Banner
วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ จังหวัดเพชรบุรี
เพชรบุรี

เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ส่งเสริมอาชีพการแปรรูปกล้วยน้ำว้าเป็นแป้ง ให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ด้วยพลังงานทดแทนแบบครบวงจร ตามมาตรฐาน PGS

คนในชุมชนตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีผลผลิตจากกล้วยกว่า 3,000 ตันต่อปี จากพื้นที่ทั้งหมด 2,500 ไร่ นอกจากนั้นแล้ว พวกเขายังประกอบอาชีพเลี้ยงโคนม และทำเกษตรผสมผสาน ได้แก่ การปลูกมะนาว ทุเรียน ขนุน และยางพารา โดยเกษตรกรในชุมชนต่างร่วมใจกันนำมูลสัตว์และวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร มาผลิตเป็นแก๊สชีวภาพและพลังงานชีวมวล

ซึ่งการประยุกต์ใช้พลังงานดังกล่าว เอื้อต่อการสร้างประโยชน์ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้สาธารณูปโภคที่จำเป็น เช่น น้ำประปาและไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งภายหลังกลายเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้คนในชุมชน รวมตัวกันเป็นกลุ่มในชื่อ ‘เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ’ โดยมีเป้าหมายเพื่อพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และใช้พลังงานหมุนเวียนมากว่า 10 ปีแล้ว 

แต่เนื่องจากที่ผ่านมา เกษตรกรในชุมชนตำบลป่าเด็งที่ปลูกกล้วยประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อต้องเข้ามาดูแล ภายใต้ “โครงการส่งเสริมอาชีพการแปรรูปกล้วยน้ำว้าด้วยพลังงานทดแทนแบบครบวงจร ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี” เพื่อช่วยให้กลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน จากพื้นที่ในชุมชน ได้พัฒนาผลผลิตจากกล้วยให้เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป

ทั้งนี้ การพัฒนาผลผลิตดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามกรอบของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS (Participatory Guarantee Systems) ซึ่งมีที่มาจาก สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติกับหน่วยงานระหว่างประเทศและองค์กรท้องถิ่นอีกหลายแห่ง หลังจากมีความเห็นร่วมกันว่า ระบบการรับรองมาตรฐานของเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกไม่เหมาะกับเกษตรกรที่ผลิตเพื่อขายในท้องถิ่น เนื่องจากองค์กรอิสระมีระเบียบข้อกำหนดที่ค่อนข้างเข้มงวดเกินความจำเป็น 

อย่างไรก็ดี สำหรับการดำเนินงานของโครงการฯ นั้นมุ่งเน้นไปที่การที่กลุ่มเป้าหมายจะต้องได้การรับรองมาตรฐานจาก  PGS ด้วยเหตุนั้น ทางโครงการฯ จึงมุ่งเป้าไปที่การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ การแปรรูปกล้วยน้ำว้าเป็นผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ อาหาร และขนมหวานอีกทอดหนึ่ง ซึ่งทางโครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงพลังงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และร้านสมบัติผ้าใบ เป็นต้น 

ดังนั้น การดำเนินโครงการฯ จึงเริ่มต้นจากการเปลี่ยนผลผลิตกล้วยน้ำว้าดิบให้กลายเป็นแป้ง โดยข้อดีของการเปลี่ยนกล้วยดิบให้กลายเป็นแป้งนั้น จะช่วยลดปริมาณกล้วยที่เหลือทิ้งได้ เพราะหากปล่อยให้กล้วยที่เป็นผลขายไม่ได้เหมือนเดิม ผลผลิตก็จะสุกงอมจนเน่าเสียไปในที่สุด

 เบื้องต้น ทางโครงการฯ ได้ใช้โรงอบพาราโบล่าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ทว่าการอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ระยะเวลาในการอบถึง 3 วัน ซึ่งนานเกินไป ประกอบกับขนาดโรงอบที่ไม่ใหญ่มาก ทำให้อบกล้วยได้ครั้งละ 4 หวีเท่านั้น 

คณะทำงานจึงได้พัฒนาโรงอบใหม่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้ โรงอบดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง อย่างไรก็ดี สำหรับสำหรับแป้งกล้วยที่ได้จากการอบสามารถนำไปแปรรูปเป็นขนมได้หลายชนิด เช่น เค้กกล้วยหอม เค้กหน้านิ่ม และทองม้วน ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้เป็นอาหารว่างสำหรับต้อนรับคณะที่มาศึกษาดูงาน 

สุดท้ายนี้ หากการแปรรูปกล้วยน้ำว้าด้วยโรงอบพาราโบล่าของกลุ่มเป้าหมายสำเร็จ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกขั้นตอน ก็จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS อย่างแท้จริง

 

หากการแปรรูปกล้วยน้ำว้าด้วยโรงอบพาราโบล่าของกลุ่มเป้าหมายสำเร็จ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกขั้นตอน ก็จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS อย่างแท้จริง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การส่งเสริมอาชีพการแปรรูปกล้วยน้ำว้าด้วยพลังงานทดแทนแบบครบวงจร ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ จังหวัดเพชรบุรี

  • โทร: 085-2719262
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวจุฑารัตน์ ดอนไผ่ศรี

เป้าประสงค์

  1. กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ความเข้าใจระบบการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน PGS โดยการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามเงื่อนไขโครงการอย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ โรงอบพาราโบล่าในการอบกล้วยให้แห้ง ระบบโซลาร์เซลล์ พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการปั่นแป้งและซีลบรรจุภัณฑ์ และการกำจัดขยะจากเปลือกกล้วยด้วยระบบแก๊สชีวภาพแบบบอลลูนขนาด 20 ลบ.ม. มาใช้ในการอบ
  2. กลุ่มเป้าหมายมีทักษะการบริหารจัดการในการประกอบอาชีพ และสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายกล้วยสด มาเป็นการแปรรูป โดยมีผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 2 อย่าง 
  3. กลุ่มเป้าหมายสามารถจำหน่ายกล้วยเพื่อนำมาเป็นแป้งเดือนละ 100 กิโลกรัม และมีรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส