง่ายๆ แบบโรงเรียนชนบทนั่งล้อมวงคุยกันไม่ต้องมีโต๊ะ คุยกันว่าทำอะไรจะไปรอดไหม ผอ.เบญจมาส กล่าว

 

นักเรียนเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ

ในแง่การกระตุ้นให้ครูแต่ละคนทำสิ่งต่างๆ นั้น ​ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยกบ บอกว่า ตัวกระตุ้นที่ดีที่สุดคือนักเรียน เมื่อนักเรียนอยากได้นู่นนี่ เมื่อครูรับทราบก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้ครูไปทำสิ่งนั้น ๆ เพื่อเด็ก ไม่ต้องรอให้ผู้บริหารลงไปสั่ง

 ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกล ครูนักเรียนที่นี่มีกลุ่มไลน์ติดต่อสื่อสารกัน  เวลาเด็กมีปัญหา หลอดไฟเสีย กิ่งไม้พาดเข้ามาในห้อง อยากให้ครูไปช่วยก็โพสต์รูปบอกในกลุ่ม บางทีไม่ต้องถึงมือครู เรื่องง่ายๆ ก็แค่บอกพี่ตัวโตๆ ให้ไปช่วยน้องหน่อยเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ จากนั้นเขาก็มาโพสต์ขอบคุณในกลุ่ม

 

พึ่งพาอาศัยกันแบบ​โรงเรียนบ้านนอก​

“เราอยู่กันแบบโรงเรียนบ้านนอก พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน​ไม่ต้องไปใช้วิธีการสั่งการ ต่างคนก็ต่างรู้หน้าที่ตัวเอง ดูแลกันและกันง่ายๆ  ใครมีปัญหาก็ช่วยกันแก้ไข มีอะไรก็ช่วยกันทำ อย่างเวลาพี่จะทอผ้าก็ชวนน้องมาช่วยกันดึงด้าย เวลาเสร็จแล้วเอาไปทำกระเป๋า ทำเสื้อผ้า แล้วขายได้พี่ก็เอาเงินนั้นมาเลี้ยงขนมน้อง หรือแค่ได้คำชมน้องก็ภูมิใจที่ได้ช่วยพี่ สิ่งเหล่านี้มันสำคัญกว่าตัวเงินหลายเท่า”

ถามว่าสิ่งที่ทำมาประสบความสำเร็จหรือยังก็ต้องบอกว่าทำได้ส่วนหนึ่ง เพราะหากจะไปเทียบกับโรงเรียนที่มีความพร้อมอย่างโรงเรียนในเมืองก็คงเทียบไม่ได้ แต่สำหรับโรงเรียนแบบเราก็ถือว่าน่าพอใจเราได้เห็นเด็กๆ มีความสุขในกิจกรรมที่เขาทำ ได้เห็นเขามีพัฒนาการในกิจกรรมที่เขาทำเราก็ดีใจ ภูมิใจ มีความสุขที่เห็นเด็กของเรา รู้หน้าที่มีความรับผิดชอบและทำงานที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ แต่ก็ยังหยุดไม่ได้ต้องพัฒนาต่อไป

จากสิ่งที่มุ่งมั่นตั้งใจทำมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้​ผอ.เบญจมาศ ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี  2560  จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)  สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค