สลายปมคำว่า “การศึกษาในระบบ – นอกระบบ” เพื่อความยืดหยุ่นและไร้รอยต่อ ข้ามขอบการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกที่
อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

สลายปมคำว่า “การศึกษาในระบบ – นอกระบบ” เพื่อความยืดหยุ่นและไร้รอยต่อ ข้ามขอบการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกที่

ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเส้นทางสู่ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ” วันที่ 26 เม.ย. 2567 อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคีเครือข่ายซึ่งกำลังผลักดันโครงการห้องเรียนข้ามขอบร่วมกับ กสศ. เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและไร้รอยต่อ แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ ได้นำเสนอแนวคิดและวิธีการทำงานที่เป็นไปได้

อาจารย์อธิษฐาน์ กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการศึกษาที่ยืดหยุ่นและไร้รอยต่อ (Seamless Education) อ้างอิงจากการทำโมเดลค้นหายุทธศาสตร์พัฒนานโยบายชาติ ภายใต้ความร่วมมือของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ว่ามีมิติหรือประเด็นใดบ้างที่จะช่วยขับเคลื่อนทิศทางทำงานด้านการการศึกษาของประเทศผ่านงานวิจัย ทั้งนี้พบว่าในเรื่อง ‘การศึกษาไร้รอยต่อ’ ยังมีช่องว่างมากมายที่เด็กเยาวชนและผู้ทำงานด้านการศึกษาต้องก้าวข้าม เป็นชั้นกำแพงซึ่งยังขัดขวางไม่ให้เด็กเยาวชนกลุ่มหนึ่งเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้

มิติแรกของรอยต่อทางการศึกษา คือ ‘คำจำกัดความ’ ที่จำแนกเด็กเยาวชนในโรงเรียนกับเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนออกจากกัน ด้วยคำว่า ‘เด็กในระบบ’ กับ ‘เด็กนอกระบบ’ โดยแม้จะเป็นขั้นตอนหนึ่งของการจัดกลุ่ม (Group) เพื่อสะดวกต่อความเข้าใจ แต่อย่างไรก็ตาม คำที่มีความหมายถึงการแบ่งแยกนี้มีผลต่อความรู้สึกในเรื่องความเป็น ‘คนนอก’ หรือเป็น ‘ผู้ด้อยโอกาส’ ซึ่งส่งผลต่อการลดทอนคุณค่าในตนเอง ดังนั้นหากการจัดการศึกษาสามารถ ‘เลือนความหมายของความเป็น ใน-นอก ให้หมดไป’ เปิดมุมมองทะลุรั้วกำแพงโรงเรียน แล้วเชื่อมเด็กสองกลุ่มเข้าด้วยกัน จะทำให้เด็กในโรงเรียนมีสิทธิที่จะออกไปเรียนจากแหล่งเรียนรู้ข้างนอกได้ และกลับกัน เด็กนอกโรงเรียนเองก็มีสิทธิเข้าถึงการเรียนรู้ในพื้นที่โรงเรียนได้เช่นกัน 

“ถ้าเราทำให้ผู้เรียนเคลื่อนย้ายไปมาได้ อย่างที่หลายโรงเรียนต้นแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ทำให้เห็นแล้วว่าเด็กบางคนที่เหมือนว่าเขาจะหลุดจากระบบไปแล้ว แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้ได้กลับเข้ามาเรียนรู้ที่โรงเรียนในบางวันที่สะดวก ก็จะช่วยให้เด็กมีทางเลือกและมีเส้นทางไปต่อได้ดียิ่งขึ้น แล้วเมื่อนั้นเอง ทุกพื้นที่จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ เกิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ใชุมชน และจะเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ในอนาคต”

อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต่อมาคือการผลักดันแนวคิดเรื่อง ‘ระบบธนาคารเครดิต’ (Cradit Bank) และ ‘การรับรองประสบการณ์’ ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายโอนหน่วยกิตหรือเทียบวุฒิการศึกษา และเป็นบันไดที่จะทำให้เด็กทุกกลุ่มไปต่อได้ กับอีกรอยต่อหนึ่งคือคือการแบ่งพื้นที่ระหว่าง ‘ชายขอบ’ กับ ‘ศูนย์กลาง’ อันเป็นมิติเชิงสังคมที่เปรียบเทียบถึงความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะความต่างเรื่องคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์กับเด็กในเมือง ที่มีมาตรฐานการมองเรื่องความสามารถเพียงลู่เดียว โดยหากจะสลายความเป็นชายขอบ-ศูนย์กลาง และทำให้เด็กทุกคนรู้สึกมีคุณค่าในพื้นที่และบริบทที่ตนยืนอยู่ สิ่งที่ต้องทำคือการปรับมุมมองและทำความเข้าใจ ว่าในทุกอัตลักษณ์มีความซับซ้อน หมายถึงในคนหนึ่งหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง จะมีทั้งมุมที่เป็นชายขอบและศูนย์กลางไปพร้อมกันได้ ฉะนั้นโรงเรียนหนึ่งอาจมีความเป็นสังคม ‘พหุวัฒนธรรม’ ที่เด็กสื่อสารกันได้มากกว่าหนึ่งภาษา ความเข้าใจเรื่องนี้จะนำไปสู่ความเท่าเทียมของบริบททางสังคมวัฒนธรรมมากขึ้น และช่วยให้รอยต่อทางพื้นที่และสังคมหายไปได้    

ในด้านการเรียนรู้ โจทย์ใหญ่อย่างหนึ่งคือ ‘รอยต่อของสาขาวิชา’ ถ้ามองโครงสร้างการเรียนรู้ปัจจุบัน จะเห็นว่ายังถูกแบ่งเป็นล็อกเป็นกล่อง คือทุกวิชาเรียนแยกกันหมด ทีนี้ถ้ามีการเชื่อมสหวิชาเข้าด้วยกัน โดยมองว่าในมิติชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่ต้องเจอหลากโจทย์หลายสถานการณ์ การบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยเรื่องการนำความรู้ที่เรียนไปใช้จริงได้มากกว่า ดังนั้นหากการจัดการเรียนรู้ทำให้รอยต่อของสาขาวิชาลดลงหรือหายไปได้ เด็กหนึ่งคนจะได้รับการเติมเต็มและเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม รวมถึงได้เรียนในสิ่งที่ตนสนใจและมีทักษะการเปิดรับความแตกต่างหลากหลายได้ดียิ่งขึ้น

“พื้นที่ของการบูรณาการต้องอาศัยการปลดล็อกตั้งแต่ mindset ว่าการเรียนให้ลึกไม่จำเป็นต้องเรียนเฉพาะเป็นรายวิชาเท่านั้น แต่สามารถเรียนทั้งในเชิงกว้างและลึกไปพร้อมกัน โดยอาจปรับโครงสร้างการสอนที่เคยจัดเป็นรายวิชา ให้หนึ่งวันของการเรียนรู้นั้นเชื่อมโยงด้วยหลายศาสตร์ ถ้าทำได้ จะเกิดการเรียนรู้ที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต สร้างความสุขและความหมายได้อย่างแท้จริง”

อาจารย์อธิษฐาน์ กล่าวว่า อีกความท้าทายหนึ่งคือรอยต่อของ ‘ผู้เล่นในภาคการศึกษา’ เนื่องจากมีหน่วยงานจำนวนมากมาทำงานในภาระงานที่อาจทับซ้อนกันอยู่ จึงกลายเป็นว่ามีกรอบเกณฑ์ ระเบียบ เป้าหมาย และนโยบายที่มากและแตกต่างกัน ในโจทย์งานที่ทับถมเกี่ยวพันกันนี้ หลายครั้งมีความขัดแย้งในเนื้อหา ไม่สอดคล้องในกระบวนการ และสร้างความสับสนให้กับคณะทำงาน ฉะนั้นถ้าสามารถประสานการทำงานอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยในทางเดียวกันทั้งหมด (agree) เพียงแต่ค้นหาส่วนที่เป็นเป้าร่วมกันให้พบ และสามารถแบ่งหน้าที่เพื่อทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น (align) ด้วยความเชื่อมั่นเชื่อใจ เชื่อในการกระจายอำนาจ มีพื้นที่รับฟังความคิดเห็น พร้อมมีฝ่ายที่ทำหน้าที่ ‘กาวใจ’ ช่วยสมานทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน รอยต่อที่เป็นอุปสรรคก็อาจมลายไป แล้วการทำงานการศึกษาเพื่อบุกเบิกขับเคลื่อนสิ่งใหม่ ๆ ก็จะเป็นไปได้ และสร้างความสุขความสำเร็จแก่คณะผู้ทำงานทุกฝ่ายได้มากขึ้น