Banner
วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร
สมุทรสาคร

วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาครเปิดโครงการฝึกกอาชีพควั่นมะพร้าวน้ำหอม ตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่กำลังขาดแคลน

มะพร้าว คือหนึ่งในผลไม้ที่มีประโยชน์ที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะทุกส่วนทั้งแต่ กะลา เนื้อมะพร้าว น้ำมะพร้าว กาบมะพร้าว หรือแม้กระทั้งดอกและราก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะนำไปบริโภคหรืออุปโภค ความสารพัดประโยชน์นี้เอง ทำให้มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่เคยเลือนหายไปจากความต้องการของตลาด

หนึ่งในแหล่งปลูกมะพร้าวที่ขึ้นชื่อว่าหอม อร่อย และมีคุณภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ อยู่ที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร สาเหตุที่ทำให้มะพร้าวของที่นี่ขึ้นชื่อคือ ‘ดิน’ ที่มีความพิเศษ กล่าวคือเป็นดินที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง ซึ่งเป็นธาตุที่เหมาะแก่การปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นอย่างมาก รวมถึงยังมีแร่ชาติชนิดอื่นๆ ที่มีประโยชน์ผสมผสานอยู่ด้วย ทำให้มะพร้าวของบ้านแพ้ว มีรสชาติหวาน หอม และดีต่อร่างกาย

หลายคนเมื่อพูดถึงมะพร้าวน้ำหอม ก็จะนึกถึงมะพร้าวสีขาว รูปร่างเหลี่ยม หรือที่เรียกกันว่า ‘ทรงเพชร’ ที่ดูสวยงาม แต่ก่อนที่มะพร้าวจะมีหน้าตาสะอาดสะอ้านเช่นนั้น มันจะต้องผ่านการตัดแต่งรูปร่างหน้าตาจาก ‘มือควั่น’ เสียก่อน โดยขั้นตอนการตัดแต่งเปลือกมะพร้าวนี้เองที่เรียกกันว่า ‘การควั่นมะพร้าว’ ซึ่งเทคนิคนี้จะต้องใช้ความชำนาญในการทำสูง เพื่อที่จะให้มะพร้าวออกมามีหน้าตาสวยงาม เป็นการเพิ่มมูลค่า รวมถึงความมีประสิทธิภาพยามที่ต้องขนส่งด้วย อาชีพนักควั่นมะพร้าวจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในวงจรการผลิตมะพร้าวน้ำหอม

เรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมีจำนวนนักควั่นมะพร้าวมืออาชีพที่ลดลง ทำให้ตลาดแรงงานเกิดความต้องการในอาชีพนี้สูงมาก วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาครจึงเกิดได้ผุดโครงการ ‘พัฒนาอาชีพการควั่นมะพร้าวน้ำหอม’ ขึ้นมาในอำเภอบ้านแพ้ว ที่หเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวน้ำหอมที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด

โครงการพัฒนาอาชีพการควั่นมะพร้าวน้ำหอมนี้ ไม่ใช่แค่โครงการฝึกฝนทักษะทั่วไป แต่เป็นโครงการที่เปิดรับกลุ่มคนด้อยโอกาสและแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงทักษะอาชีพ โดยวิทยาลัยชุมชนฯ ได้มีเป้าหมายในการรับสมัครถึง60 คน โดยทุกคนจะต้องเป็นผู้ว่างงานหรือแรงงานนอกระบบในพื้นที่

วิทยาลัยชุมชนได้ทำการลงไปสำรวจและรวบรวมข้อมูลในชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาหลักสูตรให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ โดยเวลาที่จะใช้ในการฝึกฝนอบรมตลอดหลักสูตรคือ 45 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการสอนตั้งแต่ระดับพื้นฐานเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับมะพร้าวน้ำหอมของบ้านแพ้วเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยฝึกสอนทักษะการควั่นมะพร้าว การจัดเก็บมะพร้าว ความปลอดภัยในการทำงาน และช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งจะสอดแทรกการใช้สื่อใหม่ๆ อย่าง Social media ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นยอดขาย

การผลิตแรงงานในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยให้เหล่าผู้ด้อยโอกาสได้เข้าถึงอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาแรงงานควั่นมะพร้าวที่ขาดแคลนให้กับชุมชนบ้านแพ้วอีกด้วย นับว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนทั้งระบบตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงผู้ประกอบการเลยทีเดียว

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพการฟั้นมะพร้าวน้ำหอม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร

  • โทร: 089-0056076
  • ผู้ประสานงาน: นายชานนท์ ประชุมชื่น

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน และรูปแบบการฟั้นมะพร้าวน้ำหอมเพื่อการจัดจำหน่าย
  2. สร้างโอกาสที่เสมอภาคของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการฝึกทักษะ ทางด้านอาชีพการฟั้นนมะพร้าวน้ำหอมตลอดจนส่งเสริมให้สามารถมีงานทำ
  3. เพื่อพัฒนาทักษะการฟั้นมะพร้าวน้ำหอมเพื่อการจัดจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ
  4. เพื่อพัฒนาเจตคติในการประกอบอาชีพเป็นผู้ฟั้นมะพร้าวน้ำหอม

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส