เงินอุดหนุน‘กสศ.’ฟื้นทักษะทำ‘กริชรามันห์’ ศิลปะปลายด้ามขวาน

เงินอุดหนุน‘กสศ.’ฟื้นทักษะทำ‘กริชรามันห์’ ศิลปะปลายด้ามขวาน

เนื่องจากเด็ก ๆ มีความสามารถและความถนัดแตกต่างกัน ผลสำเร็จทางการศึกษาจึงไม่ใช่เครื่องมือชี้วัดคุณภาพชีวิตเสมอไป นั่นคือหลักการตั้งต้นของครูโรงเรียนพัฒนาบาลอ ตำบลบ้านบาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้นำมาใช้ขับเคลื่อนในโครงการฝึกทักษะอาชีพให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเพื่อให้มีความรู้สู่การประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา

มูฮัมหมัด ซัยนูดิน หะยีมะ ครูโรงเรียนพัฒนาบาลอ จังหวัดยะลา ระบุว่า โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนหรือทุนนักเรียนเสมอภาค จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ให้กับเด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ ขณะเดียวกันยังได้ทุนสำหรับนำไปต่อยอดพัฒนาทักษะอาชีพให้กับเด็กนักเรียน ทางโรงเรียนพัฒนาบาลอเริ่มต้นพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผ่านการสืบสานทำ ‘กริชรามันห์’ ซึ่งถือเป็นศิลปะเลื่องชื่อของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีความเป็นมายาวนานสืบย้อนไปได้ถึงพุทธศตวรรษที่ 7 แม้ทางโรงเรียนมีอุปสรรคในเรื่องของอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณสนับสนุน

“ตอนนี้โชคดีทางโรงเรียนได้รับทุนดังกล่าวจาก กสศ. จึงได้นำมาใช้จัดสรรทั้งในเรื่องอุปกรณ์ และใช้อุดหนุนเงินให้เด็กยากจนพิเศษที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเป็นรายคน และโครงการพัฒนาทักษะอาชีพการทำกริชรามันห์จึงดำเนินต่อไปได้” มูฮัมหมัด ซัยนูดิน กล่าว

มูฮัมหมัด ซัยนูดิน กล่าวว่า โรงเรียนมีจุดประสงค์มุ่งเน้นไปยังการสร้างทักษะอาชีพให้กลุ่มเด็กด้อยโอกาส ทุนที่โรงเรียนได้รับถือเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กในชุมชนของเราสามารถเข้าถึงการเรียนหนังสือ ได้ฝึกฝนเรียนรู้พัฒนาตนเพื่อเป็นช่างฝีมือผู้มีความชำนาญศิลปะโบราณที่เกือบจะสูญหายไปแล้ว นับเป็นทั้งการสร้างคุณภาพชีวิตให้เด็กและเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประจำท้องถิ่นไปพร้อมกัน

โครงการพัฒนาทักษะอาชีพมีเป้าหมายเพื่อต่อยอดความสามารถเด็กให้ไปสู่ระดับอาชีพหลังจบการศึกษา สามารถนำไปสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้จริงในอนาคต

ในช่วงระหว่างฝึกทีกษอาชีพโรงเรียนยังได้ร่วมมือกับศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มสหกรณ์กริชรามันห์ จังหวัดยะลา นำผลิตภัณฑ์กริชจากโครงการฝึกอาชีพไปจัดจำหน่ายทั้งในร้านสินค้าที่ระลึกและในรูปแบบออนไลน์ เป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้เด็กนักเรียนอีกทางหนึ่ง สำหรับกริชรามันห์ สนนราคาขายตั้งแต่ 1,000 บาท จนถึง 10,000 บาท

มูฮัมหมัด ซัยนูดิน เผยด้วยว่า โครงการพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน ยังมีหลักสูตรการทำอาหารและขนมอีกด้วย นอกเหนือจากทักษะอาชีพที่ติดตัวเด็กจนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคตแล้ว ผลผลิตจากการฝึกพัฒนาทักษะระหว่างเรียนสามารถนำไปจำหน่ายเกิดรายได้กลับมาสู่เด็กนักเรียนอีกด้วย

“เด็กนักเรียนที่เข้ามาฝึกทักษะอาชีพ เป็นเด็กในระดับชั้น ม. 1-ม.3 มีทั้งเด็กชายและเด็กหญิงจำ เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่มีโอกาสออกไปเรียนนอกพื้นที่เนื่องจากขาดแคลนทุนการศึกษา ซึ่งทางโรงเรียนมองว่าการฝึกฝนทักษะทางอาชีพนั้นสามารถนำไปต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้ได้อย่างเป็นรูปธรรม”

มูฮัมหมัด ซัยนูดิน ย้อนตำนานกริชรามันห์ว่า เป็นอาวุธโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรลังกาสุกะ ปัจจุบันเป็นศาสตร์ที่แทบจะสูญหายไปแล้วด้วยขาดช่วงทางองค์ความรู้ ทางโรงเรียนเล็งเห็นว่าการทำกริชรามันห์เป็นทั้งศาสตร์และศิลปะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ไว้เพื่อคนรุ่นต่อไป ทั้งยังเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่

ทั้งนี้ โครงการฝึกพัฒนาทักษะอาชีพให้นักเรียน มีการทำกริชอยู่ 2 ประเภท คือ
1.กริชหัวนกพังกะ ในสมัยโบราณจะใช้ในหมู่เจ้าเมืองและขุนนาง
2.กริชหัวลูกไก่ เป็นอาวุธสำหรับสามัญชนทั่วไป

เด็กนักเรียนจะได้ฝึกทักษะการทำกริชทั้ง 2 ประเภท โดยแบ่งความชำนาญออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ กลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญระดับกลาง และระดับเริ่มต้น