Banner
โรงเรียนสะแกพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์
บุรีรัมย์

โรงเรียนสะแกพิทยาคมหนุนการเพาะเลี้ยงปูนาเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ สู้ภัยโควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบทางตรงต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนทางอ้อมต่อชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมครั้งใหญ่ นำไปสู่การว่างงาน การปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับทักษะ เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของธุรกิจ หรือเรียนรู้ที่จะสร้างทักษะใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ 

การสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ก็ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินชีวิตได้ แต่ต้องสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติในแต่ละท้องถิ่น เพื่อส่งผลให้เกิดวิถีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจนเกินไป และเป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ปัจจัยเหล่านี้คือสาเหตุให้ โรงเรียนสะแกพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ เห็นความสำคัญของวัตถุดิบในท้องได้แก่ปูนา และต้องการผลักดันให้ชุมชนหันมาให้ความสนใจในฐานะสัตว์เศรษฐกิจที่จะนำความมั่นคงทางอาหารเข้าสู่ชุมชน ภายใต้ ‘โครงการเพาะเลี้ยงปูนาเพื่อเพิ่มผลผลิตสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์’ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถสร้างรายได้จากการเพาะเลี้ยงปูนา และแปรรูปปูนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน

โดยโครงการฯ มุ่งเน้นไปที่คนในพื้นที่ตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 95 คน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเกษตรกรที่สนใจ โดยการเพาะเลี้ยงปูนาเพื่อเพิ่มผลผลิตสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ จะนำไปสู่การสร้างอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และขยายผลให้ปูนากลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน 

ทว่า เนื่องจากการเพาะเลี้ยงปูนาเชิงพาณิชย์ยังไม่แพร่หลายนัก โครงการนี้จึงจัดทำธนาคารปูนา ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบด้านการอนุรักษ์ เพาะพันธุ์ จำหน่าย แปรรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปูนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปูนานิ่ม ปูนาสด ปูนาดอง หรือน้ำพริกปูนา เป็นต้น จนเกิดเป็นศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น อาทิ โรงเรียนสะแกพิทยาคม เทศบาลตำบลสะแก และศูนย์เรียนรู้ชุมชนปราชญ์ชาวบ้าน ‘อศิราศรม มันตรา’ ในฐานะผู้สนับสนุนเชิงวิชาการและสถานที่

ทั้งนี้ การจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์จากปูนาเป็นที่ยอมรับของตลาดได้นั้น ต้องกระทำผ่านกระบวนการที่เป็นขั้นตอนสืบเนื่องกันไป เริ่มต้นจากการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์และสวยงาม จากนั้นจึงนำผลิตภัณฑ์ออกมาวางขายตามสถานที่จัดจำหน่ายต่าง ๆ เช่น การออกงานแสดงสินค้าท้องถิ่น และวางขายตามร้านค้าหรือสถานประกอบการในละแวกพื้นที่ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์

นอกจากนั้นแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการฯ อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเป้าหมายกับชุมชน เนื่องจากการเพาะเลี้ยงปูนาเป็นทักษะใหม่ที่หลายคนไม่คุ้นเคย จึงต้องอาศัยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากปราชญ์ชาวบ้านและนักวิชาการไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทำให้นอกจากจะช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการกระชับความเข้มแข็งของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อนึ่ง นอกจากเป้าหมายเชิงธุรกิจของโครงการแล้ว โครงการนี้ยังต้องการที่จะผลักดันให้การร่วมกลุ่มนั้น สามารถขยับขายไปสู่การสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้คนในชุมชน (นอกจากกลุ่มเป้าหมาย) หรือผู้ที่สนใจ สามารถใช้ประโยชน์ในฐานะแหล่งเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะเพื่อประกอบอาชีพต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การกินดีอยู่ดีของคนในชุมชน จากการที่มีความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน

 

การสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ก็ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินชีวิตได้ แต่ต้องสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติในแต่ละท้องถิ่น เพื่อส่งผลให้เกิดวิถีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจนเกินไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การเพาะเลี้ยงปูนาเพื่อเพิ่มผลผลิตสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

โรงเรียนสะแกพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์

  • โทร: 098-5951480
  • ผู้ประสานงาน: นายพิทยา พลอาษา

เป้าประสงค์

  1. กลุ่มเป้าหมายมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงและแปรรูปปูนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อบริโภคและจำหน่าย 
  2. กลุ่มเป้าหมายสามารถสร้างรายได้จากการเพาะเลี้ยงปูนาเพื่อจำหน่าย และการแปรรูปปูนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร
  3. เกิดศูนย์เรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงและแปรรูปปูนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการและประชาชนในชุมชนสามามารถใช้ประโยชน์เป็นแหล่งในการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะเพื่อประกอบอาชีพ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส