แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องระเบิดจากข้างใน หนุนใช้ ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (ABE)’ สร้าง “อนาคต”
การศึกษาเสมอภาค แต่จะเกิดได้จริงต้องมีเอกภาพ ลดการรวมศูนย์อำนาจแบบแตกกระจาย

แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องระเบิดจากข้างใน หนุนใช้ ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (ABE)’ สร้าง “อนาคต”

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมชี้แจงและประชาสัมพันธ์ ‘โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปี 2565’ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมถ่ายทอดแนวคิด ทิศทาง และนโยบายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ภาคส่วนที่สนใจมุ่งส่งเสริมการศึกษาและการดำเนินงานปฏิรูปทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสำหรับเด็กและเยาวชน ส่งข้อเสนอโครงการเพื่อรับการสนับสนุนทุนจาก กสศ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ฉายภาพการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education: ABE) คือ “อนาคต” ของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จะเห็นได้จากการเดินหน้าบทบัญญัติตามร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …ที่รัฐสภารับร่าง เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 มาตรา 18 ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถรวมตัวเป็นคณะบุคคล เช่น สมัชชา สภา กลุ่มระดับจังหวัด ดำเนินการจัดการศึกษา เสนอความเห็นประกอบการทำแผนการศึกษา และการรับเงินบริจาคให้ได้รับการลดหย่อนภาษีได้ นี่จึงเป็นทิศทางในระดับประเทศที่เห็นภาพชัดขึ้น

ทั้งนี้จากการทำงานของ 20 จังหวัดนำร่องทำให้เห็นว่าพื้นที่ย่อมรู้และเข้าใจเป้าหมายของตนได้ดีที่สุด แต่กสศ.จะเข้าไปเสริมใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. พัฒนากลไกการจัดการการศึกษา เรียนรู้จากบทเรียนเพื่อค้นหากลไกพื้นที่ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ 2.พัฒนาระบบสารสนเทศให้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อดูแลเด็กด้อยโอกาส 3.การรณรงค์การขับเคลื่อน ยิ่งหน่วยงานภาคีระดับประเทศได้เข้าไปร่วมในเวทีระดับพื้นที่ จะสามารถเหนี่ยวนำผู้เล่นใหม่ๆหรือผู้เล่นเดิมที่ห่างหายไปเข้ามาเป็นเจ้าของเรื่อง และมีส่วนในการเป็นนักสื่อสารหรือรณรงค์ และ 4.การพัฒนานวัตกรรมและตัวแบบสร้างโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะถอดออกมาเป็นผลงานที่จะทำให้มีแนวร่วมเพิ่มขึ้นในอนาคต

“ผลงานที่เป็นนวัตกรรมการจัดการการศึกษาจะเป็นเครื่องยืนยันว่ากลไกเหล่านี้มีคุณค่าแก่สังคม สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยให้มีแนวร่วมและมีทรัพยากรมากขึ้นในอนาคต เพราะในอีกไม่กี่เดือน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติจะประกาศออกมาใช้จริง และถ้าไม่สามารถเป็นกลไกที่จะยืนหยัดจัดการศึกษาได้ ก็เท่ากับเป็นเพียงกลไกทางการเมืองที่ไม่ได้หวังเพื่อเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง ดังนั้นพวกเราเป็นแนวหน้าผู้ที่มีความคิดก้าวหน้า มีความตั้งใจในการทำงานมาก่อนใคร ก็ควรจะใช้โอกาสตรงนี้ในการทำงานในพื้นที่และสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาอย่างต่อเนื่อง” ดร.ไกรยส กล่าว 

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการจัดการศึกษา
เชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ.

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า กลไกในการจัดการศึกษาในพื้นที่ (ABE) มีบทเรียนจากโครงการนำร่องมาเป็น 10 ปี ซึ่งศึกษาไว้ชัดเจนว่าเมื่อลดปัญหาให้มีขนาดเล็กลงและกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นจะทำให้การทำงานคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และดูแลระบบนิเวศในการศึกษาในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง

กลไกนี้จำเป็นต้องระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งตัวอย่างโครงการที่เกิดจากความร่วมมือภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมาคือ “สวนผึ้งโมเดล” Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน ที่ตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะไม่มีเด็กและเยาวชนออกจากระบบการศึกษา หรือสามารถเข้าสู่ระบบการฝึกงานและมีอาชีพ

แต่สิ่งที่ ดร.กฤษณพงศ์ เน้นย้ำเพื่อให้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เป็นคำตอบที่มีจังหวัดเป็นสนามของความร่วมมือ จำเป็นที่จะต้องเชื่อมกับกลไกของรัฐให้มากขึ้น และมีการระดมทุนจากแหล่งทุนใหม่ ๆ 

“ต้องอาศัยกลไกรัฐที่เขามีหน้าที่โดยตรงเข้าทำงาน เป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาที่จะทำให้กลไกใหญ่ขึ้นและทำงานได้ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือการระดมทรัพยากรแนวทางใหม่ ต้องช่วยกันคิดนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการศึกษา เช่น การออกพันธบัตรทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ หรือการเก็บภาษีที่ระบุเป้าหมายที่ชัดเจนว่านำไปใช้ในการศึกษา ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในระดับประเทศและจังหวัด” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
และรองอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ.

ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และรองอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวถึงมุมมองการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เห็นว่าต้องทำระบบการศึกษาให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน และต้องค้นหาคนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษาได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ต้องอาศัยการทำงานของพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ปัญหามากที่สุด สร้างกลไกจากข้างในและสร้างรูปแบบการจัดการศึกษาที่มีความเหมาะสมตามบริบทของตนเอง

“สถาบันพระปกเกล้าทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 กว่าแห่ง จะพบความแตกต่างตั้งแต่มุมมองว่าอะไรคือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือความแตกต่างในวิธีการแก้ปัญหา บางพื้นที่อาจมองในเรื่องของการให้ทุนการศึกษา บางพื้นที่มองในเรื่องการทำโรงเรียนให้มีคุณภาพ ดังนั้นแต่ละที่อาจมองไม่เหมือนกันเลย แต่ที่สำคัญคือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมองเห็นและตระหนักว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ต้องการเลนส์ที่ละเอียด เลนส์ที่เข้าไปเอกซเรย์ว่าอะไรคือปัญหาที่เราต้องแก้” ศาสตราจารย์ วุฒิสาร กล่าว

โดยรูปแบบการจัดการอาจทำแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น สมัชชาการศึกษา, สภาการศึกษา, หรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ และการออกแบบร่วมกันกับส่วนราชการ

“ผมใช้คำว่าระเบิดจากข้างใน ทำจากจุดเล็กๆและขยายผล เราไม่จำเป็นต้องคิดว่าเราจะพลิกแผ่นดินในทันที เพราะเมื่อทำสำเร็จจะเกิดความเชื่อความศรัทธาที่จะทำให้ทุกคนคิดว่าสามารถจะทำงานร่วมกันได้ โดยมีกลุ่มสนับสนุนข้อมูลการจัดการซึ่งอันนี้ กสศ.พยายามออกแบบและลงทุนในเรื่องของการมีฐานข้อมูล Big Data ที่จะช่วยทำให้มองเห็นหรือชี้เป้าได้ง่ายขึ้น” ศาสตราจารย์ วุฒิสาร กล่าว

ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ยังเน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญการแก้ปัญหาของการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน เป็นหน้าที่ของทั้งภาครัฐราชการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ภาคเอกชน, ภาคประชาสังคม แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่

“ปุ๋ยที่ดีที่สุดของต้นไม้คือเงาของผู้ปลูก คุณภาพของการศึกษาจะสัมฤทธิผลก็ด้วยความใส่ใจของผู้บริหารโรงเรียนเพราะการศึกษาคือความงอกงาม ถึงเวลาแล้วที่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องทำกันอย่างจริงจังเสียที เพื่อเป้าหมายร่วมกันในการทำเพื่อประเทศในวันข้างหน้า” ศาสตราจารย์ วุฒิสาร กล่าวทิ้งท้าย

ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนมองไปข้างหน้าเพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่แม้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะต้องใช้การทำงานของพื้นที่ (ABE) เป็นกุญแจสำคัญ แต่โครงสร้างการบริหารภาครัฐไทยที่เป็นการกระจุกตัวรวมศูนย์เป็นอุปสรรคสำคัญ เห็นได้จากการบริหารส่วนกลางที่มีขนาดใหญ่และมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของท้องถิ่น แม้กระทั่งเรื่องทรัพยากรที่จะต้องให้ส่วนกลางตัดสินใจและเป็นไปตามงบประมาณปกติ เมื่อท้องถิ่นต้องแก้ไขปัญหาฉับพลันทันทีหรือปัญหาเฉพาะเรื่องก็ไม่สามารถดำเนินการได้ และส่วนกลางยังขยายกลไกคร่อมทับไปยังกลไกเชิงพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบัญชาการของผู้ว่าราชการจังหวัด นี่จึงเป็นการรวมศูนย์อำนาจแบบแตกกระจายไม่มีเอกภาพ 

สำหรับส่วนภูมิภาคมีส่วนราชการในจังหวัด 33 หน่วยงานซึ่งสังกัดส่วนกลางทำงานร่วมกัน แต่การเคลื่อนงานส่วนภูมิภาคกลับไม่มีอำนาจตัดสินใจและไม่มีงบประมาณจัดสรรมาให้ มีแต่โครงการส่งมาจากส่วนกลางแล้วให้สำนักงานในพื้นที่ทำ ท้องถิ่นจึงต้องอาศัยงบจัดสรรจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่เพียงพอ 

“แต่เรื่องใหญ่ที่สุดก็คือการแต่งตั้งโยกย้ายที่ทำให้ไม่สามารถตอบรับกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานในระยะยาวได้เลย แม้ว่ากลไกจังหวัดจะได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ แต่พอจะเคลื่อนงานคนซึ่งนั่งเป็นหัวจำนวนมากย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น ท้องถิ่นก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่” ผศ.ดร. วสันต์ กล่าว

ที่สำคัญคือการบริหารส่วนท้องถิ่น เมื่อมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีงบประมาณ มีอำนาจเป็นของตัวเอง ทำหน้าที่เป็นกลไกที่มองปัญหาและความต้องการของพื้นที่ได้จริง เช่นในเรื่องการจัดการศึกษามีการรับโอนโรงเรียนจากกระทรวงศึกษามาอยู่ในสังกัดท้องถิ่น มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่น แต่ก็พบปัญหาเพราะว่าการขยายตัวของท้องถิ่นไม่ได้เกิดการพร้อมกับการหดตัวของส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค

“ไม่ว่าโรงเรียนนั้นจะสังกัดหน่วยงานไหน แต่เมื่อตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ลูกหลานเขาเรียน เขาก็อยากทำให้มันดีขึ้น ท้องถิ่นอาจจะจัดระบบติวเตอร์ มีรถรับส่งมาให้ แต่สุดท้ายก็จะเจอปัญหาเรื่องของการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ท้องถิ่นทำไม่ได้เพราะเกินกว่าอำนาจหน้าที่ เวลาท้องถิ่นจะทำอะไรเองจึงต้องระวังเป็นอย่างมาก” ผศ.ดร. วสันต์ กล่าว

ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยอาศัยกลไกในพื้นที่ ถ้าจะทำให้เกิดขึ้นจริง จำเป็นต้องมีเอกภาพ ที่เกิดจากยุทธศาสตร์ที่มองพื้นที่เป็นตัวตั้ง และมีกลไกประสานสอดคล้องกัน ปรับระบบงบประมาณให้กลไกส่วนราชการทำงานร่วมกันได้ โดยกระดุมเม็ดแรกคือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่และแก้ปัญหาร่วมกัน 
“ต้องก้าวข้ามการแตกกระจายของตัวแสดงที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและหันหน้าเข้าหากัน โดยเฉพาะกลไกของรัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชนทั้งในและนอกพื้นที่ ภาคประชาสังคม ชุมชนและพลเมืองในท้องถิ่น แสวงหาทางออกร่วมกันและบูรณาการทรัพยากรร่วมกัน และแก้อย่างจริงจัง เสมือนว่าเราทำงานภายใต้องค์กรเดียวกัน” ผศ.ดร.วสันต์ กล่าว