อ่านปัญหาความเหลื่อมล้ำจากอเมริกา : เมื่อการลงทุนแก้ ‘การศึกษา’ อย่างเดียว อาจยังไม่เพียงพอ
โดย : ปรางชณา ภัทรนรากุล
ภาพ : กฤตพร โทจันทร์

อ่านปัญหาความเหลื่อมล้ำจากอเมริกา : เมื่อการลงทุนแก้ ‘การศึกษา’ อย่างเดียว อาจยังไม่เพียงพอ

ท่ามกลางแนวคิดหลากหลายว่าด้วยเป้าหมายในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น หลายคนคงเคยได้ยินสมการของการพัฒนาที่ว่า “การลงทุนด้านการศึกษาจะช่วยทำให้ประเทศดีขึ้น” หรือ “ปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นล้วนเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่ล้มเหลว” ดังนั้น ภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ควรร่วมมือกัน ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ เพื่อให้พลเมืองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและสามารถเป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ของสังคมต่อไป

อย่างไรก็ตาม บทความเรื่อง Better Public Schools Won’t Fix Income Inequality [1] (2019) จากเว็บไซต์ของ The Atlantic โดย Nick Hanauer ผู้ก่อตั้งโครงการค้นคว้าและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อพลเมือง (The Civic Ventures, public-policy incubator) ได้อธิบายสภาพปัญหาของระบบการศึกษาในอเมริกา พร้อมกับเสนอข้อโต้แย้งต่อความเชื่อเรื่องสมการการพัฒนาที่เรามักยึดถือกันทั้ง 2 ข้อที่ได้กล่าวไปข้างต้น

เพราะเหตุใดการยกระดับคุณภาพการศึกษาจึงอาจไม่แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม? 101 จะพาไปสำรวจต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาอย่างแนบแน่น ส่งผลถึงกันและกัน ผ่านข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศอเมริกา ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการศึกษา ภายใต้บริบทระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและเงื่อนไขต่างๆ ทางสังคมได้ดีมากยิ่งขึ้น

แก้ปัญหาการศึกษาไม่อาจแก้ความเหลื่อมล้ำ?

นับตั้งแต่ที่ประเทศอเมริกาได้สร้างระบบการศึกษาโดยภาครัฐ (Public School) ขึ้นมา ทำให้เกิดกลุ่มบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัยจำนวนมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด ‘ชนชั้นกลาง’ ในประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงทศวรรษ 1970 ก็ดูเหมือนว่าจะเกิดปัญหาบางอย่างขึ้น

เมื่อการศึกษาภาครัฐถูกขยายออกไปในพื้นที่ต่างๆ ตัวเลขของผลคะแนนสอบและจำนวนผู้จบการศึกษานั้นกลับยิ่งตกต่ำลง  เนื่องจากระบบโรงเรียนรัฐที่ครั้งหนึ่งเคยมีขึ้นเพื่อผลิตแรงงานให้เข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม มาตอนนี้กลับไม่สามารถก้าวตามความต้องการด้านการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นได้ทัน หลังระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนมาพึ่งพาองค์ความรู้เป็นหลัก (knowledge economy) และทำให้ ‘การได้รับการศึกษา’ กลายเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน หลักสูตรการศึกษาแบบเดิมๆ จึงอาจไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป

และเมื่อการศึกษาของภาครัฐดังกล่าวล้มเหลว อำนาจในการซื้อของชนชั้นกลางอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่สร้างสถานะทางสังคมผ่านการศึกษาจึงน้อยลงเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ค่าจ้างเฉลี่ยต่อปีของกลุ่มคนที่รวยที่สุด 1% ในอเมริกาเพิ่มขึ้น 156% ในปี 1979-2017 หากแต่กำลังซื้อจากเงินเดือนของคนอเมริกาโดยเฉลี่ยนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

Nick Hanauer ผู้เขียนบทความ ได้กล่าวว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้นและเกิดการแบ่งขั้วทางการเมือง (Political polarization) รวมถึงมีการดูถูก เหยียดหยาม และความโกรธเกรี้ยว ปะทุขึ้นมาในสังคม กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายประชาธิปไตยของอเมริกาอย่างมาก

อุปสรรคเรื่องค่าแรงและความยากจน

จากปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ทำให้ Nick ก่อตั้ง League of Education Voters องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของรัฐ เขาบริจาคเงินร่วมกับนักธุรกิจชื่อดังหลายคนเช่น Bill Gates, Alice Walton และ Paul Allen มากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดตั้งโรงเรียนในกำกับของรัฐ (charter school) แห่งแรกของวอชิงตัน รวมถึงทุ่มเทแรงกายหลายร้อยชั่วโมงโดยมีแนวคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเราปรับปรุงโรงเรียน หลักสูตรและวิธีการสอน ให้ทันสมัยมากขึ้น หรือปฏิรูปเอาครูที่ไม่ดีออกไป ก็จะเป็นผลดีต่อเด็กๆ โดยเฉพาะในชุมชนที่มีรายได้น้อยและชนชั้นแรงงาน อัตราการจบการศึกษาและค่าแรงจะเพิ่มขึ้น ความยากจนและความไม่เท่าเทียมจะลดลง รวมทั้งประชาธิปไตยเองก็จะได้รับการฟื้นฟู

แต่ทว่า จากการศึกษาของเขาในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าแท้จริงแล้ว เหตุผลที่คนงานอเมริกายังต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวอย่างยากลำบากอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะพวกเขาได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ ภายใต้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบบนลงล่าง (Trickle-down) นั้นเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนร่ำรวยมาตลอด 40 ปี และแม้ว่าที่ผ่านมาคนอเมริกาจะได้รับการศึกษาสูงกว่าประเทศอื่นๆ มาโดยตลอด แต่อัตราการจ้างงานก็ยังคงต่ำ รวมทั้งแรงงานชาวอเมริกาส่วนใหญ่ (ในทุกระดับการศึกษา) ก็แทบจะไม่ได้ขึ้นค่าจ้างเลยตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ Nick ไม่ได้กำลังจะบอกว่าเราไม่ควรปรับปรุงระบบการศึกษา แต่การศึกษานั้นไม่สามารถแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกาได้ หากละเลยแรงขับเคลื่อนของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนอย่าง ‘รายได้ครัวเรือน’

ข้อมูลจากการวิจัยเชิงตัวเลขที่ผ่านมามีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ยิ่งรายได้ของพ่อแม่ผู้ปกครองลดลงเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลต่อระดับการศึกษาที่ต่ำลงของบุตรหลาน แต่แทนที่เราจะแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มรายได้ครัวเรือน เรากลับเน้นไปที่การขยายโอกาสแก่เด็กยากไร้ อย่างการมีโรงเรียนในกำกับของรัฐสำหรับเด็กยากจน ทั้งที่เด็กกลุ่มนี้แทบจะไม่มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐดีๆ เพราะไม่สามารถฝ่าด่านของรายได้ครอบครัวที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงอาจกล่าวได้ว่า ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ ไม่ได้เกิดจากความล้มเหลวทางการศึกษาเลยเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ Lawrence Mishel นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม (The liberal-leaning Economic Policy Institute) ยังอธิบายว่า ‘ความยากจน’ คืออุปสรรคที่จะทำลายการเรียนรู้และพรสวรรค์ของเด็กๆ พวกเขาอาจต้องเปลี่ยนโรงเรียนบ่อยจากความไม่พร้อมของที่อยู่อาศัย ไม่มีใครมาช่วยทำการบ้าน ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ รวมถึงมีสภาพแวดล้อมในการเรียนที่ไม่ปลอดภัยอีกด้วย

ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจยิ่งมาก
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งเพิ่ม

ในขณะที่เด็กกลุ่มหนึ่งของอเมริกาไม่มีแม้แต่เงินที่จะซื้ออาหารกลางวันเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีพร้อมสำหรับการเรียน โรงเรียนรัฐที่มีนโยบายแจกหรือลดราคาค่าอาหารกลางวันในปัจจุบันยังมีจำนวนเพียงครึ่งเดียว ซึ่งเพิ่มขึ้นแค่ 38% จากปี 2000

จากสภาวะดังกล่าว เราคงจินตนาการได้ว่าโอกาสในการเอื้อมถึง ‘โรงเรียนรัฐคุณภาพดี’ ของเด็กกลุ่มนี้มีน้อยมาก และโรงเรียนคุณภาพดีก็มักกระจุกตัวอยู่แค่ในเขตพื้นที่ของกลุ่มครอบครัวชนชั้นกลางที่มีความมั่นคงทางการเงิน อำนาจทางการเมือง เวลา และทรัพยากร

พูดง่ายๆว่า โรงเรียนรัฐที่มีคุณภาพนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นผลผลิตของชนชั้นกลางเสียมากกว่า ดังนั้น หากทำให้คนมีเงินและมีชีวิตที่ดีได้แบบคนชนชั้นกลาง โรงเรียนรัฐคุณภาพดีก็จะตามมาเอง แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในอเมริกาเกือบทั้งหมดนั้นตกอยู่ที่ธุรกิจขนาดใหญ่และผู้ถือหุ้น จากสถิติพบว่า ผลกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้หลังหักภาษีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 1970 (จาก 5% ของ GDP เป็น 10%) ในขณะที่ค่าจ้างในฐานะส่วนแบ่งของ GDP ลดลงประมาณ 8%

โดยสรุป ข้อเสนอของ Nick ในการแก้ปัญหาคือ หากเราต้องการให้เด็กทุกคนมีโอกาสประสบความสำเร็จเท่าเทียมกัน สิ่งที่ควรทำมากกว่าการขยายโอกาส คือการลดระยะห่างระหว่างขั้นบันได เราต้องไม่มุ่งพัฒนาเพียงการศึกษาให้มีคุณภาพ หากแต่ต้องพัฒนาคุณภาพของครัวเรือน ที่อยู่อาศัย หรือการดูแลสุขภาพเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีไปพร้อมกันด้วย

ดังนั้น ประเด็นเรื่องค่าแรงจึงสำคัญกับแรงงานมาก ค่าแรงที่สูงไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่กลุ่มอาชีพที่สังคมให้คุณค่า และวิธีทางตรงในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ คือ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และการมีเกณฑ์เงินเดือน ค่าตอบแทนที่ชัดเจน เพื่อลดปัญหาการไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา คืนอำนาจการต่อรองให้แก่แรงงาน ไปจนถึงการเพิ่มภาษีให้สูงขึ้นต่อคนรวย หรือเก็บจากภาษีที่ดิน

มองภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทย

ในช่วงที่ผ่านมา การพัฒนาด้านการศึกษาจากภาครัฐส่งผลให้แรงงานไทยในภาพรวมมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนปีที่แรงงานได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจาก 5.31 ปี ในปี 2529 และเพิ่มเป็น 8.15 ปี ในปี 2552[2] รวมทั้งนโยบายการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการการศึกษาของรัฐระหว่างปี พ.ศ. 2545-2556 ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีส่วนช่วยให้เด็กสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียนของรัฐได้มากขึ้น[3] ในขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ก็ชี้ว่า โจทย์สำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทย ไม่ใช่การเข้าถึงการศึกษาของคนส่วนใหญ่อีกต่อไป หากแต่คือการทำให้การศึกษามีคุณภาพอย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์และปัญหาในอเมริกานั้นไม่ได้ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรามากนัก นับตั้งแต่การศึกษาของประเทศเริ่มผูกขาดไว้ที่รัฐ อย่างการมีกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ ส่งผลให้การศึกษาในรูปแบบอื่นๆ เช่น การเรียนแบบ Home School หรือการศึกษานอกระบบต่างๆ หมดความสำคัญและสูญหายไป[4] ในแง่นี้ การเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้มาซึ่งวุฒิการศึกษาจึงเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การเลื่อนชั้นหรือขยับฐานะทางสังคม

แต่ในขณะที่รัฐมุ่งรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการและการกระจายทรัพยากรทางการศึกษา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รัฐกลับประสบปัญหาเรื่องการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการศึกษาที่เท่าเทียมแก่พลเมือง ทำให้สังคมไทยยังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้มีคนจำนวนหนึ่งเสียเปรียบเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่น การรับค่าจ้างต่ำกว่ากลุ่มที่มีโอกาสทางการศึกษาสูงกว่า หรือ โอกาสในการได้งานที่น้อยกว่าเนื่องจากการรับเข้าทำงานซึ่งยึดโยงกับมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษา

นอกจากนี้ ประสิทธิภาพและหลักสูตรการสอนในโรงเรียนทั่วไปยังไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ในการวัดผลสอบ ทำให้ระบบการศึกษาไทยจำต้องผูกติดแนบแน่นกับ ‘สถาบันกวดวิชา’ มาโดยตลอด เปิดช่องว่างให้ธุรกิจกวดวิชาที่มักดำเนินการโดยภาคเอกชนเข้ามามีบทบาท และยิ่ง ‘ตอกย้ำ’ ระยะห่างของฐานะหรือต้นทุนทางการเรียน ไปจนถึงการแข่งกันทางการศึกษาในสังคมให้ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

มากไปกว่านั้น การมีอยู่ของสถาบันกวดวิชาสะท้อนถึงปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันด้านพื้นที่ กล่าวคือ สถาบันกวดวิชาที่มีคุณภาพ (รวมทั้งโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ในไทย) ต่างกระจุกตัวอยู่แค่ในเขตเมือง ทำให้ผู้เรียนต้องขวนขวายเข้ามาเรียนในเขตพื้นที่เดียว จนเกิดกลุ่มที่ได้เปรียบและเสียเปรียบด้านเวลาหรือค่าเดินทาง ในแง่นี้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทยจึงไม่เพียงเป็นเรื่องของฐานะรายได้ หากแต่สัมพันธ์ในประเด็นเชิงภูมิศาสตร์ด้วย

ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สะท้อนปัญหาข้างต้นเป็นอย่างดี โดยสถิติชี้ว่า เด็กที่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างสาหัสที่สุดคือ ‘เด็กยากจนพิเศษ’ ซึ่งครอบครัวอาจมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดเพียงแค่ 462 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 15 บาทต่อวัน ส่วนรายได้เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 2,093 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 69 บาทต่อวัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้เสมอ

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาการศึกษาของรัฐด้วยการมีนโยบายสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบนโยบายอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อรับประกันว่าคนที่ลำบากที่สุดจะเข้าถึงทรัพยากรได้ ที่สำคัญคือ การมองให้ทะลุถึงรากว่า ปัญหาที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังการปรับปรุงระบบการศึกษา คือปัจจัยเรื่องของต้นทุนความพร้อม เม็ดเงินค่าแรง และความเจริญในพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอยู่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตลอดมา

หากเราไม่แก้ไขปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ’ และ ‘ความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา’ ควบคู่ไปด้วยกัน ความเหลื่อมล้ำก็อาจยังเรื้อรังอยู่คู่สังคมไปเช่นเดิม

อ้างอิง

[1] Nick Hanauer. (2562). Better Public Schools Won’t Fix Income Inequality 

[2] ดิลกะ  ลัทธพิพัฒน์. (2553). ความเหลื่อมลํ้าของโอกาสทางการศึกษากับแนวโน้มของค่าจ้างในประเทศไทย.

งานสัมมนาวิชาการประจําปี 2553 “การลดความเหลื่อมลํ้าและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ”

(Reducing Inequality and Creating Economic Opportunity) โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

[3] (วัดจากโดยค่าดัชนีโอกาสของมนุษย์ (Human Opportunity Index: HOI) ในปี พ.ศ. 2556 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.08) อ้างอิงจาก อรอนงค์  ทวีปรีดา. (2559). การกระจายและความเท่าเทียมของโอกาสทางการศึกษา และบทบาทการใช้จ่ายของภาครัฐ. วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[4] คมสัน พรมรินทร์. (2560). “เงา” โลดแล่น:  เมื่อระบบติวเตอร์ในโรงเรียน “อุ้ม” ระบบการศึกษาไทย. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวทิยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world