ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุดเพื่อออกไปให้ความรู้ชาวบ้าน

ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุดเพื่อออกไปให้ความรู้ชาวบ้าน

นักวิชาการการด้านการเกษตร เป็นเป้าหมายในชีวิตที่ใกล้จะเป็นความจริง​ ของ กระถิน-สศิวิมล ม่วงมี นักศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพืช วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกได้รับ  “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ปี 2563” ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ได้เรียนต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาเอก

ก่อนจะค้นพบตัวเองว่าชอบการเกษตร กระถิน เคยเข้าเรียนที่​คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ​เป็นเวลาปีครึ่งเพราะเคยคิดว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มั่นคง แม้จะทำเกรดได้ดี แต่ยิ่งเรียนก็ยิ่งรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง จนสุดท้ายได้มาค้นมาพบตัวเองว่าชอบการเกษตรและตัดสินใจเข้าเรียนระดับปวส.ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง

“ตอนเรียนครูตอนนั้นก็กดดันตัวเองเพราะไม่ถนัด ไม่เข้าใจ จนทำให้เราก็ย้อนกลับมาดูตัวเองดีๆ ว่าเราชอบไหม เราถนัดไหม เมื่อคิดว่ามันไม่ใช่ก็ตัดสินใจบอกแม่ว่าจะลาออก แม่ก็บอกว่าทนอีกนิดได้ไหม แต่หนูบอกว่าไม่ไหว แล้วก็ย้ายมาเรียนที่วิทยาลัยเกษตรฯ ที่อยู่แถวบ้าน อีกด้านหนึ่งก็ถือว่าได้ประหยัดค่าใช้จ่าย​ ไม่ต้องมีค่าหอพัก ตอนนั้นก็คิดหลายๆ ด้านประกอบกัน”

 

ฝึกงานที่ศูนย์วิจัยข้าวฯ ยิ่งทำให้มีความสุข

ในฐานะที่เป็นลูกหลานเกษตรกร ภาพการทำนาและทำสวนยางของที่บ้านเป็นภาพที่คุ้นชินมาตั้งแต่เด็ก แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้รู้ตัวว่าชอบการเกษตรจนได้มาคุยกับเพื่อนที่เรียนที่วิทยาลัยเกษตรฯ และเข้าไปหาความรู้ใน Youtube เพิ่มเติมดูเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้ปลุกความเป็นเกษตรกรในตัวและค้นพบว่าตัวเองอยากเป็นนักวิชาการการเกษตรที่จะออกไปให้ความรู้คนอื่น

“พอได้ไปเรียนเกษตรแล้วก็รู้สึกว่าใช่ตัวตนของเราจริงๆ  เกษตรแบ่งเป็นพืชกับสัตว์ซึ่งหนูเลือกเรียนพืชก็จะเรียนทั้งปฏิบัติ และทฤษฎีควบคู่กันไป ต้องเรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับพืช เรียน ทั้ง ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ตอนปวส. ​ยังเรียนกว้างๆ  แต่จะมาเรียนลึกเรื่องข้าว ยาง ปาล์มน้ำมันตอนปริญญาตรี และตอนได้ฝึกงานที่ศูนย์วิจัยข้าวฯ พัทลุง ยิ่งมีความสุขมาก”​

ความสุขในการเรียนเกษตรของกระถิน คือ ได้ฝึกให้เป็นคนได้สังเกต เช่น พอเจอแมลงศัตรูพืช ​ก็จะตั้งคำถามว่าตัวนี้คือตัวอะไร ข้าวมีลักษณะแบบนี้เป็นโรคอะไร ​ก็จะเก็บคำถามไปถามครูฝึกที่เป็นนักวิชาการการเกษตร​เป็นความสุขที่ค่อยๆ สะสมความรู้ไปเรื่อยๆ

 

เกียรติสูงสุดในชีวิต นำเสนอโครงงานต่อหน้าพระพักตร์

ในแง่กิจกรรมนอกหลักสูตร กระถิน สามารถไปคว้า ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์-อาชีวศึกษาเอสโซ่ ระดับชาติ เรื่องผลของสูตรอาหารเพาะเลี้ยงต่อการเจริญเติบโตของต้นม่วงเทพรัตน์ที่งอกจากเมล็ดเทียม ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.ปทุมธานี  

     

ต้นม่วงเทพรัตน์เป็นไม้ดอกจากประเทศเยเมน มีสรรพคุณสามารถรักษาโรคดีซ่าน โดยได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักการเพาะพันธุ์เดิมใช้วิธีปักชำแต่การใช้เมล็ดเทียมจะทำให้ขยายพันธ์ได้มากขั้นหลายเท่าตัว​

“เป็นวิธีที่ค่อนข้างยาก ต้องทำอยู่หลายเดือน ช่วงแรกมีเชื้อราก็ต้องกลับมาทำใหม่ เพราะเรื่องความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ โดยมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำ เราก็คอยแก้ตรงไหนผิดพลาดก็นำมาเป็นบทเรียนแก้ไขใหม่จนสำเร็จ”

ในการประชุมวิชาการระดับประเทศกระถินได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนำเสนองานวิจัยต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และตรัสว่าเป็นวิธีการที่ดีมาก​ซึ่งรู้สึกดีใจและถือเป็นเกียรติสูงสุดใจชีวิต​

 

ภูมิใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของแม่​

กระถิน-สศิวิมล ม่วงมี นักศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพืช วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง

สำหรับเส้นทางการเรียน กระถิน วางแผนตั้งแต่เริ่มเรียนระดับ ปวส. แล้วว่า จะเรียนต่อจนจบระดับปริญญาตรีแล้วค่อยออกมาสมัครเป็นนักวิชาการการเกษตร เมื่อทาง กสศ. ประกาศรับสมัครทุนการศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาได้บอกว่ามีทุนนี้ที่ให้ทุนทั้งค่าเรียน กินอยู่ สนับสนุนค่าทำวิจัย ​ตอนแรกก็ลังเลเพราะเราไม่ได้เก่งมาก เกรดเฉลี่ย 3.66 ไม่รู้ว่าต้องไปแข่งกับคนอื่นๆ ที่เก่งกว่าอีกเท่าไหร่   

“จนประกาศผลออกมาเราได้รับทุนตอนนั้นดีใจมากรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ภูมิใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของแม่ รู้สึกดีใจที่จะได้ไม่ทำให้แม่ต้องหนักใจเรื่องเงินที่ต้องส่งเราเรียน คนรอบข้าง เพื่อน อาจารย์ก็มาแสดงความยินดี”​

กระถิน เล่าให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรีในปีนี้ ได้วางแผนว่าจะเรียนต่อปริญญาโทเกี่ยวกับโรคพืชหรือการพัฒนาการเกษตร ซึ่งจะได้เรียนลึกลงไปในรายละเอียดที่มากกว่าระดับปริญญาตรี ​​โดยมองไว้ 3 ที่ คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะต้องสอบเข้า หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ วิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่สมัครเข้าเรียนได้เลย

 

เส้นทางที่เลือกแล้ว และจะทำให้ดีที่สุด

“ไม่เคยคิดว่าจะมาถึงวันนี้ได้ในอดีตภาพอนาคตของเราคือได้เป็นครู แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป จากที่เรียนสายสามัญ เรียนสายวิทย์-คณิต  เข้าเรียนครุศาสตร์ก่อนจะออกมาเรียน ปวส. จบแล้วต่อปริญญาตรีด้านการเกษตร และกำลังจะได้ทุนเรียนต่อปริญญาโท แต่ก็เป็นเส้นทางที่เราเลือกและจะทำให้ดีที่สุด”

กระถิน ยืนยันว่า ตัดสินใจถูกที่ย้ายมาเรียนสายอาชีพซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัด ซึ่งการเรียนสายอาชีพทำให้ได้ลงมือปฏิบัติจริง ต้องขอบคุณ ​“โอกาส” ในการศึกษาที่ได้รับ ในชีวิตไม่เคยคิดมาก่อนด้วยซ้ำว่าจะได้เรียนปริญญาโท​การได้ทุนนี้ทำให้ตระหนักว่าต้องตั้งใจเรียน ตั้งใจฝึกงาน และจบออกไปแล้วจะนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้ไปพัฒนาประเทศ พัฒนาการเกษตรบ้านเรา

ส่วนการเรียนต่อในระดับปริญญาเอกนั้นยังต้องขอรอดูผลการเรียนในระดับปริญญาโทก่อนถึงจะบอกได้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป  ตอนนั้นก็ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุดเพื่อจบออกมาเป็นนักวิชาการการเกษตร ให้ความรู้ชาวบ้าน เช่น การใช้สารเคมีจะใช้สัดส่วนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมไม่เป็นอันตรายกับผู้ใช้ และทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ

กระถิน ถือเป็น  1 ใน 13 นักศึกษาสายอาชีพที่ได้รับทุน “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ปี 2563”  ให้ศึกษาในระดับปริญญาตรี ต่อเนื่องถึงปริญญา ซี่งถือเป็นทุนแรกของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมให้ให้คนจบสายอาชีพ ได้เรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไป  ในสาขาที่ตอบโจทย์ประเทศ ทั้ง S-Curve New S-Curve STEM  และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค