“เปิดเส้นทางชีวิตใหม่” กสศ. ร่วมกับเรือนจำกลางอุดรธานีและเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างโอกาสทางสังคมระดับพื้นที่
มุ่งเป้ายุติวงจรกระทำผิดซ้ำ

“เปิดเส้นทางชีวิตใหม่” กสศ. ร่วมกับเรือนจำกลางอุดรธานีและเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างโอกาสทางสังคมระดับพื้นที่

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่เรือนจำชั่วคราวโคกก่อง จังหวัดอุดรธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับเรือนจำกลางอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ ‘เปิดเส้นทาง …ชีวิตใหม่ ความหวัง ความฝัน และโอกาสของคนหลังกำแพง’ ตามแนวคิดการพัฒนากลุ่มเป้าหมายผู้ต้องโทษในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกลับคืนสู่สังคม โดยมีหน่วยงานราชการระดับนโยบายและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่ ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ภาคประชาสังคม พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและคณะทำงาน กสศ. ร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถอดบทเรียน เพื่อสร้างแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต สำหรับประชากรทุกกลุ่ม

จุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งนี้ สืบเนื่องจาก โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ เพื่อพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ภายใต้การทำงานของ กสศ. และภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายทำงานกับเรือนจำกลางอุดรธานี โดยมีจำนวนผู้ต้องโทษราว 3,500 คน กว่า 90% เป็นชาวจังหวัดอุดรธานีที่ต้องโทษด้วยคดียาเสพติด ทั้งนี้หลังคณะทำงานวิเคราะห์สภาพปัญหา พบว่าผู้ต้องโทษกลุ่มนี้อยู่ในวัยแรงงาน มีพื้นเพครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ขาดที่พึ่งทางใจและไม่มีเป้าหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ทำให้มีแนวโน้มว่าเมื่อพ้นโทษไปแล้วอาจเสี่ยงต่อการกระทำความผิดซ้ำ ทางเรือนจำกลางอุดรธานีจึงมีแนวทาง ‘สร้างภูมิคุ้มกัน’ ทั้งกายใจ ทัศนคติ ความรู้ และทักษะการประกอบอาชีพ ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและช่วยเพิ่มโอกาสของในการนำความรู้และทักษะไปใช้ประกอบอาชีพ เพื่อกลับคืนสู่สังคมอย่างมีเป้าหมาย โดยมีโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพสำหรับผู้ต้องขัง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ โครงการฅ.คนกลับใจ วิถีอาชีพ เพื่ออนาคต โดยบริษัทอัตลักษณ์ จำกัด พร้อมด้วยกลุ่ม ‘คนหลังกำแพง’ ที่เข้าร่วมเรียนรู้จำนวน 165 คนนำร่อง

พ.อ.ปริวรรตน์ วิมลปรีชาพงศ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี กล่าวว่า จากที่ กสศ. ร่วมกับ มรภ.อุดรธานี ดำเนินโครงการฝึกอบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร และ บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ดำเนินโครงการ ฅ.คนกลับใจ วิถีอาชีพเพื่ออนาคต สำหรับผู้ต้องโทษในเรือนจำกลางอุดรธานีและเรือนจำชั่วคราวโคกก่อง ระหว่างช่วงเดือนกันยายน 2566 ถึงเดือนพฤษภาคม 2567 จนถึงวันนี้ ผู้ร่วมเรียนรู้สามารถพัฒนาระดับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม ถือเป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความเสมอภาค โดยตลอดการดำเนินกิจกรรมทางเรือนจำได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทำงาน ในฐานะผู้แทนของเรือนจำกลางอุดรธานีและเรือนจำชั่วคราวโคกก่อง จึงขอแสดงความขอบคุณไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสำหรับความตั้งใจในการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างโอกาสให้กับผู้ร่วมเรียนรู้ทุกคน และความสำเร็จจากงานครั้งนี้ จะเป็นการจุดประกายให้กับใครก็ตามที่พลาดพลั้งและขาดแคลนโอกาส ให้ได้กลับมามีความหวังความฝัน และพร้อมจะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพอีกครั้ง

พ.อ.ปริวรรตน์ วิมลปรีชาพงศ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี
ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้รับผิดชอบโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพสำหรับผู้ต้องขัง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างการเรียนรู้คือ ‘การปรับวิธีคิด’ ที่มีปลายทางคือสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติ เพื่อการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่หวนไปกระทำผิดซ้ำ โดยในบทบาทหน้าที่ของสถาบันการศึกษา เราไม่ได้มองว่าการยุติวงจรกระทำผิดซ้ำคือ ‘ภาระของผู้กระทำผิด’ เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน โดยละทิ้งความคิดที่ว่า ‘การกักขังคือการลงโทษ’ แต่กลับคือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้ผู้ต้องขังเริ่มดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติเช่นเดียวกับการอยู่ข้างนอก อีกหนึ่งหลักคิดคือการจะปลูกฝังการเรียนรู้ให้กับผู้ร่วมเรียนรู้กลุ่มนี้ จะต้องไม่มีรูปแบบหลักสูตรเพียงลู่เดียว เพราะแต่ละคนนั้นหลากหลายด้วยประสบการณ์ ปัญหา และพื้นฐานความรู้

“ตอนนี้งานของเรายังอยู่เพียงก้าวแรกเท่านั้น เพราะหลักฐานของความสำเร็จที่แท้จริง คือการติดตามว่าหลังจากนี้ผู้ร่วมเรียนรู้ที่ผ่านกระบวนการไปแล้ว จะกลับออกไปใช้องค์ความรู้และทักษะเพื่อประกอบอาชีพได้ยั่งยืนแค่ไหน จะเติบโตในเส้นทางชีวิตได้อย่างไร หรือยังมีเงื่อนไขใดที่คณะทำงานจะต้องช่วยกันดูแลหนุนเสริมให้แต่ละคนดูแลตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ตรงนี้เราจึงต้องเข้าใจความต้องการและบริบทของเขาเหล่านี้ แล้วนำมาออกแบบหลักสูตรหรือโปรแกรมเสริมให้สามารถเยียวยาจิตใจ สอดคล้องกับการใช้ชีวิต และพาให้หลีกพ้นความเสี่ยงกระทำผิดซ้ำ 

“ทั้งนี้นอกจากเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้ต้องโทษ ยังต้องมีออกแบบการสื่อสารและปรับวิธีคิดไปให้ถึงครอบครัวชุมชนของผู้ต้องโทษด้วย เหล่านี้คือภาพของการทำงานกับคนหลังกำแพง ที่สถาบันการศึกษาทำได้ อย่างไรก็ตามความมุ่งมั่นในการเดินไปสู่เส้นทางอาชีพและไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำจะเป็นไปได้ ต้องมีรากฐานมากจากการรู้จักศักยภาพและความใฝ่ฝันของตัวเอง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่คณะทำงานทุกฝ่ายยึดมั่นว่าจะพาผู้ร่วมเรียนรู้ทุกคนไปให้ถึง”

ปิ่นมนัส โคตรชา บริษัทอัตลักษณ์ จำกัด

ปิ่นมนัส โคตรชา บริษัทอัตลักษณ์ จำกัด ผู้รับผิดชอบโครงการ ฅ.คนกลับใจ วิถีอาชีพ เพื่ออนาคต กล่าวว่า หลังร่วมงานในหลายโครงการกับ กสศ. ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2566 บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด ได้มุ่งขับเคลื่อนงานต่อไปยังผู้ต้องโทษที่มีความพร้อมและเตรียมปล่อยตัวในเรือนจำกลางอุดรธานี 80 คน และผู้ต้องโทษเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว 20 คน จากเรือนจำชั่วคราวโคกก่อง โดยแนวคิดสำคัญคือทำงานแบบ ‘เข้าถึง เข้าใจ และร่วมเรียนรู้จากคนในสู่คนนอก’ และด้วยความเป็นบริษัทเอกชน บริษัทอัตลักษณ์จึงมองไปที่การชักชวนผู้ประกอบการภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม และคำนึงถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์เป็นฐานตั้งต้น กล่าวคือผลิตภัณฑ์ต้องมีรายได้และมีตลาด ด้วยกระบวนการทำงานที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำคือการผลิต กลางน้ำคือแปรรูป และปลายน้ำคือการจำหน่าย โดยใช้รูปแบบ ‘ทำให้เร็ว ท้าให้ไว เกิดงานให้ได้ และต้องได้เงิน’

“เรามองว่าหากให้ผู้ร่วมเรียนรู้กระทำซ้ำ ๆ โดยไม่รู้ผลลัพธ์ปลายทาง ไม่นานจะเกิดความเบื่อหน่าย ฉะนั้นต้องให้เขาเห็นปลายทางเร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเปิดโลกของการประกอบอาชีพว่างานจะสามารถต่อยอดไปด้านไหนได้บ้าง หรือต้องลงทุนอย่างไรถึงจะได้ผลกำไรตอบแทน สำคัญคือการเปลี่ยน Mindset ของทั้งผู้ร่วมเรียนรู้ รวมถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เรือนจำ ด้วยคำถามว่า เป้าหมายคืออะไร หรือต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากนั้นจึงตั้งเงื่อนไขร่วมกันเพื่อบรรลุจุดประสงค์ร่วมกัน แล้วกระบวนการเหล่านี้เองที่จะค่อย ๆ ทำให้ผู้ร่วมเรียนรู้มองเห็นสายพานอาชีพ เช่นการฝึกทักษะการนวดที่ตอนแรกไม่มีใครสนใจ แต่พอรู้ว่าเป็นงานที่ลงทุนไม่มากแต่ค่าตอบแทนเริ่มต้นที่ชั่วโมงละ 150 บาท ก็มีคนสนใจเรียนรู้มากขึ้น”

ผู้รับผิดชอบโครงการ ฅ.คนกลับใจฯ กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการแล้ว การเข้ามาช่วยถ่ายทอดความรู้ นอกจากผู้ต้องโทษจะมีทักษะอาชีพติดตัวสู่สังคมแล้ว ผู้ประกอบการยังมีโอกาสได้แรงงานที่ตรงความต้องการ และยังเป็นการจุดประกายการเป็นผู้ประกอบการให้กับกลุ่มผู้ต้องโทษที่สนใจจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองด้วย โดยบริษัท อัตลักษณ์ฯ จะส่งเสริมอาชีพงานผ้าเป็นหลัก ทั้งแปรรูปกระเป๋า เสื้อผ้า และ หมวก และอีกบทบาทหนึ่งคือเป็น ‘ผู้แนะแนว’ สัมภาษณ์ผู้ร่วมเรียนรู้เชิงลึกถึงความสนใจและความถนัด ชวนมองให้เห็นโอกาสอื่น ๆ ที่ผู้ร่วมเรียนรู้สนใจหรือมีต้นทุนอยู่เดิม พร้อมจัดหาวิทยากรเข้ามาสอนเพิ่มเติม นอกจากนี้ทางบริษัทอัตลักษณ์ฯ ยังได้วางแผนจัดตั้ง ‘วิสาหกิจส่งเสริมคนทำดีสู่สังคมไม่จำกัด’ เพื่อเป็นพื้นที่โอกาสสำหรับผู้ต้องโทษได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการมีอาชีพและมีที่ยืนในสังคม

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ.

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า กสศ. มีภารกิจสำคัญสองประการหลัก หนึ่งคือแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นกับคนทุกระดับ สองคือบทบาทการปฏิรูปการศึกษาในฐานะ ‘ตัวเร่ง’ (Catalyst) เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศ ฉะนั้นงานของ กสศ. จะมุ่งไปยังจุดที่มีปัญหาเร่งด่วนที่สุด และหาแนวทางแก้ไขร่วมกับภาคีทั้งในระดับนโยบายและท้องถิ่น รวมถึงกลุ่มคนที่สนใจและต้องการทำงานร่วมกัน โดยพื้นที่เรือนจำถือเป็นหมุดหมายหนึ่งที่สำคัญ ด้วยภาวะความขาดแคลนโอกาสและแรงกดทับจากหลายปัจจัย การส่งผู้ต้องขังกลับออกไปเป็นพลเมืองที่สามารถอยู่ร่วมในสังคม จึงต้องอาศัย ‘การเรียนรู้’ อันเป็นแนวคิดของการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ที่จะทะลวงผ่านกำแพงสูงและปิดกั้นเข้าไปเปลี่ยนแปลงมิติต่าง ๆ ของผู้ด้อยโอกาส เพื่อสร้าง ‘พื้นที่ตัวอย่าง’ ของความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้และส่งต่อ โดยมีสามเสาหลักคือ เรือนจำ สถาบันการศึกษาหรือภาคประชาสังคม และ กสศ. ที่จะประสานความร่วมมือเพื่อทำภารกิจดังกล่าว

“เราอาจคุ้นเคยกับความหมายของการศึกษาที่จำแนกเป็นในระบบ นอกระบบ หรือตามอัธยาศัย แต่เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ ความหมายกลับแตกต่างออกไป เพราะการเรียนรู้คือธรรมชาติของมนุษย์ คือสิทธิของคนในการเข้าถึงโอกาส ดังนั้นการเรียนรู้จึงสามารถทลายกำแพงที่สูงและปิดกั้นด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ จากนั้นจะค่อย ๆ ทำหน้าที่ของมันในการเยียวยารักษาจิตใจและพัฒนาคน โดยไม่ยึดติดอยู่กับลู่ใดหนึ่งเพียงลู่เดียว เพราะเรามีทั้งการฝึกอบรมอาชีพ ทุนการศึกษา มีการเรียนรู้ที่สอดรับกับเส้นทางชีวิตที่ผู้ต้องขังจะกลับออกไป ซึ่งหากสามเส้าของการทำงานสามารถ ‘สร้าง เยียวยา และส่งต่อ’ ผู้ร่วมเรียนรู้ที่ทำให้สังคมเชื่อมั่นสำเร็จ สิ่งที่ตามมาคือหลังจากนี้เราจะมีต้นแบบการจัดการเรียนรู้ ที่จะขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายในกระบวนการยุติธรรมอีกจำนวนมาก และนั่นหมายถึงเราจะมีการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตของคนทุกกลุ่ม หรือคืออีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะพาเราไปสู่การปฏิรูปการศึกษาของประเทศได้ในที่สุด”

ด้าน ‘นัท’ ตัวแทนผู้ร่วมเรียนรู้ในโครงการ ฅ.คนกลับใจ วิถีอาชีพ เพื่ออนาคต กล่าวว่า ตัดสินใจร่วมโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนได้รับหน้าที่เป็น ‘ครูผู้ช่วยพาทำประจำฐาน’ รู้สึกยินดีที่ทางเรือนจำมองเห็นความสำคัญของผู้ต้องขัง โดยนำโอกาสจากภายนอกมาช่วยพัฒนาคนข้างในด้วยกิจกรรมที่มีทางเลือกและหลากหลาย

“ตอนโครงการฯ เข้ามา เราทราบกันว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้แค่พาวิทยากรมาอบรม แต่ตั้งใจจะมาช่วยฝึกทักษะสร้างอาชีพก่อนปล่อยตัว มีทั้งการทำกับข้าว ทำขนม ทำชุดอาหารว่างสำหรับประชุมสัมมนา ฝึกงานบริการ เสริมทักษะการสื่อสาร ซึ่งทักษะเหล่านี้เราเอาไปใช้งานจริงได้ ที่สำคัญคือโอกาสที่ผ่านมาถึงขณะที่หลายคนรู้สึกหมดหวังหมดกำลังใจไปแล้ว ถือว่าเป็นภูมิคุ้มกันที่เราได้รับ ทั้งเป็นการสร้างความภูมิใจในตัวเอง สำหรับผมสิ่งเหล่านี้คือโอกาสดี ๆ ที่ทุกท่านนำมามอบให้ ซึ่งพวกเราพร้อมน้อมรับและตั้งใจจะพัฒนาตนเองต่อไป แล้ววันหนึ่งเราจะกลับออกไปข้างนอก ไปบอกคนในชุมชนว่าเราได้รับการฝึกฝน อบรม เรียนรู้ เรามีวิชาชีพติดตัว และตั้งใจว่าจะใช้ความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ในการเลี้ยงดูตนเองต่อไป”

‘วนิดา’ ตัวแทนผู้ร่วมเรียนรู้ในโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเพิ่มทักษะ อาชีพสำหรับผู้ต้องขัง กล่าวว่า หลังต้องโทษ เคยรู้สึกหดหู่และหมดหวัง แต่เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมอาหารแปรรูปฯ ทักษะความสามารถที่เพิ่มพูนได้ช่วยทำให้รู้สึกมีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น โดยนอกจากความรู้ ทักษะ สิ่งที่ตนมองว่า ‘มีค่า’ มากที่สุด คือการได้รับ ‘ความหวัง’

“ไม่เคยคิดว่าจะทำอาหารเลย แต่ตอนนี้วางแผนชีวิตหลังกลับออกไปว่าจะเอาทักษะที่ได้รับไปต่อยอด โดยจากนี้ชีวิตทั้งข้างในข้างนอกเรือนจำ เรามีเป้าหมายแล้วว่าจะพัฒนาตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อได้กลับไปอยู่ข้างนอก เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยทุนอุปกรณ์การทำอาหารและเงินทุนที่ทางโครงการมอบให้ให้สำเร็จ สิ่งหนึ่งที่รู้คือเส้นทางจากนี้ไปไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ ณ วันนี้เราเชื่อมั่นแล้วว่าเราสามารถทำได้  จึงอยากขอกล่าวในนามตัวแทนของผู้ร่วมเรียนรู้ทุกคนว่า ขอบคุณทุกท่านที่นำความหวังเข้ามาให้พวกเรา”