เปลี่ยนกรอบคิดเรียนได้ทุกที่

เปลี่ยนกรอบคิดเรียนได้ทุกที่

ผศ.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสัมมนา Equity talk ผ่าน เฟซบุ้ก ไลฟ์ ในหัวข้อ  “การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ ผศ.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมบูรณ์ ใจปิง ผู้ใหญ่บ้านและ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนห้วยพ่าน จ.น่าน 3.  นายเปลว ปุริสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี) จ.ราชบุรี และ นายสัญญา มัครินทร์ ครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น  

ผศ.ดร.สิทธิชัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19  ทำให้เกิดการศึกษาที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นการรวมกันระหว่างเรียนรู้ และ การใช้ชีวิต หรือLiving และ Learning จากเดิมที่สองเรื่องนี้แยกขาดจากกัน  อีกด้านหนึ่งยังทำให้เกิดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐานที่ไม่ใช่แค่เรื่องของครูกับนักเรียนแต่เป็นการเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้ง เด็ก ครู ผู้ปกครอง ชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีโรงเรียนในพื้นที่จำนวนมากที่ออกแบบการเรียนรู้ตามบริบทชุมชนได้เป็นอย่างดี  

 ทั้งนี้ ยกตัวอย่างพื้นที่ภาคใต้ที่มีมโนราห์ โรงเรียนก็จัดกิจกรรมร้อยลูกปัดชุดมนโนราห์ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติความเป็นและฝึกสมาธิ หรือพื้นที่ทำการเกษตรก็พาเด็กเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเขาปลูกผักอย่างไร ไปจนถึงการต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร ตรงนี้เป็นโอกาสทองให้หลายคนได้ทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน  สำหรับโครงการรถพุ่มพวงชวนเรียนรู้นอกจากที่โรงเรียนบ้านโนนชัย ยังมีที่จ. เชียงใหม่และขอนแก่นซึ่งเป็นการปรับตามความต้องการของชุมชน เป็นการเรียนรู้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยดึงความร่วมมือจากคนในชุมชน

 นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ที่ศูนย์การเรียนรู้ห้วยพ่าน ตั้งอยู่บนดอยนักเรียนผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าการจัดหลักสูตรการเรียนรู้จะมีความเชื่อมโยงกับชุมชนทั้งหลักสูตร ดิน น้ำ ป่า วัฒนธรรม ความมั่นคงทางอาหาร ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง จิตศึกษา กิจกรรมเก็บขยะในชุมชน กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณะประโยชน์ ซึ่งเดิมเราคิดว่าการสอนเป็นหน้าที่ของครูอย่างเดียวแต่ตอนนี้เปลี่ยนไปทั้งผู้ปกครอง ชุมชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสอนบุตรหลานด้วย  

 อย่างไรก็ตาม  จากที่เปิดศูนย์เรียนรู้ซึ่งถือเป็นชุมชนแห่งแรกที่ลุกขึ้นมาทำงานด้านการศึกษา ตอนเปิดปีแรก็ต้องไปหาเด็กที่อยู่ในชุมชนแต่ออกไปเรียนที่อื่นให้กลับมาเรียนที่ศูนย์  ซึ่งได้พูดคุยตอนนั้นว่าจะจัดการศึกษาอย่างไม่ให้เกิดการบีบบังคับ ให้เด็กได้เรียนสิ่งที่อยากเรียน โดยพบว่าจากเด็กที่เคยเป็นเด็กหลังห้องจากโรงเรียนอื่นพอได้มาเรียนที่ศูนย์จบจบป. 6 เขาสามารถสอบเข้ามัธยมได้เป็นอันดับหนึ่งของโรงเรียน โดยการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคนทั้งครูผู้ปกครองที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบให้เด็กโตขึ้นไปมีอนาคตที่ดี

 นายเปลว กล่าวว่า คนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือทำลำพังเหมือนคำว่า Education for all และ All for education โดยไม่มีเครื่องมือใด หลักสูตรใดที่ดีที่สุดเพียงอย่างเดียวการเรียนต้องใช้หลักสูตรและเครื่องมือที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้จะต้องมาร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ ตามความรู้ความสนใจของผู้เรียน โดยครูจะเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนไปกับชุมชน ซึ่งโรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี) นักเรียนส่วนใหญ่จำนวนมากเป็นกระเหรี่ยงไม่มีสัญชาติไทย นอกจากสอนให้อ่านออกเขียนได้มีความรู้คณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ อีกด้านต้องสอนทักษะชีวิต การซักผ้า ดูแลอนามัยในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม การเรียนออนไลน์ หรือ ออนแอร์ ผ่าน DLTV จากที่ครูไปส่งใบงานให้เด็กเรียนรู้แต่ทางผู้ปกครองไม่สามารถช่วยสอนบุตรหลานได้ ทางโรงเรียนจึงจัดการสอนในพื้นที่ “คุ้มบ้าน” ให้เด็กไปรวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ  ครูก็จะหิ้วทีวี โน๊ตบุ้ก แอร์การ์ด ไปสอนเด็กในบางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าก็ใช้เครื่องปั่นไฟ  การลงไปในพื้นที่มีข้อดีคือการเห็นบริบทความเป็นอยู่ของเด็กได้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกิดความใกล้ชิดระหว่างครูนักเรียน รวมทั้งยังมีครูอาสา อสม. มาช่วยดูแลร่วมด้วย

 นายเปลว  กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้ในชุมชนทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่ได้ออกมาเจอสภาพความเป็นจริง เป็นการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ได้เรียนรู้ของดีที่อยู่ในชุมชนว่าชุมชนมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจและเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ อย่างการสอนหน้าที่พลเมืองที่เดิมเคยอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่พอได้ออกมาเรียนในชุมชนจริง ๆ ก็จะเห็นบริบทของสังคมว่าเราจะมีสิทธิ มีส่วนร่วมทางสังคมตรงไหนได้บ้าง ถือเป็นสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เติมเต็มมากกว่าการเรียนในตำราอย่างเดียว 

 นอกจากนี้ จากวิกฤตที่เกิดขึ้นถือเป็นโอกาสที่จะได้ปรับการเรียนการสอน ว่าจะฉีกกรอบ 8 กลุ่ม สาระการเรียนรู้  มีการจัดกิจกรรมการเรียนแบบแอคทีฟเบส ตามความถนัดและความสนใจของเด็ก โดยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใกล้ตัว สิ่งที่อยู่ในชุมชนของตัวเอง  และจะทำให้เกิดภาคีเครือข่ายเหมือนอย่างที่มีอสม. การศึกษาอยู่กับเด็กในชุมชน เพราะครู บางคนไม่สามารถพูดภาษากะเหรี่ยงได้ แต่อสม.สื่อสารได้ดี รู้บริบทชุมชนได้ดี อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดการผ่องถ่ายการเรียนรู้ไปสู่นอกกรอบโรงเรียน จากเดิมที่ตีกรอบว่าการศึกษาเป็นเรื่องในโรงเรียนต้องเปลี่ยนเป็นการศึกษาอยู่ได้ทุกที่ เป็นการศึกษาตลอดชีวิต   

 ด้าน นายสัญญา  กล่าวว่า โรงเรียนบ้านโนนชัยเป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีการเชื่อมโยงกับวิถีชุมชน เชื่อมโยงสาระวิชา สู่สาระชีวิต  ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้จัดรถพุ่มพวงชวนเรียนรู้ลงไปในพื้นที่หาเด็กมีกิจกรรอย่างทำงานศิลปะผ้ามัดย้อมที่ต่อยอดไปเป็นหน้ากาก ผ้าเช็ดหน้า ไปจนถึงเรื่องการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเหลื่อมล้ำ จิตศึกษา ซึ่งได้เห็นมิติความงดงาม เห็นความ  ความมีส่วนร่วม สร้างการเรียนกับพื้นที่ชุมชน