Banner
วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง เชียงใหม่
เชียงใหม่

หมู่บ้านเลาวูสร้างหยิบ 4 ต้นทุนชุมชนมาพัฒนาเป็นจุดแข็งใหม่ เพื่อให้ชุมชนสร้างรายได้ระหว่างรอผลผลิตจากต้นกาแฟ

หากพูดถึงเชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวที่เหล่าคนรุ่นใหม่นิยมชมชอบมากที่สุด คงหนีไม่พ้นคาเฟ่หรือร้านกาแฟที่มีอยู่มากมาย เนื่องจากเชียงใหม่เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟแห่งสำคัญของประเทศ ทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องกาแฟชั้นดี มีการเลือกสรรเมล็ดกาแฟอย่างพิถีพิถัน 

หนึ่งในพื้นที่ปลูกกาแฟที่กำลังสร้างชื่อเสียงในระยะหลังมานี้คือหมู่บ้านเลาวู ชนเผ่าลีซู ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของกลุ่มคนชาติพันธุ์ที่มีวิถีวัฒนธรรม ภาษา และความเป็นอยู่ที่ผูกผันกับผืนป่ามาแต่ช้านาน โดยไม่กี่ปีที่ผ่านมาพื้นที่นี้ได้หันมาปลูกเมล็ดกาแฟอย่างจริงจัง และเรียนรู้ศาสตร์เกี่ยวกับกาแฟที่หลากหลาย เพื่อเป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ตัวเองและครอบครัว

ที่ผ่านมาหมู่บ้านเลาวูได้รับการส่งเสริมจาก ‘โครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการโดยใช้ชุมชนเป็นฐานบ้านเลาวู’ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเเละยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยโดยการส่งเสริมพัฒนากาเเฟครบวงจรบ้านเลาวู ภายใต้การอบรมจาก วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง จังหวัดเชียงใหม่

จากการอบรมและฝึกปฏิบัติจริงด้านกาแฟอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการการเลือกเมล็ดพันธุ์กาแฟ วิธีการปลูก การชงกาแฟ รวมไปถึงการแปรรูป ถึงอย่างนั้น หากชาวบ้านเลาวูทำการผลิตกาแฟเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่การประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมโครงการเดิม ต้องการหาแนวทางอื่นๆ ในการสร้างรายได้เพิ่มเติมระหว่างทางที่รอผลผลิตจากปลูกเมล็ดกาแฟ 

จากความต้องการดังกล่าวประกอบกับความคาดหวังของหน่วยพัฒนาอาชีพ วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง เชียงใหม่ ที่อยากเห็นชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ชาวบ้านมีอาชีพที่ยั่งยืนในอนาคต ผ่านการใช้วิถีวัฒนธรรมและทรัพยากรของชุมชนเอง พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้จัดตั้ง ‘โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบตลาดใหม่บนฐานวิถีชนเผ่าลีซู’ ขึ้นมา เพื่อต่อยอดจากโครงเดิม พัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวของชุมชน บ้านเลาวู ส่งเสริมการตลาดรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับคุณค่าวิถีเผ่าลีซู และเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งหมด 80 คน แบ่งเป็น แรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ 

หลังจากที่โครงการได้เริ่มต้นขึ้น หน่วยพัฒนาอาชีพจึงได้ออกแบบพัฒนาหลักสูตรเพื่อจัดการอบรมได้สำเร็จ โดยมีเนื้อหามุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างทักษะ 4 อาชีพหลัก ได้แก่ การทำเกษตรปลอดภัย การท่องเที่ยววิถีชนเผ่าลีซู หัตถกรรมและการแปรรูปผลไม้เมืองหนาว ตลอดจนไปถึงการเรียนรู้ทักษะการใช้ช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์และการออกแบบตลาดรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมการตลาดรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับคุณค่าวิถีชีวิตของชนเผ่าลีซู ให้สามารถยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนวิถีท่องเที่ยว เพิ่มยอดขายทั้งภายในและนอกพื้นที่ชุมชน

นอกจากนี้โครงการยังได้วางแผนในการพากลุ่มเป้าหมายไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลก เปิดมุมมองในการประกอบอาชีพ และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านเลาวูได้ด้วยตัวเอง

สำหรับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระยะแรก ทางโครงการมีทิศทางการเติบโตอย่างรวดเร็วและเห็นชัดเป็นรูปธรรม กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมโครงการร้อยละ 80 เกิดแรงบันดาลใจ ความฝันและความหวังในการประกอบอาชีพที่ได้เรียนรู้ สามารถวางแผนและออกแบบอนาคตที่ตัวเองต้องการได้ อีกทั้งผู้เข้าร่วมโครงการยังสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพิ่มขึ้นถึง 8 ชนิด และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือมีการเกิดขึ้นของพื้นที่การแลกเปลี่ยนสินค้า ทั้งตลาดหน้าร้านในชุมชนเองและบนโลกออนไลน์ด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น หากโครงการดำเนินสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แผนของโครงการสามารถนำมาปฏิบัติการได้จริงในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเลาวูรูปแบบใหม่ จะส่งผลให้ชุมชนมีสุขภาพองค์รวมที่ดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพกายใจ พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นชุมชนสร้างงานสร้างอาชีพด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน

ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพิ่มขึ้นถึง 8 ชนิด และเกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนสินค้า ทั้งตลาดหน้าร้านในชุมชนเองและบนโลกออนไลน์ด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบตลาดใหม่บนฐานวิถีชนเผ่าลีซู

วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง เชียงใหม่

  • โทร: 0639844777
  • ผู้ประสานงาน: นายสราวุฒิ ภมรสุจริตกุล

เป้าประสงค์

1.ผู้เข้าร่วมโครงการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่ยั่งยืนในอนาคต สามารถพึ่งพาตัวเองได้
2.ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดอาชีพ 4 อาชีพหลัก เกษตรแบบปลอดภัย ท่องเที่ยววิถีชนเผ่าลีซู  หัตถกรรม และ แปรรูปผลไม้เมืองหนาว
3.ผู้เข้าร่วมโครงการมมีรูปแบบตลาดใหม่ ตลาดวิถีชนเผ่าลีซู 1แห่ง
4.ผู้เข้าร่วมโครงการมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นจากการทำตลาดออนไลน์
5.ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคีเครือข่าย เช่น อำเภอ เกษตรอำเภอ กศน. ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส