มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีลงพื้นที่ จ.ตาก มอบรางวัลครูขวัญศิษย์ปี 2566
และสร้างเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นักขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษาในพื้นที่

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีลงพื้นที่ จ.ตาก มอบรางวัลครูขวัญศิษย์ปี 2566

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ลงพื้นที่ จ.ตาก มอบรางวัลครูขวัญศิษย์ปี 2566 ให้แก่ ครูอมรฤทธิ์ คำบู้ ในฐานะครูผู้รังสรรค์ผลงานที่แสดงความรู้ คุณธรรม ความสามารถประจักษ์ชัด สอนศิษย์ด้วยจิตเปี่ยมเมตตา นำทางชีวิตสร้างสรรค์คุณค่าสู่งสังคม และจัดประชุมพูดคุยกับ ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง บ้านมอโก้คี จ.ตาก ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2566 ที่เชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อการศึกษาไทย โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เพื่อสร้างเครือข่ายครู จ.ตาก ร่วมกันออกแบบกลไกดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนและประชาชนให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการในพื้นที่

(ซ้าย) ครูอมรฤทธิ์ คำบู้ ผู้ได้รับคัดเลือกรางวัลครูขวัญศิษย์ปี 2566

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ทั้งครูผู้ได้รับรางวัลและครูเครือข่ายของ จ.ตาก ถือเป็นผู้มีคุณูปการอย่างสูงต่อการศึกษาของไทยที่เสียสละทำงานในพื้นที่ ทางมูลนิธิฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้ทำงานกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของจังหวัดทั้ง 5 ท่าน และครูเครือข่ายอีกประมาณ 20 ท่าน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัด

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า การทำงานของครูเครือข่ายในพื้นที่ จ.ตาก เป็นพื้นที่โมเดลการทำงานที่มีรูปแบบเฉพาะตัว เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดน 

จำเป็นต้องมีโมเดลการศึกษาที่คำนึงถึงเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเมื่อมีปัญหาด้านความขัดแย้งของกลุ่มต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง ก็จะทำให้การแก้ปัญหาของเด็กในภูมิภาคนี้มีโจทย์ที่ท้าทายและอาจจะส่งผลให้ทำงานได้ยากขึ้น จึงจำเป็นต้องคิดวิธีการทำงานที่ครอบคลุมปัญหาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิ ฯ

“โจทย์สำคัญที่อยากจะฝากให้คุณครูทุกท่านช่วยกันคิดหาวิธีดูแล ก็คือทำอย่างไร ที่จะดูแลนักเรียนให้ผ่านไปถึงมัธยมปลายให้ได้ เพราะหากนักเรียนกลุ่มนี้ไปต่อได้ มีโอกาสได้เรียนสายอาชีพ ตามความสนใจและความถนัด และสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน พวกเขาก็จะมีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงาน และกลับมาดูแลและสร้างรายได้กลับมาสู่ชุมชน

“ทั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องช่วยกันดูนักเรียนแต่ละช่วงรอยต่อ โดยเฉพาะช่วงจบ ม. 3 ที่จำเป็นต้องช่วยกันดูว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยเด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบในช่วงรอยต่อนี้ ให้มีโอกาสได้เรียนต่อโดยเฉพาะในสายอาชีพ หากเรียนต่อในระบบไม่ได้ก็อาจจะต้องหาวิธีฝึกอาชีพให้กับพวกเขา ซึ่งอาชีพก็มีหลากหลายมาก แต่ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงอาชีพที่เหมาะสมกับโลกสมัยใหม่ และเมื่อเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสได้ออกไปทำงาน ก็จะมีโอกาสนำรายได้กลับมาสู่ครอบครัวได้”

ดร.จักรพรรดิ วะทา กรรมการมูลนิธิ ฯ

ดร.จักรพรรดิ วะทา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อรับทราบการทำงานของครูผู้ได้รับรางวัล เป็นสิ่งที่คณะทำงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามแนวคิดหลักของการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของประเทศไทย คือ ภารกิจการตามหาครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดขึ้นกับชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณูปการต่อการศึกษา เป็นครูซึ่งสังคมไทยให้การยอมรับและยกย่องร่วมกันว่าเป็นผู้เสียสละ ทุ่มเทให้แก่การทำงานเพื่อลูกศิษย์ตลอดชีวิตการทำงาน รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิตความเป็นครู และทำให้ค้นพบครูดีทั่วประเทศแล้วมากกว่า 800 คน

“หวังอย่างยิ่งว่า ครูผู้ได้รับรางวัลและครูเครือข่ายที่ถูกค้นพบในช่วงที่ผ่านมา จะกลายเป็นกำลังสำคัญทางหนึ่งในการช่วยพัฒนาครูทั่วประเทศ โดยหากมองถึงหลักคิดที่ว่า เด็กเป็นอนาคตของชาติ ครูและผู้ใหญ่ทั้งหลายทั่วประเทศ ก็น่าจะถือเป็นอนาคตของเด็ก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรให้ครูเป็นอนาคตของเด็กอย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งที่มูลนิธิฯ ทำได้ ก็คือการคัดเลือกครูดีครูเก่งขึ้นมาเป็นต้นแบบให้ครูทั่วประเทศได้เดินตาม เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีครูเก่งและครูดีหลายท่านที่เสียสละมาทำงานในพื้นที่ยากลำบาก ต้องใช้ความอดทนในการทำงานและเดินทาง จึงต้องชื่นชมและขอขอบคุณคุณครูเหล่านี้ ที่ช่วยกันสร้างเด็ก สร้างอนาคตของเด็ก และหวังว่ามูลนิธิฯ จะสามารถช่วยเหลือด้านการทำงาน ของคุณครูทั้งหลายให้สำเร็จลุล่วงยิ่งขึ้น” กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าว

ครูอมรฤทธิ์ คำบู้ ครูขวัญศิษย์ ประจำปี 2566 กล่าวว่า โรงเรียนที่รับผิดชอบดูแลการเรียนการสอนอยู่ เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เด็กที่มาเรียนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางมักจะมีมิติปัญหาหลายด้านประกอบกัน ทั้งเรื่องรายได้ของครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียน ปัญหาครอบครัวแหว่งกลางต้องอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก และมีปัญหาด้านการเรียนรู้ จึงถือเป็นกลุ่มที่ต้องการความดูแลและเอาใจใส่เป็นพิเศษ

“สิ่งที่พยายามช่วยเด็กกลุ่มนี้ก็คือ การออกแบบโครงการ ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะชีวิต ที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนในชั้นเรียน นำเรื่องพหุปัญญามาใช้ในชั้นเรียน มาจัดการเรียนรู้ที่มีกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ตอบสนองความแตกต่างของนักเรียน ออกแบบการจัดการเรียนรู้มีลักษณะเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการอย่างสอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ ฝึกให้นักเรียนใช้วิชาวิทยาศาสตร์ มองสิ่งที่ใกล้ตัวมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง พัฒนาความเป็นอยู่ และนำมาแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันให้พวกเขายืนด้วยลำแข้งของตัวเองให้ได้ สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ สอนให้รู้จักผลิตเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปใช้ในครัวเรือน นำไปประกอบอาหาร พยายามหาวิธีที่ช่วยให้เด็ก ๆ ดูแลตัวเองได้อย่างครบวงจร และฝึกหลักคิดให้เด็กรู้จักการวางแผนให้กับตัวเองในระยะยาว

“หากเราไม่ทิ้งเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ พยายามแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ให้พวกเขาได้ตรงจุด ในที่สุดก็จะพบความสามารถและความถนัดที่พวกเขามีอยู่ หลายคนมีโอกาสได้ค้นพบตัวเองในด้านที่ถนัด บางคนสามารถพัฒนาตัวเองจนได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ บางคนกลายเป็นกำลังหลัก พัฒนาทักษะตัวเองจนกลายเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ และเมื่อชุมชนเห็นความสำเร็จในเรื่องนี้ก็จะหันมาให้ความร่วมมือในการส่งเสริมให้เด็กเรียนหนังสือและพัฒนาตัวเอง”

นิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2566

ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2566 กล่าวว่า ในพื้นที่เคยมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาด้านการสื่อสาร ซึ่งเป็นปัญหาของชุมชน ซึ่งเมื่อพิสูจน์ให้คนในชุมชนเห็นว่า ปัญหาที่มีอยู่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้การเรียนรู้และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น มาสร้างความเปลี่ยนแปลง

“ผมต้องพิสูจน์ให้คนในพื้นที่เห็นว่า การจัดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตอย่างต่อเนื่องให้กับคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นสถานที่ที่ไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทุกคนในชุมชนสำหรับจัดกิจกรรมเรียนรู้ กิจกรรมสร้างทักษะด้านต่าง ๆ สำหรับคนในชุมชน ที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ได้จริง

“การสร้างทักษะชีวิตที่ดีเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อคนทุกกลุ่มมองเห็นตรงกันว่าความรู้และการศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดีขึ้นได้จริง สามารถแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ ก็จะเริ่มมีศรัทธาด้านการเรียนมากขึ้น เมื่อก่อนคนในชุมชน อ่านหนังสือไม่ออกและเขียนหนังสือไม่ได้ ประสบปัญหาด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะเวลาที่ต้องมาติดต่อราชการ การพยายามเรียนจนอ่านออกเขียนได้ หลายคนเปลี่ยนตัวเองจากที่อ่านไม่ออกเลย ให้สามารถอ่านข้อความสำคัญที่จำเป็นได้ เช่น อ่านฉลากยา

“นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาด้านการสื่อสารได้แล้ว พวกเขายังใช้ความสามารถพื้นฐานนี้ต่อยอดไปสู่สิ่งอื่น ๆ เช่นการเรียนในทักษะที่ซับซ้อนขึ้นจากโทรทัศน์เพื่อการสื่อสารของศูนย์การเรียน เด็กรุ่นใหม่สามารถใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนเช่นเรื่องการขายสินค้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อทุกคนเห็นว่าการเรียนเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้จริง ก็จะส่งผลให้คนในชุมชนเชื่อมั่นในเรื่องของการเรียน และส่งลูกมาเรียนหนังสือมากขึ้น”