Banner
มูลนิธิวัชระดวงแก้ว
กรุงเทพมหานคร

“กินอาหารให้เป็นยา ไม่ใช่กินยาให้เป็นอาหาร” แนวคิดง่ายๆ จากมูลนิธิวัชระดวงแก้ว ที่ทำให้คนในชุมชนวังทองและดงละครหันมาสนใจสมุนไพรใกล้ตัว

สมุนไพร พืชที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมานับร้อยปี ก่อเกิดภูมิปัญญาที่นำสมุนไพรต่างๆ เหล่านี้มาใช้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การนำมาประกอบอาหาร การใช้เป็นยารักษาโรค การนำมาทานเพื่อบำรุงร่างกาย และเนื่องด้วยต้นทุนของบ้านเราที่มีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศและความอุดมสมบูรณ์ ทำให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชสมุนไพร แต่เมื่อเวลาผ่านไปภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เคยสืบมาตั้งแต่รุ่นคนเฒ่าคนแก่ก็ค่อยๆ เลือนหาย เพราะความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เข้ามา หลายคนจึงเลือกใช้ในสิ่งที่สะดวกและรวดเร็วกว่า

แต่ด้วยวิถีชีวิตของคนไทยในบางพื้นที่ยังคงผูกพันกับการปลูกสมุนไพร เช่น ที่หมู่บ้านวังทอง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย และหมู่บ้านดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นิยมปลูกพืชสมุนไพรไว้ตามรั้วบ้านเพื่อใช้สำหรับในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็น ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด เป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าพืชพรรณสมุนไพรเหล่านี้จะสามารถสร้างรายได้และอาชีพให้กับพวกเขาอย่างไรได้บ้าง

มูลนิธิวัชระดวงแก้ว ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ เผยแพร่วัฒนธรรมและขนมธรรมเนียมที่ดีงาม ตลอดจนดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม สนใจในเรื่องการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์นี้ จึงได้ก่อตั้ง โครงการการพัฒนาทักษะอาชีพการแปรรูปจากสมุนไพรพื้นบ้านใกล้ตัวเพื่อเพิ่มรายได้ของกลุ่มญาติธรรม หมู่บ้านวังทอง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย และหมู่บ้านดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โดยมุ่งหวังให้ชาวชุมชนตระหนักและเห็นถึงประโยชน์ในสิ่งรอบตัวที่มีอยู่มาพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดอาชีพและนำรายได้กลับสู่ชุมชน

โครงการได้เฟ้นหากลุ่มเป้าหมาย และได้สมาชิกมาเข้าร่วมทั้งสิ้น 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุ จากพื้นที่สองอำเภอดังกล่าว ก่อนโครงการฯ จะเข้ามารื้อฟื้นภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสมุนไพรโดยนำผู้เชี่ยวชาญ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้ติดตัว มาช่วยฝึกสอนและให้ความรู้ โดยเริ่มต้นจากเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับพืชสมุนไพรใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็น ขมิ้น ไพร ตะไคร้ มะกรูด เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและคนใกล้ชิด จากนั้นก็เป็นในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต ลูกประคบ ยาดม ยาหม่อง น้ำสมุนไพร หรืออาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อออกจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป

“โครงการของเราอยากสนับสนุนเรื่องการดูแลสุขภาพที่เริ่มต้นจากตัวเอง โดยการกินอาหารให้เป็นยา ไม่ใช่กินยาให้เป็นอาหาร เพราะสมุนไพรคือพืชที่เราสามารถหากินได้ง่าย ราคาไม่แพง เราจึงเริ่มฟื้นฟูการใช้สมุนไพรในท้องถิ่นและนำมาดูแลคนในชุมชนด้วยกันเอง ก่อนที่จะเพิ่มพูนความรู้และส่งสมุนไพรเหล่านี้ออกสู่สังคมต่อไป” คำกล่าวจากหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ

เมื่อโครงการดำเนินไปจนเสร็จสิ้น ผลลัพธ์ที่คาดว่าชาวชุมชนทั้งสองที่จะได้รับคือ พวกเขาทุกคนจะมีอาชีพที่เกิดจากการภูมิปัญญาสมุนไพรในรั้วบ้าน มีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิต สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขึ้นใหม่เองได้ จากองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้มา มีฝีมือที่ได้มาตรฐาน มีสุขภาพจิตสุขภาพกายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จริงทั้งหมู่บ้านวังทองและหมู่บ้านดงละครก็จะสามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบหรือศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชนข้างเคียงมาศึกษาดูงาน ก่อให้เกิดการพัฒนาที่อย่างยั่งยืนได้ในอนาคตอันใกล้

โครงการของเราอยากสนับสนุนเรื่องการดูแลสุขภาพที่เริ่มต้นจากตัวเอง โดยการกินอาหารให้เป็นยา ไม่ใช่กินยาให้เป็นอาหาร

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพการแปรรูปจากสมุนไพรพื้นบ้านใกล้ตัวเพื่อเพิ่มรายได้กับกลุ่มญาติธรรม หมู่บ้านดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก และหมู่บ้านวังทอง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย

มูลนิธิวัชระดวงแก้ว

  • โทร: ข้อมูลโครงการ ปี 2563 ข้อมูลโครงการ ปี 2563 .XLSX 100% 16 089-980-8284 เปิดการสนับสนุนโปรแกรมอ่านหน้าจอแล้ว 089-980-8284 เปิดการรองรับโปรแกรมอ่านหน้าจอ
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวจินตนา ชุณหชัชวาลกุล

เป้าประสงค์

กลุ่มเป้าหมายเห็นคุณค่าของพืชสมุนไพร รู้จักช่วยตนเองในการนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในครอบครัว สร้างความสามัคคีปรองดองในชุมชน และสามารถสืบทอดองค์ความรู้ อนุรักษ์เป็นภูมิปัญญาสืบทอดเป็นมรดกต่อลูกหลาน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส