กสศ. ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ระยอง-สุราษฎร์ธานี ปั้นต้นแบบ ‘สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย’ และ ‘สมัชชาการศึกษาจังหวัด’

กสศ. ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ระยอง-สุราษฎร์ธานี ปั้นต้นแบบ ‘สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย’ และ ‘สมัชชาการศึกษาจังหวัด’

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จังหวัดระยอง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ #EP 3 ‘กลไกระดับพื้นที่ …กับการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา’ โดยมีเครือข่ายคณะทำงาน 12 จังหวัดต้นแบบ ร่วมรับฟังกระบวนการทำงานและผลลัพธ์จากการดำเนินงาน ‘โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ พื้นที่จังหวัดระยองและจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมร่วมองค์กรภาคีเครือข่าย และแลกเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงานการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่เพื่อยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันลงพื้นที่เรียนรู้ดูงาน ‘กลไกระดับตำบลกับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดระยอง’ เพื่อรับฟังมุมมองการทำงานเชิงพื้นที่จากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง สถานศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาคเอกชนต่าง ๆ ในจังหวัดระยองที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนงาน 

ปิดท้ายด้วยกิจกรรม ‘พื้นที่ชวนคิด: บ้านเขาบ้านเรา’ โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานระหว่าง 12 จังหวัด เพื่อสังเคราะห์จุดแข็งและถอดบทเรียนความสำเร็จในการทำงานของพื้นที่จังหวัดระยองและจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมเปรียบเทียบทุนภายในของแต่ละจังหวัด ก่อนนำไปสู่การปรับใช้และพัฒนากลไกทำงานที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ 

นายกำธร เวหน ปลัดจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองมีความยินดีที่ได้เป็นพื้นที่ทำงานในโครงการสำคัญนี้ ซึ่ง กสศ. มีบทบาทในการรวบรวมเอาหน่วยงานระดับหัวกะทิของประเทศไทยมาร่วมระดมความคิดและทรัพยากร เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาและพัฒนาตนเองในระดับที่สูงขึ้น โดยจังหวัดระยองเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาหลายด้าน ด้วยทรัพยากรภายในและสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทั้งพื้นที่ภูเขา แม่น้ำ ทะเล เกาะแก่ง สวนผลไม้ รวมถึงมีเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจะมีสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาในจังหวัดชลบุรีเตรียมเปิดใช้งานในอนาคตอันใกล้ ระยองจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจทั้งคนไทยและต่างประเทศ 

“ดังนั้นถือเป็นโจทย์ท้าทายที่จังหวัดระยองต้องมีการเตรียมการให้เด็กและเยาวชน คนในพื้นที่ รวมถึงภาคเอกชนและแรงงานภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีแนวคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการพัฒนาจังหวัดระยอง เพื่อเป็นพื้นที่ที่พร้อมรองรับความเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน”

นายกำธร เวหน ปลัดจังหวัดระยอง

สำหรับการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ #EP 3 ‘กลไกระดับพื้นที่ …กับการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา’ ครั้งนี้ สืบเนื่องจาก กสศ. ในฐานะองค์กรเชื่อมประสานหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องมากว่า 5 ปี ร่วมกับองค์กรหลักคือองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง โดยมีจุดมุ่งหมายให้เด็กและเยาวชนในจังหวัด และประชากรวัยแรงงานในพื้นที่ได้รับการพัฒนาทางด้านการศึกษา เป็นการวางรากฐานทรัพยากรมนุษย์ให้เข้มแข็ง เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ 

“ในนามตัวแทนพี่น้องประชาชนจังหวัดระยอง ขอขอบคุณ กสศ. และภาคีเครือข่ายคณะทำงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้ง 11 จังหวัด ที่เห็นความสำคัญของจังหวัดระยอง และพร้อมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งกับจังหวัดระยอง รวมถึงสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”

รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อนุกรรมการจัดการศึกษา
เชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ.

รองศาสตราจารย์ ดร.ซุกรี หะยีสาแม อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวถึงกลไกจังหวัดกับแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ว่า การลงพื้นที่เยี่ยมชมการทำงานในพื้นที่ต้นแบบทำให้ได้เห็นภาพของความมุ่งมั่นแก้ปัญหาด้านการศึกษา หากมองเฉพาะตัวเลขสถิติในพื้นที่จังหวัดระยอง จะเห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีระดับรายได้ต่อประชากรสูงอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นฐานของภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันข้อมูลอีกด้านหนึ่งกลับพบว่า มีเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่หลุดจากระบบการศึกษา ข้อมูลนี้น่าสนใจว่าแม้ในพื้นที่จะมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่การกระจายความเสมอภาคทางการศึกษาก็ยังคงไม่อาจดำเนินได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งเมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลง แต่กลับรุนแรงและมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามความเลื่อนไหลทางสังคมที่ซับซ้อน

“หนึ่งในลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นกับจังหวัดเศรษฐกิจเช่นระยอง คือแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกลุ่มที่เรียกว่า NEETs (Not in Education, Employment or Training) หมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม ซึ่ง กสศ. พยายามผลักดันให้การจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นหนึ่งในภารกิจระดับพื้นที่ โดยให้แต่ละจังหวัดเป็นเวทีหรือสนามทำงานบนฐานความคิดที่ว่า คนในพื้นที่ย่อมเข้าใจปัญหาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่มากที่สุด และสามารถเป็นผู้แก้ปัญหาได้ตรงตามบริบทที่สุดด้วยการออกแบบวิธีการของตนเอง ซึ่งจะมีผลสัมฤทธิ์มากกว่าการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางเพียงฝ่ายเดียว

“หลักการของโครงการคือทำให้เด็กและเยาวชนในกลุ่มที่ขาดแคลนโอกาส 15 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศ เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตและเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองคุณภาพ ซึ่งหลังจากการทำงานโครงการผ่าน 12 จังหวัดต้นแบบมาตั้งแต่ปี 2562 เราพบว่าการทำงานเชิงพื้นที่โดยสร้างเครือข่ายจากภายในทำให้เกิดแนวทางใหม่ ๆ เป็นทั้งการเปิดโลกทัศน์ ก่อร่างทัศนคติของการทำงานร่วมกัน เป็นภาพของการร่วมงานแบบ 360 องศา ที่มีหน่วยงานและภาคประชาชนทุกกลุ่มก้อน ไม่ว่ารัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา เป็นแกนขับเคลื่อนงาน ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เพื่อค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา มีกลไกส่งต่อเป็นลำดับตามความชำนาญของแต่ละหน่วยงาน จนสามารถประคองน้อง ๆ เหล่านี้ให้กลับสู่ระบบและไปต่อบนเส้นทางการศึกษาได้ โดยไม่ยึดติดเพียงวิธีการใดหนึ่งเพียงวิธีเดียว” 

รศ.ดร.ซุกรี กล่าวอีกว่า เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ #EP 3 ครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่เครือข่ายคณะทำงานทุกภาคส่วน จะมาร่วมกันรับฟังการทำงานของจังหวัดระยองและสุราษฎร์ธานีที่มีรูปแบบน่าสนใจแตกต่างกัน โดยผลของการพบกันในวันนี้จะทำให้เกิดการแตกแขนงของการสร้างและพัฒนากลไกทำงานที่มีคุณภาพ บนความเหมาะสมตามแต่ทรัพยากรและลักษณะเฉพาะของแต่ละจังหวัด

“ผลการทำงานที่เด่นชัดที่สุดของระยองและสุราษฎร์ธานี คือการช่วยกันภายในเครือข่ายเพื่อเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนของแต่ละหน่วยงาน โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายร่วมกัน และใช้วิธีการสื่อสารพูดคุยที่ไม่เป็นทางการเข้ามาเป็นแนวทางหลัก จนเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ลงลึก ประณีต เป็นการมองเด็กคนหนึ่งเป็นหนึ่งชีวิต เป็นหนึ่งรูปแบบปัญหา และจากนั้นจึงร่วมกันหาแนวทางเฉพาะ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเสมอภาค” 

อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการทำงานระดับพื้นที่ คือ 1. ระบบข้อมูลที่แม่นยำทันสมัย เป็นข้อมูลเฉพาะที่ชัดเจนเป็นรายคน 2. การเชื่อมโยง ‘ทุน’ ในพื้นที่ ทั้งสถานที่ บุคลากร หน่วยงาน ฯลฯ จนเกิดเป็นระบบนิเวศครอบคลุมการทำงานในทุกมิติ 3. สร้างกลไกที่มีความหลากหลายด้านศักยภาพการทำงาน และมีเป้าหมายงานอยู่ที่เด็กและเยาวชนเป็นตัวตั้ง 4. ความยืดหยุ่นหรือความสามารถในการปรับตัว ไม่ยึดติดกับลักษณะที่เป็นทางการทั้งหมด แต่สามารถผสานทั้งการปฏิบัติตาม ‘กฎเกณฑ์’ และการใช้ ‘หัวใจ’ ทำงานเข้าไว้ด้วยกัน และ 5. ความสามารถของคณะทำงานที่จะทำให้แผนงานที่วางไว้เกิดเป็นรูปธรรมได้จริง 

นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง ประธานอนุกรรมการ
ด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการติดตามประเมินผล
รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง

นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง ประธานอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการติดตามประเมินผล รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง กล่าวว่า ระยองเป็นเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และรับผลจากความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายมาตลอด คำถามคือเมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามาครอบทับหรือปะทะเข้ากับต้นทุนเดิมที่จังหวัดระยองมีอยู่ ทำให้เกิดความท้าทายในการวางแนวทางพัฒนาเมืองที่เหมาะสม ว่าทำอย่างไรคนระยองถึงจะสามารถรับสิ่งใหม่ รักษาสิ่งเดิม เพื่อเติบโตเป็นเมืองทันสมัยและน่าอยู่ 

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า คนระยองตระหนักว่าไม่มีใครเข้าใจบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่ได้ดีเท่ากับคนในพื้นที่เอง และมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การศึกษาจะเป็นพื้นฐานของการสร้างเมืองในอนาคต ทุกภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดจึงหารือร่วมกันเพื่อกำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และวางแผนจัดการศึกษาในจังหวัดของตนเอง

เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน จังหวัดระยองจึงจัดตั้ง ‘สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง’ หรือ ‘RILA: RAYONG INCLUSIVE LEARNING ACADEMY’ ขึ้น โดยมี อบจ.ระยอง และมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาจังหวัดระยอง เป็นองค์กรหลักสนับสนุนการดำเนินงาน โดยบทบาทหลักของ RILA คือรวบรวมองค์ความรู้ งานวิจัย และเชื่อมประสานกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อสานพลังจัดการศึกษาสำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย และสร้างกลไกทำงานลงไปสู่ระดับตำบล

“เราเชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่มีคนให้ความสนใจ มีคนกำลังขับเคลื่อน และมีคนที่มีใจอยากเข้ามาทำงานร่วมกันเป็นจำนวนมาก ประเด็นสำคัญคือเมื่อมองลงไปในระดับพื้นที่ คนเหล่านี้กลับหากันไม่เจอ จึงไม่เกิดการกำหนดแผนหรือแนวทางร่วมกัน ฉะนั้นงานแรกที่ต้องทำเกี่ยวกับการศึกษาเชิงพื้นที่หรือการศึกษาจังหวัด คือ ‘ทำแผนร่วม’ เพื่อให้ทุกคนเห็นทิศทาง และสร้างกลไกที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน แล้วจึงไปต่อที่การแสวงหาคนที่มีความคิดแบบเดียวกัน คนที่มีความรู้ มีทรัพยากร และมีความเชื่อเดียวกันจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ มาร่วมกำหนดยุทธศาสตร์”

ทั้งนี้ จังหวัดระยองได้มีมติร่วมกันเรื่อง ‘การจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย’ โดยยึดหลักเท่าเทียม ทั่วถึง สมดุล เท่าทัน เพื่อให้ระยองเป็นเมืองทันสมัยน่าอยู่โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และไปสู่การเป็นต้นแบบการทำงานพัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชาติ

“จุดเริ่มต้นการทำงานเชิงพื้นที่จังหวัดระยอง เราทำงานผ่านคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. โดยผลักดันขอบเขตการทำงานด้านการศึกษาเพื่อให้เกิด ‘การศึกษาตลอดชีวิต’ และสร้างแนวคิดร่วมกันทุกหน่วยงานโดยมี อบจ.ระยอง เป็นแกนกลาง เมื่อมีแผนงานชัดเจน ทุกฝ่ายจึงเดินหน้าพร้อมกันอย่างมีระบบ มีพันธกิจชัดเจน มีการตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ มีการกระจายอำนาจที่ยึดหลักว่าต้องมีองค์ความรู้เพียงพอ 

“นี่คือเหตุผลที่ระยองต้องมีสถาบัน RILA เป็นสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาเมือง เพราะนอกจากเรื่องการศึกษาแล้ว การกำหนดทิศทางสำหรับเมืองที่มีพลวัตสูงเช่นจังหวัดระยอง เราต้องมีทั้งกระบวนการและองค์ความรู้ที่หลากหลาย มีการนำไปใช้และถอดบทเรียนต่อเนื่อง และในท้ายที่สุดการจะทำงานให้สำเร็จได้ ไม่ใช่แค่มีแผนงาน มีบุคลากร หรือมีต้นทุนเท่านั้น แต่ยังต้องมีการประสานงานที่ดีเพื่อเชื่อมร้อยงานในทุกระดับ ซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งของสถาบัน RILA ส่วนการรวบรวมต้นทุนภายในจังหวัด ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาจังหวัดระยองเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อดูแลคนทุกช่วงวัยได้อย่างต่อเนื่อง”

ดร.สมพร เพชรสงค์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน
โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร.สมพร เพชรสงค์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเกิดจากระดมความคิดของผู้สนใจการศึกษากลุ่มหนึ่ง ที่ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการจัดการศึกษาตามความคาดหวัง จนเกิดการรวบรวมเพื่อนสมาชิกเข้ามาเพิ่มเติม และในที่สุดวิสัยทัศน์ร่วมในวันนั้นจึงได้สร้างแรงกระเพื่อมไปถึง 26 หน่วยงาน และมีคณะทำงานภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกันจัดตั้ง ‘สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี’ ขึ้น เพื่อสนับสนุนการทำงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 

คณะทำงานจะแบ่งออกเป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลุ่มย่อย 6 ชุด ตามภารกิจที่ครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ ข้อมูลสารสนเทศ การพัฒนาทักษะอาชีพ การยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การพัฒนาครูเพื่อดูแลเด็กนอกระบบ กองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างพื้นที่แห่งฝัน และการพัฒนาเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยประธานอนุกรรมการแต่ละชุด จะร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อน และมีสำนักการศึกษาจังหวัดทำหน้าที่เป็นเลขานุการ 

“อนุกรรมการทั้ง 6 ชุด ประกอบไปด้วยหน่วยงานราชการและภาคเอกชน เชื่อมต่อกับแผนพัฒนาจังหวัด มีทีมแกนนำลงไปพบกับนายอำเภอทุกอำเภอ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ลงลึกถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือสมัชชาที่รวมคนทำงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน โดยทุกฝ่ายใช้ ‘สถานการณ์’ เป็นตัวตั้ง แล้วดูว่าแต่ละฝ่ายมีทรัพยากรต้นทุนใดที่จะนำมาแลกเปลี่ยนและส่งต่อกันได้ เราพบว่ากระบวนการที่ไม่เป็นทางการหรือการพบปะกันนอกรอบ กลับราบรื่นและให้ผลที่ดีกว่าการทำงานตามวาระที่กำหนดตายตัว ขณะเดียวกันการหารือกันในพื้นที่เล็ก ๆ ยังทำให้เกิดการกระจายการทำงานไปยังจุดที่มีช่องว่าง ซึ่งยังไม่มีใครทำ หรือทำแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ

“เป้าหมายใหญ่ในทำงานของจังหวัดสุราษฎร์ธานีคือ ทำให้เกิดรูปแบบ ‘One Stop Service’ หมายถึงงานต้องได้รับการจัดการให้จบในแต่ละชุดภารกิจที่ทำ โดยถือหลักไว้วางใจ เชื่อใจ และรับผิดชอบร่วมกัน รวมถึงเรื่องการเบิกจ่ายต่าง ๆ ทำให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว คล่องตัว และต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ 

“กลไกที่เป็นจุดเด่นของเราคือ การใช้ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) และ กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) เป็นหลักในการค้นหากลุ่มเป้าหมาย และวางแนวทางการช่วยเหลือตามลักษณะปัญหา เนื่องจากมีความเข้าใจพื้นที่และมีความใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมี พมจ. อบจ. และหน่วยงานอื่น ๆ คอยรับช่วง จนเป็นภาพตัวอย่างของเครือข่ายในพื้นที่ที่ทำงานต่างกัน แต่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน และมองทิศทางการทำงานไปทางเดียวกัน”

ดร.สมพร กล่าวว่า อีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และถือเป็นหัวใจของการทำงาน Area Based Education (ABE) ใน 12 จังหวัดต้นแบบ คือการสานพลังของแต่ละภาคส่วนที่ล้วนเข้าร่วมด้วยหัวใจและจุดมุ่งหมายเดียวกัน ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงระดับตำบล โดยเป้าหมายที่ชัดเจนและคณะทำงานที่เข้ามาร่วมงานด้วยพลังใจเป็นที่ตั้ง ทำให้เกิดโครงสร้างกลไกการทำงานที่ยั่งยืนและหลากหลาย สามารถตอบโจทย์ความต่างของพื้นที่ ตอบโจทย์เรื่องคนทำงานที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะคงอยู่ต่อไปตลอดการทำงานคือ การช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อพัฒนาคนและสร้างสรรค์สังคมแห่งความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่