เฟ้นหานักศึกษา ‘ครูรักษ์ถิ่น’ ด้วยภาษาและความเข้าใจพหุวัฒนธรรม ผสานความร่วมมือจากชุมชน

เฟ้นหานักศึกษา ‘ครูรักษ์ถิ่น’ ด้วยภาษาและความเข้าใจพหุวัฒนธรรม ผสานความร่วมมือจากชุมชน

จากโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้าง ‘ครู’ รุ่นใหม่ที่เป็นผลผลิตของชุมชน โดยผ่านกระบวนการบ่มเพาะจากสถาบันในพื้นที่ร่วมกับชุมชน ให้ได้ ‘ครูนักพัฒนา’ ที่ไม่เพียงมีความสามารถในด้านการศึกษา หากยังต้องมีความเข้าใจลึกซึ้งแตกฉานในถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อเป็นกำลังสำคัญร่วมกับผู้นำชุมชนในการยกระดับท้องถิ่นได้

และด้วยความต้องการครูที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับพื้นที่ ทำให้ความเข้มข้นของการค้นหาครูรักษ์ถิ่นเริ่มขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการลงพื้นที่ค้นหาน้องๆ ซึ่งนับเป็นแนวคิดใหม่ของการสร้างครู ที่สถาบันการศึกษาได้เข้ามามีบทบาทในการคัดเลือกน้อง  ที่มีผลการเรียนและความประพฤติดี ขาดแคลนทุนทรัพย์ และที่สำคัญคือมี ‘แวว’ ความเป็นครูที่โดดเด่น เพื่อให้ได้คนที่ ‘ใช่’ มาผ่านการเจียระไนโดยสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านการบ่มเพาะครูชั้นนำของประเทศในลำดับถัดไป

ทางด้านมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) หนึ่งในกำลังสำคัญของการสร้างครูรักษ์ถิ่นในแถบภาคใต้ตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอชายขอบของจังหวัดสงขลา กับโควตาดูแลน้องๆ ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 2 ในสาขาประถมศึกษาจำนวน 31 คน ได้มีการออกแบบกระบวนการค้นหาและการสร้างครูรักษ์ถิ่นโดยใช้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตมาเป็นโจทย์สำคัญ ด้วยเชื่อมั่นว่าน้องๆ ครูรุ่นใหม่กลุ่มนี้ จะสามารถเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ในด้านพหุวัฒนธรรมได้จริงในอนาคต

 

พัฒนาหลักสูตรรองรับโรงเรียนขนาดเล็กในลักษณะพื้นที่ที่แตกต่างกัน

ผศ.ยุพดี ยศวริศกุล ผู้รับผิดชอบโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มอ.ปัตตานี

ผศ.ยุพดี ยศวริศกุล ผู้รับผิดชอบโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มอ.ปัตตานี อธิบายว่า สาขาวิชาการประถมศึกษาของ มอ.ปัตตานี เป็นสาขาที่ได้รับการการันตีบรรจุเป็นข้าราชการครู 100% และมีผู้เข้าสอบแข่งขันมากที่สุดทุกปี ซึ่งยืนยันได้ถึงมาตรฐานการผลิตครูคุณภาพที่พร้อมทำงานในทุกภูมิภาค

ขณะที่การเกิดขึ้นของโครงการครูรักษ์ถิ่น โดย กสศ. ทำให้สถาบันมองเห็นช่องทางในการผลิตครูอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาท้องถิ่น คือต้องเป็นผลผลิตจากชุมชน ร่วมบ่มเพาะพัฒนาศักยภาพโดยชุมชน และจะกลับไปเป็นครูผู้มีบทบาทสำคัญในชุมชน ดังนั้น มอ.ปัตตานี จึงออกแบบหลักสูตรเฉพาะเพื่อรองรับนักศึกษากลุ่มนี้

“จากประสบการณ์ 23 ปีในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่งที่แตกต่างด้วยลักษณะของชุมชน เมื่อเปลี่ยนบทบาทจากผู้ใช้ครูเป็นผู้ผลิตครู เราจึงนำความรู้ความเข้าใจมาช่วยพัฒนาหลักสูตร อย่างแรกคือเราต้องรู้ว่าพื้นที่นั้นๆ ต้องการครูแบบไหน ซึ่งสำหรับครูที่จบจากเอกประถมศึกษา เขาจะมีคุณสมบัติเหมาะกับโรงเรียนขนาดเล็กมากที่สุด เนื่องจากสอนได้ทั้ง 8 สาระวิชา ตรงนี้เรานำมาบูรณาการให้เป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์โรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก สามารถสอนแบบเรียนรวมชั้น คละชั้น โดยเฉพาะวิชาจัดการเรียนการสอนทั่วไปและเฉพาะสาขาวิชา วิชาการศึกษาพิเศษ และต้องมีวิชาพหุวัฒนธรรมศึกษา เพราะพื้นที่เรามีความเฉพาะตัวเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรมที่ชัดเจน”

 

ภูมิปัญญาท้องถิ่นคือแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมช่วยพัฒนาชุมชน

อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการครูรักษ์ถิ่น มอ.ปัตตานี กล่าวต่อไปว่า ชุมชนจะต้องเข้ามีบทบาทในกระบวนการสร้างครูรักษ์ถิ่นร่วมกับมหาวิทยาลัย เนื่องจากนักศึกษาจำเป็นต้องเรียนรู้ทุกรายละเอียดของสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เขาจะกลับไปเป็นครู โดยเฉพาะเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้น จะต้องมีวิชาศึกษาบริบทในท้องถิ่นของตนแล้วทำเป็นงานวิจัยขนาดย่อม บอกเล่าความต้องการของท้องถิ่น แนวทางการพัฒนา โดยศึกษาและทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนต่อเนื่องตลอดช่วงเวลา 4 ปีการศึกษา

สิ่งที่ได้มาจากนักศึกษา 31 คน จะกลายเป็นโมเดล 31 แบบ ที่จะใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษาครูรักษ์ถิ่นในแถบพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ของเรามีความซับซ้อน ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนต่อการทำความเข้าใจ ด้วยหลากหลายวัฒนธรรมที่มีความต่าง ตรงนี้มหาวิทยาลัยและครูรักษ์ถิ่น จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจ หรือคิดค้นนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่แต่ละแห่งได้” ผศ.ยุพดี ยศวริศกุล กล่าว

 

ใช้ภาษาถิ่นและความเข้าใจวัฒนธรรม ผสานความร่วมมือจากท้องถิ่น

ดร.ฮามีด๊ะ มูสอ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มอ.ปัตตานี

ดร.ฮามีด๊ะ มูสอ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มอ.ปัตตานี หนึ่งในผู้มีบทบาทร่วมลงพื้นที่คัดกรองนักศึกษาครูรักษ์ถิ่น ระบุว่า “ภาษาและความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น คือกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าถึงความร่วมมือจากชุมชน” โดยทีมค้นหา มีการออกแบบวิธีการจากอาจารย์หลายท่านที่มีความเข้าใจด้านภาษา ศาสนา และสภาพสังคมที่หลากหลาย มีการวิเคราะห์พื้นที่ เก็บข้อมูล โดยเฉพาะความละเอียดอ่อนด้านความเชื่อทางศาสนา ก่อนลงพื้นที่จริง ทั้งนี้อาศัยความร่วมมือจากผู้นำชุมชนเป็นหลัก เน้นสร้างเครือข่ายที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน

“แม้เป็นพื้นที่ที่เราคุ้นเคย ด้วยเติบโตมาในสังคมมุสลิม เข้าใจบริบทภายในทั้งการดำรงชีวิตและวัฒนธรรม แต่ก็จำเป็นยิ่งที่ต้องใช้ความร่วมมือจากพื้นที่ในการอำนวยความสะดวก และช่วยสื่อสารเป้าหมายของโครงการให้คนในชุมชนเข้าใจตรงกัน สิ่งหนึ่งที่ทีมค้นหาน้องๆ ต้องทราบร่วมกันคือแม้เป็นตำบลเดียวกันแต่ก็จะมีพื้นที่ที่เป็นชุมชนมุสลิม 100% หรือก็มีที่เป็นพุทธ 100% อยู่ด้วยกัน การติดต่อสื่อสารชุมชนเราก็ต้องเข้าใจบริบทให้ถ่องแท้ก่อน

สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือเราใช้ภาษามลายูถิ่น(ยาวี) อันเป็นภาษาที่คนในพื้นที่คุ้นเคยในการพูดคุย และใช้ความจริงใจสื่อสาร ให้เขารู้ว่างานที่จะทำร่วมกันคือการพัฒนาคนในชุมชนจริงๆ เป็นการทำงานระยะยาวที่ส่งผลต่อยอดในหลายระดับ ตั้งแต่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์และมีใจรักความเป็นครูได้ศึกษาต่อ จนถึงปลายทางที่เขาจะกลับมาพัฒนาชุมชน ซึ่งเราต้องให้ความมั่นใจกับเขาได้

“ด้วยปัญหาที่ซับซ้อนในพื้นที่แถบนี้ ความปลอดภัยคือสิ่งที่ชุมชนจะคำนึงถึงเป็นลำดับแรก เขาจะมีกรอบการมองคนนอกที่เข้ามาว่ามีจุดประสงค์ใด ตรงนี้การใช้ภาษาถิ่นช่วยสื่อสารความเข้าใจได้มาก โดยเฉพาะการพูดคุยกับครอบครัวของน้องๆ เราเห็นได้เลยว่าเขาจะมีการตอบสนองที่ดีเมื่อเราใช้ภาษาที่เขาคุ้นเคย มันทำให้เขาเห็นภาพโครงการชัดเจน และพร้อมร่วมมือกับเราต่อไป นี่คือส่วนสำคัญมาก เพราะการสร้างครูที่จะเป็นนักพัฒนาชุมชน จำเป็นต้องได้รับโอกาสจากครอบครัวและชุมชนของเขา รวมถึงต้องมีการดูแลร่วมกันโดยมีผู้นำชุมชนเป็นพลังเสริมให้ครูกลุ่มนี้ทำงานได้จริง” ดร.ฮามีด๊ะ มูสอ กล่าว 

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค