Banner
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ยะลา

เปลี่ยนผู้ด้อยโอกาสในชุมชนให้เป็นแรงงานฝีมือที่สามารถก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ กับโครงการฝึกทักษะที่ใฝ่ฝันของม.ราชภัฏยะลา

ความถดถอยด้านเศรษฐกิจและสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนจังหวัดยะลาเผชิญความยากลำบาก และมีเยาวชนจำนวนมากที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และโอกาสทางการศึกษา เติบโตเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ไร้ความสามารถ ทำให้สมัครงานยาก ขาดรายได้เพื่อดูแลตนเองและครอบครัว ดังนั้น การฝึกทักษะการประกอบอาชีพให้แรงงานเหล่านี้ จึงเป็นหนทางที่จะช่วยผลักดันให้พวกเขาก้าวออกจากวงจรความเหลื่อมล้ำได้

ด้วยเหตุนี้ คณะวิทยาการการจัดการ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงจัดทำโครงการฝึกทักษะอาชีพที่ใฝ่ฝันของผู้ขาดแคลนและด้อยโอกาสขึ้น เพื่ออบรมแรงงานให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในอาชีพต่างๆ จนนำไปประกอบอาชีพอิสระ หรืออาชีพตามความถนัด เพื่อสร้างรายได้ โดย ผศ.แวอาซีซะห์ ดาหะยี ผู้รับผิดชอบโครงการ เชื่อว่า หากกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ประเด็นเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนก็อาจลดลง

โครงการตั้งเป้าอบรมให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสจำนวน 50 คน ซึ่งอาศัยอยู่ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลบุดี ตำบลพร่อน ตำบลเปาะเส้ง และตำบลวังพญา ในเขตอำเภอเมืองยะลา เนื่องจากเป็นพิกัดที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเดินทางไปเช้า-เย็นกลับได้ โดยมุ่งไปที่เยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นหลักก่อน  

“เราให้กลุ่มเป้าหมายสำรวจความสนใจและความต้องการก่อน ว่ามีอาชีพอะไรบ้างที่เขาอยากทำ จากนั้นก็เปิดสารคดีเกี่ยวกับอาชีพซึ่งเราเคยทำไว้ให้เขาดู ในสารคดีจะมีทั้งอาชีพทำขนม ช่างยนต์ ช่างตัดผม มัคคุเทศก์ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เทใจไปที่ 3 หลักสูตรหลัก นั่นคือ ช่างตัดผม ทำขนม และช่างอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทุกหลักสูตรจะมีครูที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง และจะเรียนที่วิทยาลัยสารพัดช่างจังหวัดยะลาทั้งสิ้น” ผศ.แวอาซีซะห์กล่าว 

อูเซ็น ดีแลตานา หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า สาเหตุที่เลือกอบรมหลักสูตรช่างตัดผม เพราะอยากเป็นช่างตัดผมอยู่แล้ว แต่ไม่มีโอกาสฝึกฝนทักษะ เพราะต้องทำงานรับจ้างทั่วไป “พอมาเรียนที่นี่ อาจารย์เขาสอนตั้งแต่เรื่องการจับแบตตาเลี่ยน การจับหวี การจับกรรไกร ช่วงแรกจะให้ทดลองกับหุ่น มีผมปลอม แล้วก็เริ่มฝึกตัดรองทรง รองทรงต่ำ รองทรงกลาง รองทรงสูง สกินเฮด ทรงเด็กนักเรียน”

เมื่ออบรมเสร็จ อูเซ็นมีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปฝึกตัดผมให้ชาวบ้านตามมัสยิด ให้เด็กนักเรียนตามศูนย์โรงเรียนตาดีกา รวมๆ แล้วน่าจะตัดผมไปแล้วกว่า 100 โดยในหนึ่งวันจะมีลูกค้าประมาณ 13-15 คน ทำให้มีรายได้เสริมต่อวัน 300-400 บาท ซึ่งดีกว่าแต่ก่อนที่รายได้ไม่ค่อยแน่นอน บางวันได้ บางวันก็ไม่ได้

เช่นเดียวกับ ซัยนัย โตเมะเล๊าะ อายุ 52 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ที่เข้าอบรมหลักสูตรทำขนม เธอเล่าว่าโครงการสอนวิธีการทำขนมกว่า 20 ชนิด เช่น คุกกี้นมสด คุกกี้สับปะรด เค้กกล้วยหอม ทาร์ตสับปะรด ​แซนด์วิชแฮมไก่หย็อง เป็นต้น ซึ่งเรียนก็ไม่ยาก แต่ต้องละเอียด ต้องชั่ง ตวงให้เป๊ะตามสูตร ตอนนี้ก็เริ่มทำขายเองที่บ้านบ้าง แล้วก็มีเครือข่ายต่างๆ เช่น โครงการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โครงการของหมู่บ้าน โครงการของกลุ่มสตรี มาสั่งไปเลี้ยงรับรอง

ไม่เพียงแค่ทักษะด้านวิชาชีพเท่านั้น แต่คณะทำงานยังมุ่งให้ความรู้ ด้วยการเสริมกลยุทธ์ด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ การทำบัญชี รวมถึงการอบรมทักษะการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้กลุ่มเป้าหมาย โดยผศ.แวอาซีซะห์เสริมว่า “เราเสริมความรู้ทั้งในเรื่องการตลาด การโฆษณา ช่องทางการขาย เช่น อย่างหลักสูตรช่างตัดผม ก็จะบอกเขาว่าอาหารยังมีเดลิเวอรี่เลย แล้วทำไมเราไม่ลองทำดูบ้าง เราก็ไปตามชุมชน ตามบ้านที่มีคนเฒ่าคนแก่ที่เขาลุกมาเองไม่ได้ หรือไม่มีลูกหลานพามา เราก็ไปบริการตัดผมเขาถึงบ้านได้” 

ทุกวันนี้ นอกจากโครงการจะช่วยเสริมทักษะอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายสามารถนำความรู้ไปสร้างอาชีพ ทั้งการตัดผม ทำขนม และซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามร้านต่างๆ แล้ว ก็ยังเกื้อหนุนและผลักดันให้เกิดการสร้าง ‘ศูนย์เรียนรู้ในชุมชน’ ขึ้น โดยอาศัยความพร้อมของกลุ่มเป้าหมายและชุมชนเป็นหลัก 

ซึ่งผศ.แวอาซีซะห์ เล่าว่า “เราตั้งเป้าไว้แล้ว ว่าจะคืนคนเหล่านี้กลับไปในชุมชน แต่เราไม่รู้หรอกว่าชุมชนไหนพร้อม ระหว่างที่เราดูแลเขา เราจะพยายามสังเกต เข้าไปคุย เช่น พอสังเกตดูแล้ว ทางหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ค่อยมีใครโดดเด่น แต่พอมาดูช่างตัดผม เจออูเซ็น เขาเป็นคนช่างพูดและเป็นแกนนำในการอบรม ก็เลยให้ไอเดียกับเขาว่า เราตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านนี้ดีไหม เผื่อมีใครอยากมาสอนเด็กๆ ก็มา ซึ่งอูเซ็นก็สนใจและมุ่งมั่นมากว่าจะลองดูสักตั้ง” 

ส่วนด้านหลักสูตรทำขนมนั้น มีอาจารย์ตุ๊ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกลุ่มผู้ทำขนมในชุมชนคูหามุข ซึ่งอาจารย์ตุ๊ก็มองว่าพื้นที่ตรงนี้สามารถตั้งศูนย์เรียนรู้ได้ “แต่เราก็ไม่ได้มองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะต้องเต็มร้อยเสมอ ก็คงต้องค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไป แต่จะไปได้แค่ไหน คงขึ้นอยู่ที่จังหวะ เวลา และโอกาสของแต่ละพื้นที่ รวมถึงความตั้งใจของคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งผู้เข้าอบรมตอนนี้ บางคนที่มีความเชี่ยวชาญก็เริ่มเป็นครูสอนคนอื่นต่อแล้วก็มี” ผศ.แวอาซีซะห์กล่าว

กว่าที่โครงการจะดำเนินมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำงานร่วมกับเยาวชนนอกระบบการศึกษา เพราะต้องอาศัย ‘ความเข้าใจ’ และ ‘ความใส่ใจ’ ที่มากกว่าเยาวชนในระบบการศึกษา แต่ถึงแม้ว่าภารกิจนี้จะยากเพียงไร คณะทำงานต่างก็ไม่ย่อท้อ เพราะมองว่าไม่อาจละทิ้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ไปได้  

การทำงานกับเยาวชนนอกระบบการศึกษานั้นยากมาก ต่างจากเยาวชนในระบบการศึกษา ที่เราอาจใช้เกรด คะแนนหรือรางวัลมาชักจูงใจได้ แต่สำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา สิ่งเหล่านี้ใช้ไม่ได้เลย ต้องใช้ใจล้วนๆ คณะทำงานจึงต้องเข้าไปทำความรู้จักกับทุกคนในทุกกิจกรรม ถึงเขาจะไม่คุยหรือนิ่งในช่วงแรกๆ ก็ต้องพยายามเข้าหา เพื่อลดช่องว่างให้กลุ่มเป้าหมายกล้าพูด กล้าแลกเปลี่ยน 

ด้าน ผศ.แวอาซีซะห์เองยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่คณะทำงานให้ความสำคัญกับเด็กนอกระบบการศึกษา เนื่องมาจากข้อมูลที่มักได้รับอยู่เสมอๆ ว่า คนมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ‘มีภาวะสุ่มเสี่ยง ไม่เป็นโจรก็ติดยา’ ซึ่งเป็นการเหมารวมที่ไม่น่าประทับใจ เพราะในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่มุสลิม ก็มีปัญหาแบบนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ศาสนาหรือชาติพันธุ์ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ เขาจึงต้องการสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายเชื่อในตนเอง ว่าไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร ความรู้และทักษะอาชีพจะทำให้ไม่จนและไม่อดตาย ส่วนจะมีกินมีใช้แค่ไหนนั้น อยู่ที่การพัฒนาตนเอง ขอเพียงแค่กลุ่มเป้าหมายมี ‘ความตั้งใจ ความอดทน และความเสียสละ’ ก็จะสามารถลุกขึ้นมาประกอบอาชีพตามความถนัดและสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง

“แต่เราก็ไม่ได้มองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะต้องเต็มร้อยเสมอ ก็คงต้องค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไป แต่จะไปได้แค่ไหน คงขึ้นอยู่ที่จังหวะ เวลา และโอกาสของแต่ละพื้นที่ รวมถึงความตั้งใจของคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งผู้เข้าอบรมตอนนี้ บางคนที่มีความเชี่ยวชาญก็เริ่มเป็นครูสอนคนอื่นต่อแล้วก็มี” ผศ.แวอาซีซะห์ ดาหะยี ผู้รับผิดชอบโครงการ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การฝึกทักษะอาชีพที่ใฝ่ฝันของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อเป็นผู้ประกอบการและแรงงานคุณภาพ

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

  • โทร: 081-8987840
  • ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์แวอาซีซะห์ ดาหะยี

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพและสร้างอาชีพที่ยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส