Banner
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษา จ.แม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน

‘อยู่ร่วม เพื่อ อยู่รอด’ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษาแม่ฮ่องสอนจัดโครงการสอนทำขนมจากวัตถุดิบในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนรายได้

พื้นที่สูงท่ามกลางสภาพป่าเขาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือสิ่งบ่งชี้ถึงความเป็นพื้นที่ ‘ต้นน้ำ’  ซึ่งเป็นรากฐานทางทรัพยากรธรรมชาติอันสำคัญ  แต่ขณะเดียวกันพื้นที่ต้นน้ำเหล่านี้ยังคงเป็นพื้นที่ที่การพัฒนายังเข้าถึงได้ไม่สะดวกนัก ทำให้ชุมชนใกล้เคียงยังพบกับความขาดแคลนในหลายด้าน ซึ่งนี่คือสาเหตุที่นิติศักดิ์ โตนิติ ตัดสินใจเข้ามารับผิดชอบโครงการพัฒนาทักษะการประกอบการเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่

เป้าหมายหลักของโครงการคือการพัฒนาอาชีพทางเลือกให้เยาวชนและคนในชุมชนบ้านแม่ลาน้อย บ้านห้วยกระต่าย และบ้านปู่คำห้วยแห้ง ผ่านการสนับสนุนความรู้ด้านการเพาะปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบในท้องถิ่น และการส่งเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีและการตลาดออนไลน์ โดยมีศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวินเป็นผู้ออกแบบหลักสูตร

วิถีชีวิตของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในชุมชน ประกอบอาชีพเกษตรกร และมีพืชผลการเกษตรและพืชพันธุ์จากป่าเป็นทุนดั้งเดิม เช่น กล้วย พริก ถั่วเหลือง เห็ด บุก และหน่อไม้ เป็นต้น ซึ่งไม่มีการแปรรูปผลผลิต ทำให้รายได้ไม่มากสักเท่าไร ซึ่งอำภา ธวัชวิฑูรย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน เล่าว่า คนในชุมชนปลูกกล้วยกันแทบทุกครัวเรือน ถ้าไม่ขายกล้วยสดเป็นเครือ ก็นำมา แปรรูปเป็นกล้วยฉาบ ซึ่งไม่สร้างมูลค่าเพิ่มมากนัก 

โดยอำภาเสริมว่า “ปกติแล้ว กล้วย 1 เครือ ขายได้ 20-30 บาท เราก็เลยพยายามคิดว่าจะเพิ่มมูลค่ามันอย่างไรได้บ้าง ก็ไปเจอว่า ในตลาดมีผลิตภัณฑ์แคปซูลกล้วยที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยแก้ท้องผูกและปรับสมดุลร่างกาย ซึ่งเขาขายกันกระปุกละ 100 บาท หนึ่งกระปุกมี 20 เม็ด เราเลยเริ่มมองหาสินค้าชนิดอื่นที่ชาวบ้านน่าจะพอทำได้” 

และจากการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต อำภาก็พบว่า กล้วยสามารถนำมาแปรรูปเป็น ‘แป้งกล้วย’ ซึ่งใช้แทนแป้งข้าวเจ้าได้ และมีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน ทำให้แป้งกล้วยกลายเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่เธอนำมาถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อส่งขายเป็นวัตถุดิบให้ร้านเบเกอรี่ และนำแป้งกล้วยมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบแป้งกล้วยขาย

สำหรับกระบวนการเรียนรู้และการจัดการเรื่องกล้วยๆ คณะทำงานจะดึงเยาวชนมาเรียนรู้ร่วมกับผู้ใหญ่ ตั้งแต่วิธีการปลูกกล้วย เช่น การแผ้วถางดิน การขุดหลุม และการปลูกหน่อกล้วย ไปจนถึงการแปรรูปกล้วยเป็นแป้งกล้วยสำหรับทำคุกกี้และข้าวเกรียบแป้งกล้วย โดยจากการทดลองพบว่า กล้วย 100 ลูก (ประมาณ 1 เครือ) สามารถนำมาผลิตแป้งกล้วยได้ 1 กิโลกรัม ซึ่งมีราคารับซื้ออยู่ที่ 500 บาท 

ทั้งนี้ นิติศักดิ์ ขยายความว่า การเรียนรู้ผ่านหลักสูตรพัฒนาทักษะประกอบการ สามารถช่วยสนับสนุนชุมชนได้ในระดับหนึ่ง นิติศักดิ์จึงต้องแต่งตั้งแกนนำในชุมชนมาช่วยขับเคลื่อนงาน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต โดยนิติศักดิ์ระบุว่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย เป็นแค่จุดเริ่มต้นของระบบการผลิตของชุมชนเท่านั้น เนื่องจากในชุมชนยังมีพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด

นอกจากการสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นในชุมชน จะช่วยพัฒนาให้ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอีกด้วย เนื่องจากแต่เดิม ลูกหลานจะต้องออกไปรับจ้างทำงานนอกชุมชน แต่โครงการนี้ก็ช่วยสร้างอาชีพทางเลือกให้กลุ่มเป้าหมายได้ทำงานสอดคล้องกับวิถีชีวิต และสร้างรายได้จากการเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่เป็นทุนดั้งเดิมของชุมชน 

ด้านอำภา เสริมว่า “กว่าชาวบ้านจะเชื่อเราว่าอาชีพที่เราส่งเสริมให้ทำมันเป็นไปได้ เราก็ต้องทำให้เขาดูก่อน ให้เขาเห็นกับตา เพราะถ้าเราเอาแต่ไปพูดให้ชาวบ้านฟัง เขาจะไม่เข้าใจว่าเอากล้วย เอาบุกมาสร้างมูลค่าเพิ่มคืออะไร เพราะฉะนั้น เราเลยต้องชวนชาวบ้านมาลงมือด้วยกัน ซึ่งทำให้เขามีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวโครงการ และตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม

วศิกา พิมานกระสินธุ์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าถึงประสบการณ์ในช่วงที่ร่วมโครงการว่า ก่อนหน้านี้ ทักษะการตลาดออนไลน์เป็นเรื่องที่เธอนึกไม่ถึง ว่าชีวิตคนบนดอยอย่างเธอต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการเข้าร่วมโครงการทำให้เธอสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้คนภายนอกเห็นได้ อีกทั้งยังได้เรียนรู้วิธีการหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เช่น แป้งกล้วยทำอย่างไร เอาไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งถ้าไม่มีโครงการเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้เหล่านี้ ก็คงทำแค่กล้วยฉาบขายต่อไป

ตอนทำงานในเมือง เราต้องไปอยู่กับคนอื่น เขาเป็นคนจ่ายค่าจ้างให้เรา เขาจะพูดจะว่าอะไร เราก็ต้องยอม มันทำให้ต้องเก็บกดและเสียสุขภาพจิตมาก สู้ไม่ได้กับการกลับมาอยู่บ้านแล้วทำงานกับเพื่อนๆ ที่เข้าขากันดีกว่า การได้กลับบ้านทุกวัน ได้เจอหน้าพ่อแม่ทุกวันทำให้มีพลังใจ ทำให้อยากพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองให้ดีกว่าที่เราเคยอยู่ เคยเจอ และเคยเห็นมา” วศิกา กล่าว

ซึ่งสอดคล้องกับที่นิติศักดิ์ย้ำตลอดโครงการว่า การสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ด้านการตลาดผ่านสื่อออนไลน์เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก ในโลกที่ผู้คนทั้งภายในและภายนอกชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้ผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

“ยุคนี้เป็นยุคที่โลกออนไลน์มีบทบาทสำคัญ ทั้งการเรียนรู้ การซื้อขาย การดูแลสุขภาพ การเพาะกล้าไม้ การผลิต และการเกษตรล้วนมีอยู่ในโลกออนไลน์ ถ้าเราจะเผยแพร่สินค้าจากกลุ่มหญ้าแพรกสาละวินไปยังผู้บริโภค แต่ไม่ใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์ ก็เท่ากับว่าเราตกเทรนด์ โอกาสเราก็จะน้อยลง” นิติศักดิ์เสริม

ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น ‘หญ้าแพรกสาละวิน’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีให้ดาวน์โหลดแล้วในระบบแอนดรอยด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตของโครงการที่ช่วยนำเสนอผลิตภัณฑ์และคุณค่าของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้ถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น โดยนอกจากแป้งกล้วยแล้ว ชุมชนยังมีน้ำผึ้งป่าสาละวิน สมุดทำมือย้อมสีด้วยธรรมชาติ และข้าวหอมนิลที่ใช้การตำวิถีดั้งเดิมเพื่อรักษาจมูกข้าวจัดจำหน่ายควบคู่อีกด้วย

“กว่าชาวบ้านจะเชื่อเราว่าอาชีพที่เราส่งเสริมให้ทำมันเป็นไปได้ เราก็ต้องทำให้เขาดูก่อน ให้เขาเห็นกับตา เพราะถ้าเราเอาแต่ไปพูดให้ชาวบ้านฟัง เขาจะไม่เข้าใจว่าเอากล้วย เอาบุกมาสร้างมูลค่าเพิ่มคืออะไร เพราะฉะนั้น เราเลยต้องชวนชาวบ้านมาลงมือด้วยกัน ซึ่งทำให้เขามีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวโครงการ และตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม” อำภา ธวัชวิฑูรย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะการประกอบการเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษา จ.แม่ฮ่องสอน

  • โทร: 0971187983
  • ผู้ประสานงาน: นายนิติศักดิ์ โตนิติ

เป้าประสงค์

แรงงานที่ขาดโอกาสในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลามาน้อย สามารถพัฒนาการประกอบการจากศักยภาพทุนเดิมที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อดูแลตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมได้ “ป่าดี น้ำดี มีอยู่ มีกิน มีรายได้ สุขภาพดี”

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส