Banner
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์) วิทยาเขตลำปาง
ลำปาง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง ร่วมพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับคนในตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

กลุ่มฮักกรีน (Hug Green) เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในชุมชนบ้านนากว้าว ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ที่เกิดจากการรวมตัวกันของลูกหลานเกษตรกร ที่ได้ออกจากชุมชนเพื่อไปทำงานในเมืองใหญ่ และเริ่มทยอยกลับมาอยู่ที่ภูมิลำเนา ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ โดยต้องการกลับมาอยู่ในชุมชนของตัวเอง เพื่อทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม 

จากการลงพื้นที่ในชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง พบว่า ในชุมชนบ้านนากว้าว ยังมีกลุ่มคนที่ว่างงาน ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอ รวมไปถึงกลุ่มคนด้อยโอกาสอยู่ ซึ่งคนกลุ่มนี้มักถูกมองข้าม และเข้าไม่ถึงโอกาสในการทำงาน 

ด้วยเหตุนี้ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ร่วมกับทางกลุ่มฮักกรีน จึงเกิดแนวคิดในการประสานงาน ด้วยการนำความต้องการของชุมชนและของผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้วิถีชุมชน มาผสานรวมกัน ออกมาเป็นโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน กลุ่ม ‘ฮักกรีน’ ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งพัฒนาจากรูปแบบการท่องเที่ยวในอดีต ที่มีอาสาสมัครและผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมชุมชนกัน 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะทำงานเล็งเห็นว่า ชุมชนบ้านนากว้าวสามารถพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนได้นั้น สืบเนื่องมาจากทุนดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งมีทั้ง 

1.ทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ เพราะมีแม่น้ำจางที่ไหลลงมาจากเทือกเขาผีปันน้ำในเขตอำเภองาว และมีฝายกั้นน้ำที่มีภูมิทัศน์สวยงาม อุดมสมบูรณ์

2.ทุนด้านเกษตรอินทรีย์ เพราะมีกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผักปลอดสารพิษอยู่แล้ว 

3.ทุนด้านวัฒนธรรม เพราะเป็นชุมชนที่ยังคงขนบและความเชื่อดั้งเดิมของภาคเหนืออยู่

4.ทุนด้านความใกล้ชิดแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง เช่น วัดดอยพระฌาน หมู่บ้านแกะสลักบ้านหลุก และจุดชมวิวแม่น้ำจาง เป็นต้น 

โดยหากกลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน ที่มาจากในชุมชน สามารถบริหารการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการสนับสนุนและพัฒนาทักษะด้านนี้จากโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถสร้างประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้ชุมชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ประเพณี วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่ม โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกไปหางานนอกชุมชน

ทั้งนี้ คณะทำงานจะมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวในรูปแบบที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโชคดีที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานด้านเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว โดยนอกจากการงดใช้สารเคมีแล้ว คณะทำงานยังสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายใช้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เพื่อรักษาพันธุกรรมท้องถิ่นเอาไว้

นอกจากนี้ โครงการยังจะมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้สอดคล้องตามวิถีความปกติใหม่ที่ต้องลดขนาดของกลุ่มนักท่องเที่ยว เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวเชิงลึกมากขึ้น เพื่อเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านการร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกิ่ว เป็นต้น 

หากโครงการนี้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนบ้านนากว้าวจะกลายเป็นชุมชนท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาสัมผัสวิถีชุมชนได้อย่างลึกซึ้ง ผ่านการนำเที่ยวและพักผ่อนร่วมกับคนท้องถิ่นในรูปแบบของโฮมเสตย์ ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนในลักษณะเช่นนี้ จะช่วยให้คนในชุมชนรู้จักรักและหวงแหนวิถีและวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ อีกทั้งยังช่วยสร้างรายได้ และเพิ่มทางเลือกด้านการประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย 

 

คณะทำงานจะมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวในรูปแบบที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโชคดีที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานด้านเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว โดยนอกจากการงดใช้สารเคมีแล้ว คณะทำงานยังสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายใช้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เพื่อรักษาพันธุกรรมท้องถิ่นเอาไว้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน กลุ่ม ‘ฮักกรีน’ (Hug Green) ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์) วิทยาเขตลำปาง

  • โทร: 085-1970501
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวกรุณา ใจใส

เป้าประสงค์

สมาชิกชุมชน และกลุ่ม Hug Green มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบรับผิดชอบได้

  1. ชุมชนได้ทบทวนภูมิปัญญา ความรู้ดั้งเดิมของท้องถิ่น และถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังและผู้สนใจ
  2. สมาชิกชุมชนทุกกลุ่มทุกวัย มีส่วนร่วมในการออกแบบและจัดการท่องเที่ยวของชุมชน
  3. ชุมชนเห็นคุณค่าและรู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากรของชุมชน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส