ดั่งแสงความหวังที่พลันจุดประกายขึ้นอีกครั้ง

ดั่งแสงความหวังที่พลันจุดประกายขึ้นอีกครั้ง

ทุกปีการศึกษา มีนักเรียนจำนวนหนึ่งต้องหลุดพ้นจากระบบการศึกษาหลังจบชั้น ม.6 ทั้งที่พวกเขามีความคิดฝันถึงการได้เรียนต่อในสาขาวิชาที่ตนสนใจ มีศักยภาพเพียงพอที่จะเติบโตก้าวไปในสายงานที่วาดหวัง แต่ด้วยความขัดสนด้านทุนทรัพย์ประกอบกับปัญหานานัปการที่รายล้อม อนาคตจึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งที่เชื่อมั่นว่าการศึกษาคือประตูบานเดียวที่จะพาพ้นวงจรความยากจน หลายคนหมดหวังหลังดิ้นรนทุกหนทาง เฝ้ามองเพื่อนๆ วางแผนเรียนต่อและพูดถึงอาชีพการงานที่อยากทำอยากเป็นในภายภาคหน้า แล้วก็ตัดใจว่าทางเลือกเดียวที่มีคือต้องหางานทำเพื่อจุนเจือครอบครัว ทั้งยังหวังลึกๆ ว่าหากเก็บหอมรอมริบมีทุนสักก้อนก็อาจจะได้กลับมาเรียนอีกครั้ง

เยาวชนกลุ่มนี้ คือเป้าหมายของ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ที่ออกแบบโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อเฟ้นหานักเรียนที่มีใจรักการศึกษาเล่าเรียนและมีความจำเป็นพิเศษจากทั่วประเทศ ให้ได้รับโอกาสเรียนรู้ศาสตร์วิชาชีพที่ตนสนใจ เพื่อสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตและสร้างอนาคต ที่เสมอภาคกับเพื่อนคนอื่นในสังคม และในฐานะนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง นี้คือความในใจจากน้อง ๆ ส่วนหนึ่งของ วิทยาลัยชุมชนสตูล ชั้นอนุปริญญา 1 สาขาวิชาการท่องเที่ยว ว่าพวกเขาและเธอรู้สึกอย่างไรกับการได้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น1’ หลังจากที่ทุกคนเคยผ่านสถานการณ์ของความท้อถอย หมดหวัง หรือบางคนก็ถอดใจแล้วว่าคงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อหลังจบ ม.6

นัซเราะห์ สมจริง หรือ นัท เล่าว่า ย้อนไปตอนจบ ม.3 เป็นครั้งแรกที่คิดแล้วว่าจะไม่ได้เรียนต่อ เมื่อที่บ้านบอกว่าไม่มีเงินส่งให้เรียนเพราะมีน้องที่ยังเล็ก ตอนนั้นคิดว่าไม่เป็นไร เราเป็นพี่คนโตต้องเสียสละให้น้อง อย่างน้อยน้องก็ควรได้เรียนจนได้วุฒิ ม.3 เท่ากับเรา สำหรับตัวเองคิดว่าไปหางานทำก็ได้ แต่ก็ยังไม่ท้อ พอดีได้ทราบว่าที่โรงเรียนมีทุนต่อ ม.4 ซึ่งต้องสอบแข่งขันกับเพื่อนที่จบ ม.3 ด้วยกัน แล้วยังมีเพื่อนต่างโรงเรียนที่มาสมัครอีก เขามีสิทธิ์ให้นักเรียนแค่ 2 คน ก็ยังคิดอยู่ว่าอาจจะไม่ได้ แต่พอผลออกมาปรากฏว่าเราได้เป็น 1 ใน 2 มีโอกาสได้เรียนต่อ ก็ดีใจมาก

น้องนัท กล่าวต่อไปว่า ระหว่างเรียน ม.ปลาย ในหัวมีแต่ความกังวลว่าจบ ม.6 ไปก็คงต้องเจอกับปัญหาแบบเดิมอีก แต่ก็พยายามตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด ช่วงจะจบชั้น ม.6 มีแต่ความรู้สึกท้อแท้ เพราะน้องก็กำลังจะขึ้น ม.4 ส่วนทางบ้านก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ครอบครัวเราไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย เพื่อนคนอื่นเขามีสวนยาง มีเงินทุนการศึกษาเก็บไว้ แต่เราต้องไปรับจ้างในสวนยางคนอื่นช่วงปิดเทอม เก็บปาล์มไปขายบ้าง ได้เงินมาครั้งละ 100-200 บาทก็ให้น้อง ให้แม่ไว้ใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ บางทีข้าวสารในบ้านเหลือไม่พอสำหรับทุกคน หนูก็ยอมที่จะกินมื้อเว้นมื้อให้น้องได้อิ่มก่อน ชีวิตช่วงนั้นมันมีแต่ความรู้สึกเสียใจว่าทำไมเราทำอะไรไม่ได้เลย จนมีครูคนหนึ่งที่เขาคอยให้คำปรึกษามาตลอดแนะนำว่ามีทุนจาก กสศ. สาขาการท่องเที่ยวของ วชช. สตูล รับสมัครอยู่ เขาเห็นเราชอบเรียนภาษาก็คิดว่าน่าจะเรียนได้ หนูก็รีบชวนเพื่อนไปสมัคร ระหว่างที่รอผล เวลามันเหมือนนานมาก แต่ทุกครั้งที่รู้สึกท้อก็จะบอกกับเพื่อนว่าถ้าไม่ได้เรียนเราจะไปหางานทำด้วยกัน จนวันที่ประกาศผลว่าเราได้ทุน หนูดีใจจนน้ำตาไหลไม่หยุด เพราะมันเป็นทางเดียวที่ทำให้หนูได้เรียนต่อ แล้วยังสามารถมาช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านได้ด้วย มันเป็นทั้งความดีใจที่ได้เรียนและภูมิใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวดีขึ้น ทุนนี้คือสิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของหนูจากที่เคยท้อถอยจนไม่มีความหวังแล้ว แต่ตอนนี้หนูสามารถมองเห็นอนาคตของตัวเองได้อีกครั้ง

ทางด้าน ฟารีดา แล้หมัน หรือ ฟาดา เล่าว่าทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยตั้งแต่ขึ้น ม.4 เพราะต้องแบ่งเบาภาระที่บ้านซึ่งมีพี่น้องหลายคน ตอนจบ ม.6 รู้สึกสงสารที่บ้านจึงลังเลว่าจะเรียนต่อหรือไปทำงานเต็มเวลา แต่ใจลึก ๆ ก็ยังอยากเรียนระดับวิทยาลัย เคยลองไปสอบมหาวิทยาลัยราชภัฏสาขาภาษาอังกฤษก็สอบติด แต่รู้ว่าไม่มีเงินพอจะเรียนได้ ระหว่างนั้นมีครูท่านหนึ่งแนะนำว่ามีทุน กสศ. สาขาการท่องเที่ยว จึงรีบไปสมัคร แล้วพอรู้ว่าตัวเองจะได้เรียนจริงๆ ก็ดีใจมาก ดีใจที่มีคนหยิบยื่นโอกาสให้

ส่วน กฤษณา รอดเสวก หรือ จ๋า บอกว่า ขอขอบคุณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น ตนเป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานส่งตัวเองเรียนตั้งแต่ชั้น ม.ต้น พอเรียนถึง ม.ปลาย ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาก็เริ่มเยอะขึ้นจึงคิดว่าคงหมดสิทธิ์เรียนต่อแล้ว เขามีสอบ GAT/PAT สอบ ONET กัน เราก็ไม่ได้สอบอะไรสักอย่าง ช่วงปิดเทอมหลังจบ ม.6 เราก็ต้องออกไปทำงานเก็บเงินแล้ว จำได้ว่าเหนื่อยมากกว่าจะได้เงินมา มันทำให้เรายิ่งคิดอยากเรียนให้จบสูงกว่าวุฒิ ม.3 ก็วางแผนว่าพอมีเงินจะเรียนทางไกลจากมหาวิทยาลัยเปิด จนได้ทราบว่ามีทุนของวิทยาลัยชุมชน จาก กสศ.ขเราตัดสินใจสมัครทันที อยากบอกว่าทุนนี้ทำให้เราได้เรียนหนังสือต่อ ขอสัญญาว่าจะใช้ทุนที่ได้รับทุกบาทให้เป็นประโยชน์สูงสุด

ขณะที่ นารีรัตน์ บูนำ หรือ ลีนา ระบุถึงความฝันในวัยเยาว์ว่า หนูจำได้ว่าตอนที่ยังเด็กได้มีโอกาสไปร่วมงานรับปริญญาของรุ่นพี่ เห็นเขาใส่ชุดครุย ทุกคนยิ้มแย้มเบิกบานมีความสุข มันเหมือนเป็นวันพิเศษของชีวิต ได้เรียนจนจบ มีพ่อมีแม่มีครอบครัวมาแสดงความยินดี ภาพวันนั้นติดอยู่ในใจหนูเสมอมา เราสัญญากับตัวเองตั้งแต่นั้นว่าสักวันต้องเรียนให้จบ ได้สวมชุดครุยอย่างพี่เขาบ้าง จนโตขึ้นมาเราเริ่มทำงานแล้วเรียนไปด้วย พอมีเงินเก็บบ้าง ความฝันของเราก็เริ่มใหญ่ขึ้น หนูอยากเป็นมัคคุเทศก์ เงินที่เก็บไว้หนูเอาไปใช้สอบ GAT/PAT แล้วเตรียมเอาส่วนที่เหลือไปใช้เป็นค่าสมัครเรียนต่อ ตอนนั้นเองที่พ่อกับแม่มาบอกเราว่า หนูเรียนจนจบชั้น ม.6 แล้ว แต่พี่ชายยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ ส่วนน้องก็ต้องเรียนให้จบถึงชั้น ม.6 ฉะนั้นพอจะเป็นไปได้ไหมที่หนูจะพักเรียนไว้ก่อนเพื่อเอาเงินไปส่งเสียให้พี่กับน้อง หนูจำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ภาพฝันที่เราจะได้ใส่ชุดครุยได้เป็นมัคคุเทศก์พังทลายสลายไปหมดทันที ลีนาเท้าความ

“เหมือนกับว่าชีวิตหนูยังมีโชคดีอยู่บ้าง มีอาจารย์ที่โรงเรียนติดต่อมาบอกว่าทางวิทยาลัยชุมชนสตูลมีทุนจาก กสศ. ในสาขาวิชาการท่องเที่ยว ระหว่างที่ยังฟังอาจารย์ไม่จบ หนูก็ตัดสินใจทันทีว่าจะต้องไปเรียนให้ได้ วินาทีนั้นมันเหมือนกับว่ามีแสงสว่างวาบขึ้น แล้วภาพที่เราเห็นตัวเองได้เรียนจบ ได้เป็นมัคคุเทศก์มันก็ปรากฏราง ๆ ขึ้นอีกครั้ง ถึงวันนี้ สิ่งที่หนูอยากจะบอกไปถึงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาคือ หนูต้องขอบคุณมากที่ทำให้ความฝันที่เคยดับวูบลงไปแล้วได้จุดประกายขึ้นมาอีกครั้ง แล้วในตอนนี้มันยังเป็นเหมือนกับแสงส่องทางในการดำเนินชีวิตหนูด้วย หนูสัญญาว่าจะพาตัวเองไปถึงจุดที่ฝันให้ได้ และจะทำให้ทุนนี้มีคุณค่าสมกับความตั้งใจของผู้ที่ให้ทุนมา” นารีรัตน์ บูนำ กล่าวปิดท้าย